โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ทำไม 'เป๊ปซี่ แมน' จึงเป็นสุดยอดเกมของคนยุค 90's ทั้งที่ฮาร์ดเซลล์ 'ทุกวินาที'

Main Stand

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • ชยันธร ใจมูล

ปี 1994 ค่าย SONY ปล่อยเครื่องเล่น PlayStation 1 ออกวางจำหน่าย และการเป็นการเปลี่ยนมิติโลกแห่งเกมไปโดยปริยาย ด้วยภาพที่สวยและละเอียดที่สุดเท่าที่ยุคนั้นจะทำได้ จนทำให้ค่ายเกมสามารถผลิตเกมออกมาเพื่อโชว์ศักยภาพกันได้อย่างเต็มที่ … เรียกได้ว่าถ้าจั่วหัวเปิดตัวเกมเพลย์ 1 ให้ปังๆ ได้สักเกม ก็จะได้รับเครดิตครั้งสำคัญที่จะทำเงินได้ยาวๆเลยทีเดียว 

 

อย่างไรก็ตามในขณะที่แต่ละค่ายพยายามสร้างลายเซ็นให้ตัวเอง กลับมีเกมหนึ่งที่ตั้งใจเอามาขายของอย่างเต็มรูปแบบ เพราะไม่ว่าจะวิ่งจะเดินไปทางไหนก็จะเห็นป้ายโฆษณาสินค้าเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่คาแร็คเตอร์และชื่อของตัวละครหลักของเกมเลยทีเดียว

เชิญพบกับ Pepsi Man เกมที่ดูก็รู้ว่าสร้างมาเพื่อขายของ แต่กลับดังระเบิดเถิดเทิง … ทั้งๆ ที่ปกติแล้วยิ่งสื่อว่าตั้งใจจะขายของมากเท่าไหร่ผู้บริโภคมักจะเบือนหน้าหนี 

ไขความลับของ Pepsi Man พร้อมกันที่นี่ 

 

ต้นกำเนิด Pepsi Man 

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2000 นั้น ไปถามใครที่ไหนในโลกว่ารู้จัก เป๊ปซี่ แมน ไหม? รับรองได้ว่าไม่มีใครตอบว่ารู้แน่ แต่ถ้าถามว่ารู้จัก มิรินด้า แมน ไหม? คำตอบจะกลับกันเลยทีเดียว เพราะในการเปิดตัวโฆษณาน้ำอัดลมมิรินด้า ตัวละคร มิรินด้า แมน ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและกลายเป็นภาพจำให้กับเหล่าผู้บริโภคไปโดยปริยาย

Photo : www.online-station.net

จุดสำคัญคือ มิรินด้า คือผลิตภัณฑ์ในเครือเดียวกับ เป๊ปซี่ ทว่าบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกากลับเลือกสร้าง มิรินด้า แมน มาก่อนเพื่อฉายในโฆษณา แต่ก็เพราะด้วยเหตุใดไม่ทราบ พวกเขามองข้ามการสร้างตัวละครสำหรับเครื่องดื่ม เป๊ปซี่ ขึ้นมา บางทีอาจจะเพราะว่ายอดขายน้ำดำนั้นยอดเยี่ยมอยู่แล้ว และอยากจะดันสินค้าใหม่อย่าง มิรินด้า ให้ติดตลาดก็เป็นได้ 

แต่บริษัท PepsiCo ในญี่ปุ่นไม่ได้คิดแบบนั้น พวกเขาเห็น มิรินด้า แมน และคิดได้ว่าควรจะมี เป๊ปซี่ แมน บ้าง จึงตั้งใจสร้างตัวละครนี้ขึ้นมาในรูปแบบของภาพยนตร์โฆษณาแบบ 12 ตอน ไว้ออกฉายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งเมื่อโฆษณาได้ออนแอร์ออกไปก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก  เพราะในโฆษณานั้น เป๊ปซี่ แมน จะได้รับบทออกแนวฮีโร่จอมเปิ่น เก่งกาจแต่ก็มีความตลกในตัว มีท่าวิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ และแน่นอนว่าหน้าที่ของเขาก็เหมือนกับฮีโร่คนอื่นๆ นั่นคือต้องช่วยเหลือคน เพียงแต่ว่าโจทย์ของ เป๊ปซี่ แมน นั้นง่ายกว่าเยอะ นั่นคือการมอบความสดชื่นให้คนผู้คนที่กระหายความซาบซ่าเท่านั้นเอง 

