โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทำไม? วิกฤติงบ มี.ค. เสี่ยง 'ชัตดาวน์'

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 05.30 น.

ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ล่าช้า หลังเกิดกรณี ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรแทนกันโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่า เรื่องนี้หารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยตลอดแต่ก็ต้องดูว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แล้วจะแก้ไขอย่างไร

ในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าจะถามตนวันนี้ คือจะแก้ไขอย่างไร ตนก็ต้องไปดูและหารือกับกระทรวงการคลัง และคุยกับสำนักงบประมาณ ว่าจะทำอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องหารือกันอีกครั้งว่าเราจะแก้ไขในส่วนของการบริหารราชการอย่างไร

  • นายกฯกังวล ศก.สะดุด

ในส่วนของงบบุคลากร คงไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งมีจำนวนหลายแสนล้านบาท ถ้าทำไม่ได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเราไม่ดีขึ้นมากนัก ก็ต้องหามาตรการอื่นเข้ามาเสริมเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีเงินลงไป มันก็เดือดร้อนกันทั้งหมด แต่ตนก็เคารพในกติกาในกฎหมายทุกฉบับ เรื่องนี้ก็ขอให้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณา

ยอมรับว่าเรื่องนี้หากล่าช้าออกไปงบประมาณฯ ก็มีปัญหา สมมติว่าการใช้จ่ายงบประมาณฯ ล่าช้าไปอีก 3 เดือน แล้วมันจะใช้ทันหรือเปล่าสำหรับเวลาที่เหลือ ก็จะเข้าไปไตรมาสสองอยู่แล้ว ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่า เรื่องดังกล่าวอาจมีทางออกโดยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่สมควร หลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้วสำหรับเวลานี้

ส่วนการออกแผนสำรองมารับมือในเรื่องนี้หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประชุมในเรื่องของงบประมาณฯ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป ถ้าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รอง

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ.​เป็นโมฆะนั้น ขณะนี้สามารถใช้งบของปี 62 ไปได้ก่อนเฉพาะส่วนของรายจ่ายประจำ ส่วนงบในโครงการใหม่ ไม่สามารถทำได้

  • ห่วงช่วงเบิกงบเหลือแค่ 4 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายง่ายงบประมาณประจำปี 2563 อาจล่าช้าออกไปว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะสามารถใช้ได้เมื่อไหร่ โดยต้องดูผลกระทบทางด้านกฎหมายที่จะเกิดขึ้นแต่ปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้ามาแล้วกว่า 4 เดือน จากที่เริ่มต้นเดือนแรกในเดือน ต.ค.2562 จนถึงเดือน ม.ค.2563

นอกจากนี้กว่าจะออกแบบโครงการและลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ ก็ใช้เวลาอีก 2-3 เดือน หรือประมาณเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเหลือเพียง 6 เดือน เท่านั้นเนื่องจากในเดือน ก.ย.นี้และเมื่อมีเหตุที่อาจทำให้เกิดการล่าช้าไปอีกก็จะเหลือเวลาในการเบิกจ่ายงบประมาณอีก 4 เดือนเท่านั้น โดยเฉพาะในงบลงทุนจะมีความล่าช้ามาก

"อาจจะเหลือเพียง 4 เดือนเท่านั้น ที่สามารถใช้งบประมาณได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งไม่น่าเกิดเหตุการณ์ขึ้น

แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหันหน้าช่วยกันแก้ปัญหา เพราะขณะนี้เวียดนาน มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย

มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาภาย ในประเทศให้ดีที่สุด อย่าทะเลาะกัน"

นายสมคิด ตอบคำถามประเด็นการออก พ.ร.ก.เพื่อให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณมาใช้ล่วงหน้าว่า หากเรื่องนี้ถูกส่งไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรออก พรก.และไม่ควรพูดอะไรก่อนล่วงหน้า

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณกำลังรอความชัดเจน กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาวาระ 2 และ 3 รวมถึงผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยแผนงานเดิมคาดว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค.หรืออย่างช้าต้นเดือน ก.พ.นี้ซึ่งล่าช้ากว่าปีงบ ประมาณปกตินานถึง 4 เดือน นับจากเดือน ต.ค.2562แต่ก็ยังพอรับได้ เพราะยังมีเวลาใช้จ่ายเงินประมาณ 8-9 เดือน จนถึงปีงบประมาณ 2563 ในเดือน ก.ย.นี้

  • เบิกจ่ายได้แค่เดือน มี.ค.นี้

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงบประมาณกำลังช่วยรัฐบาลหาทางออกเพื่อให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด หรือทำอย่างไรในช่วงที่งบประมาณใหม่ ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ส่วนราชการยังมีเงินเบิกจ่ายได้ตามปกติ ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ระบุว่ากรณีที่งบประ มาณใหม่ ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาให้นำงบประมาณกึ่งหนึ่ง หรือครึ่งหนึ่ง ของปีก่อนใช้ไปพลางก่อน

ขณะนี้ งบประมาณปี 2563 ล่าช้าไปแล้ว 4 เดือน โดยมียอดเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณปี 2563 ทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเงินงบประมาณที่ยังเหลือใช้ได้โดยไม่เกินครึ่งหนึ่งนั้น ยังมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะเบิกจ่ายได้ถึงเดือน มี.ค.2563 เท่านั้น

"ตอนนี้ กำลังตรวจสอบผลการเบิกจ่ายงบประจำของหน่วยงานทั้งหมดว่า มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน

และหากงบประมาณยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเบิกใช้ได้อีกเท่าไหร่

ซึ่งคาดว่ายังเหลืออยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท และน่าจะใช้ได้ถึงเดือน มี.ค.เท่านั้น"

ดังนั้น หากยังไม่มีความชัดเจนกรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญช่วงนี้ ขอยืนยันว่า เงินเดือน ค่าจ้างและค่าวัสดุและคุรุภัณฑ์ยังเบิกจ่ายต่อไปได้ แต่หากเลยสิ้นเดือน มี.ค.ไปแล้ว จะไม่มีหน่วยงานไหนเบิกเงินได้ เพราะเบิกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณ

  • ชงเพิ่มเบิกจ่ายไปพลางป้องชัตดาวน์

ทั้งนี้สำนักงบประมาณจะขอให้รัฐบาลขยายวงเงินจากไม่เกินครึ่งหนึ่งโดยอยู่ในอำนาจของนายกฯที่จะขยายวงเงินได้ไม่เกิน 75% เพื่อขยายวงเงินให้เบิกจ่ายต่อได้อีก 2 เดือนหรือจนถึงเดือน พ.ค.นี้เพื่อป้องกันรัฐบาลชัตดาวน์ ซึ่งสำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาและเสนอ ครม.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ สำนักงบประมาณมีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ประกอบด้วย 1.กำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยในภาพรวมของประเทศเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2 เบิกจ่ายเงินได้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำประมาณ 776,740 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุนประมาณ 223,260 ล้านบาท

2.เร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูก พันได้โดยเร็ว โดยงบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้หน่วยรับงบ ประมาณเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาค สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีที่เป็นราย จ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวน การจัดซื้อจัดจ้าง

3.ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือน ก.ย.2563 โดยเฉพาะรายการปีเดียว สำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.2563 โดยดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0