เมื่อ เป๊ปซี่ แมน มีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มลูกเด็กเล็กแดง แถมยังเป็นสามารถตีตลาดมาสค็อตแบรนด์ได้อย่างเฉียบขาด เพราะในยุค 90's ไม่ว่าสินค้าใดในญี่ปุ่นก็ต้องหามาสค็อตเป็นจุดขายเพื่อสร้างภาพจำให้ได้ อาทิ Crazy Cravings ของ Honeycomb Cereal, Eggomen ของ Eggo Egg Waffle, Bubsy the Cat และ Accsade ของ Accolade   

และแน่นอนว่าญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น เมื่อพวกเขามีตัวละครที่ติดตลาดแล้ว พวกเขาจึงตั้งใจต่อยอด เป๊ปซี่ แมนออกไปอีกระดับ  ในเมื่อไหนๆ ก็ตีตลาดเด็กๆ และวัยรุ่นอยู่แล้ว PepsiCo แห่งประเทศญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจจะสร้างเกม "เป๊ปซี่ แมน" ขึ้นมา

 

ทุนต่ำแต่จำติดตา

อย่างไรก็ตาม ทุนในการสร้างเกมนั้นต่ำเหลือแสน PepsiCo ญี่ปุ่นตัดสินใจจ้างค่ายเกมเล็กๆ ที่ถนัดเรื่องการผลิตเกมรถแข่งอย่าง KID มาเป็นผู้สาน เป๊ปซี่ แมน จากจอแก้วสู่เกมคอนโซล 

Photo : digitalcracknetwork.com

ด้วยทุนที่มีไม่มากนัก เป๊ปซี่ แมน ไม่สามารถจ้างดาราดังมาเล่นเป็นตัวเอก (รับบท เป๊ปซี่ แมน) ได้ จนต้องใช้การปั้นโมเดล 3D มาจาก โคทาโร่ อุจิโคชิ ที่เดิมทีมีหน้าที่เป็นทีมเขียนบทอีกต่างหาก นอกจากนี้พวกเขาต้องจ้างเอาดาราในเกรดรองลงมา มารับแสดงในส่วนของ"คัทซีน" โดยพวกเขาได้นักแสดงโนเนมที่ชื่อว่า ไมค์ บัตเตอร์ส มารับบทชายอเมริกันที่ได้รับ เป๊ปซี่ จากการส่งเป๊ปซี่ของ เป๊ปซี่ แมน ก่อนจะยกดื่มอย่างชื่นใจ … (ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ไมค์ บัตเตอร์ส ก็ได้รับบทบาทสำคัญในเรื่อง Saw ภาพยนตร์แฟรนไชส์แนวระทึกขวัญดังอีกด้วย) 

รูปแบบเกมไม่ได้มีอะไรที่เข้าใจยากเลยแม้แต่น้อย เพราะเกมนี้มันเหมือนกับเกมวิ่งเป็นเส้นตรงไปข้างหน้าอย่างเดียวเท่านั้น ภารกิจคือหลบสิ่งกีดขวางต่างๆ นานา ที่ผู้คิดเกมสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอุปสรรค เป้าหมายคือการเก็บกระป๋องเป๊ปซี่ระหว่างทาง และเอาไปส่งให้ ไมค์ บัตเตอร์ส ดื่มเท่านั้นเป็นอันจบ แต่หากจะถามว่าความสนุกมันอยู่ตรงไหน ก็คงต้องบอกว่าเป็นอุปสรรคที่สุดแสนครีเอท ไม่ว่าจะเป็นการโดนถังขยะครอบหัว ซึ่งจะทำให้การบังคับตัวละครเปลี่ยนไป นั่นคือหากกดไปทางขวาตัวละครจะหลบไปทางซ้าย และเมื่อกดไปทางซ้ายตัวละครก็จะไปอีกฝั่งแทน อีกทั้งยังมีการวิ่งชนรถขนเป๊ปซี่ วิ่งทะลุป้าย โดนกระป๋องเป๊ปซี่ยักษ์วิ่งไล่ทับ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เล่นสามารถเพลิดเพลินจนลืมไปเลยว่าโดนฮาร์ดเซลล์ใส่แบบเต็มพิกัด 

Photo : cafebazaar.ir

สำหรับคอเกมไทยนั้นเชื่อว่าหลายคนคงผ่านเกมนี้กันมาทั้งสิ้น เพราะเป็นเกมที่สนุก เล่นง่าย และมีมุกตลกแฝงอยู่ตลอด ทว่าในความเป็นจริงนั้นกลุ่มผู้สร้างบอกว่าเกม เป๊ปซี่ แมน นั้นขายไม่ดีในญี่ปุ่น อีกทั้งยังทำเรื่องไปขายในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ดังนั้นยอดขายจึงออกมาไม่สวยนักจากคำบอกเล่าของผู้สร้าง

อย่างไรก็ตามหากเราลองคิดคำนึงถึงเหตุผลก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่ญี่ปุ่น และ อเมริกา นั้นการซื้อเกมแผ่นผี (ที่ราคาไม่ถึง 100 บาท) นั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก จากกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ที่แรงมาก และค่านิยมในการซื้อของถูกลิขสิทธิ์ จึงทำให้ถึงแม้ว่า เป๊ปซี่ แมน จะเป็นเกมที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับเกมบริษัทใหญ่ๆ อื่นๆ แต่ด้วยตัวด่านที่มีแค่ 4 ด่าน และเป้าหมายเกมไม่มีอะไรซับซ้อนและตอบโจทย์ได้แค่ความสนุกหรือแก้เบื่อชั่วคราว อาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่มเกมเมอร์ต่างชาติจึงรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับการซื้อแผ่นแท้ที่ราคาสูงเท่าไรนัก ต่างกับที่ประเทศไทยที่ต้องยอมรับว่าตามร้านเกมต่างๆ ในยุคนั้น ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ตรงที่ได้เจอต่างเป็นเกมแผ่นก็อป ดังนั้นคนไทยจึงเล่นเกม เป๊ปซี่ แมน (รวมถึงเกมอื่นๆ ที่ดังในไทยแต่ไม่ดังในต่างประเทศ) ได้อย่างสะดวกใจ และไม่ได้คิดอะไรมากก็เป็นได้ 

Photo : XTG | againgamer.com

ดังนั้น เป๊ปซี่ แมน จึงเป็นเกมที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้บริโภคชาวไทยมากที่สุด และทำให้ในยุคหนึ่งการเข้าร้านเกมนอกจะเต็มไปด้วยหน้าจอสีเขียวจากเกมวินนิ่งของตู้อื่นๆ เราก็ยังได้เห็นเกม เป๊ปซี่ แมน แทรกมาอยู่เสมอ จนเป็นภาพจำได้อย่างชัดเจนนั่นเอง 

 

ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน

ในแง่ของรายได้จากเกมอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่มันก็อาจจะมีเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงผลิตเกมนี้ให้เป็นเกมที่เรียบง่ายและใช้ทุนต่ำ แทนที่สร้างเกมมาทั้งทีก็น่าจะจัดเต็มไปเลยจะได้เป็นเกมโลกจารึกแบบ ไฟนอล แฟนตาซี, ไบโอฮาซาร์ด (เรสซิเดนท์ อีวิล) หรือ วินนิ่ง อีเลฟเว่น กับ ฟีฟ่า  

Photo : www.emuparadise.me

หากลองคิดดูดีๆ จุดประสงค์ของผู้สร้างอาจจะไม่ได้ต้องการยอดขายถล่มทลายเป็นหลักอยู่แล้ว นั่นก็เพราะว่าในเกมนี้ได้สอดแทรกหลายสิ่งหลายอย่างเข้าไปจนเหมือนเป็นการสะกดจิต และรู้ตัวอีกคนที่เล่นเกมนี้ หรือแม้แต่คนที่ดูก็อาจจะกระหายเป๊ปซี่ขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือคุณจะได้เห็นโลโก้ของ เป๊ปซี่ แทบจะทุกวินาทีของเกมหรือทุกๆ ก้าวที่ตัวละคร เป๊ปซี่ แมน ขยับ และนั่นคือการป้ายยาให้กับผู้บริโภคซึ่งจะส่งผลต่อไปให้เครื่องดื่มเป๊ปซี่ ขายดีขึ้นจากเกม เป๊ปซี่ แมน นั่นเอง

"นึกถึงเกม เป๊ปซี่ แมน ขึ้นมา ไม่สามารถนึกอะไรออกได้อีกเลย เพราะมันมีโลโก้เป๊ปซี่ออกมาในทุกวินาที มากกว่าที่เกมโฆษณาของสินค้าอื่นๆ เคยทำมาทั้งหมด คุณจะได้เห็นฮีโร่ วิ่งไปตามที่ต่างๆ ที่มีแต่ป้ายเป๊ปซี่ แถมยังต้องไล่เก็บกระป๋องเป๊ปซี่เพื่อทำภารกิจ นอกจากนี้้ยังมีกระป๋องเป๊ปซี่ยักษ์ไล่ทับคุณ ครั้นคุณจะหนีคุณก็ยังวิ่งไปชนรถขนเป๊ปซี่ …" 

"เกมนี้อาจจะดูไม่ได้เรื่องและห่วยแตกมากในยุคปัจจุบัน แต่โดยทั่วไปแล้วมันเหมือนเกมตั้งต้นของเกมฮิตอย่าง Temple Run เลยทีเดียว มันไม่ได้แย่ ถ้าหากคุณมองข้ามเรื่องการอัดโฆษณาเป๊ปซี่และเป็นคนที่มีปฎิกิริยาในการบังคับรวดเร็วพอ" คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ Complex.com ให้ทรรศนะไว้

Photo : cafebazaar.ir

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องชื่นชมผู้ผลิตเกมนี้คือ "มันเป็นเรื่องที่โคตรยาก" ที่จะทำให้มีใครมาเล่นเกมๆ นี้ทั้งๆ ที่รู้ว่านี่คือเกมโฆษณาสินค้า ดังนั้นการจะทำให้คนจำได้และไม่เอียนกับการฮาร์ดเซลล์จนเกินไป นั่นจำเป็นจะต้อง ไท-อิน ให้เก่งและแนบเนียนจนผู้เล่นไม่ตะขิดตะขวงใจ ซึ่งข้อนี้ เป๊ปซี่ แมน เข้าวินไปเต็มๆ ด้วยการสอดแทรกความตลกและอุปสรรคเข้ามาแทน 

ขณะที่ปัจจัยอีกอย่างก็คือการใช้ "อินฟลูเอนเซอร์" ที่ ไท-อิน เก่ง ซึ่งในเกมนี้ก็คือตัว เป๊ปซี่ แมน เองที่มีพื้นฐานจากความเป็นฮีโร่ตลกโปกฮาตั้งแต่ตอนที่เป็นโฆษณาในโทรทัศน์อยู่แล้ว รูปแบบในโฆษณากับในเกมก็เหมือนกัน นั่นคือการวิ่งๆๆๆๆ เข้าไป ซึ่งนั่นทำให้เป็นภารกิจที่ดูสมจริง ไม่ใช่การยัดเยียดขึ้นมาเพียงเพื่อว่าจะขายของเท่านั้น 

นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ เป๊ปซี่ แมน เป็นเกมโฆษณาในตำนาน ไม่ว่าจะไทอินหนักขนาดไหน จะฮาร์ดเซลล์กันแบบโต้งๆ แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในการเล่นเกมนี้ก็ยังจดจำฮีโร่ที่ถูกถังขยะครอบหัว แต่ก็ยังฝืนวิ่งไปส่งเป๊ปซี่ดับกระหายให้กับผู้เดือดร้อนได้จนวันนี้ …

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.complex.com/pop-culture/2013/06/10-company-branded-video-games-that-didnt-suck/americas-army
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%8A%E0%B8%9B%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99_(%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1)
https://www.ign.com/articles/1999/03/10/pepsiman-playstations-strangest-moment
https://www.gamespot.com/articles/hands-on-pepsiman/1100-2451630/
https://www.thumbsup.in.th/hard-sale-for-marketing
https://www.cbr.com/weird-corporate-mascot-pepsiman/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0