โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไม ร.4 ทรงประกาศไม่ให้เขียนคำว่า “สฤทธิ” แต่ให้เขียน “สิทธิ” แทน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 07 ธ.ค. 2563 เวลา 07.15 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2563 เวลา 17.31 น.

ในปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศกฎว่า ไม่ให้เขียนคําว่า “สฤทธิ” แต่ให้เขียน “สิทธิ” แทน

เรื่องเกิดจากเช้าวันหนึ่ง ขณะที่รัชกาลที่ 4 ยังเสด็จอยู่ข้างใน ทรงถามว่า มีพระราชาคณะองค์ใดมาเตรียมรับบิณฑบาตในพระราชวัง พระปลัดอ่วมวัดราชบูรณะเขียนชื่อพระราชาคณะเข้าไปถวาย เมื่อถึงชื่อพระญาณสิทธินั้น เขียนว่า “พระญาณสฤทธิ” รัชกาลที่ 4 จึงให้เขียนใหม่ เหตุว่าคำนั้น “ไม่เข้าพระทัยให้เขียนใหม่” หลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังกร (สะกดตามแบบเดิม) กลับเขียนเข้าไปว่า “พระญาณสิด” พระองค์จึง “รับสังว่าดี ถึงจะผิดสับท์ก็อ่านเข้าใจง่ายกว่าที่พระปลัดอ่วมเขียน”

หลังจากนั้นรัชกาลที่ 4 ทรงเล่าความหลังให้บรรดาเจ้านายฟัง ต่อมากรมหมื่นสมมติอมรพันธุ์เป็นผู้นิพนธ์ลงวชิรญาณ (ว่าด้วยใช้คำสิทธิ ใน วชิรญาณ น. 1688-95) ความว่า ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อตั้งพระนามองค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี เจ้าเมืองกัมพูชา หม่อมไกรสรให้เขียนว่าสฤทธิในสร้อยชื่อ รัชกาลที่ 3 ทรงไม่เห็นด้วยว่าไม่ถูก “หม่อมไกรสรเถียงว่าใช้ได้ถูกดี อย่างเก่ามีอยู่” รัชกาลที่ 3 ไม่ทรงเชื่อ จึงให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตมาถามรัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ “ว่าจะใช้แผลงสิทธิสับที่เป็นสฤทธิจะได้ถามิได้” รัชกาลที่ 4 ทรงตอบว่า โบราณไม่เคยใช้มา จึงไม่ควรใช้

รัชกาลที่ 3 จึงรับสั่งกับกรมหมื่นไกรสรวิชิตว่า “หม่อมไกรสรคายโง่ออกมาใหญ่โตทีเดียว” การอันนี้ก็อื้ออึ้งมานานแล้ว แต่นี้อย่าให้ผู้ใดเอา “รังควานหม่อมไกรสร มาเขียนอีกเลย

หม่อมไกรสรในเรื่องขัดแย้งนี้คือกรมหลวงรักษ์รณเรศ ต้นสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ประสูติเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว รัชกาลที่ 2 ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นรักษ์รณเรศ โปรดให้กํากับกรมสังฆการี

ครั้นรัชกาลที่ 3 ได้ทรงกํากับกรมวังและเลื่อนเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศ ทรงไม่พอใจรัชกาลที่ 3 ที่ไม่แต่งตั้งพระองค์ให้เป็นตำแหน่งอุปราชที่ว่างลง มีพฤติการณ์หลายอย่างที่ส่อว่าต้องการอำนาจการเมืองไว้ในมือ อันเป็นธรรมเนียมของชนชั้นนำที่อยู่ใกล้อำนาจ รวมทั้งเป็นปฏิปักษ์กับรัชกาลที่ 4 อย่างแรง ในปัญหาการสืบทอดอำนาจรัฐต่อจากรัชกาลที่ 3 ด้วย ในที่สุดก็ถูกประหารชีวิตในข้อหาก่อการกบฏซ่องสุมผู้คน และมีเพศสัมพันธ์กับบ่าวไพร่ที่เป็นชาย เป็นเจ้านายองค์สุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์

หลังเหตุการณ์เรื่องเขียนชื่อพระญาณสิทธิผิดผ่านไปแล้ว อยู่มาวันหนึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงถามว่า ข้าราชการข้างหน้ามีใครอยู่บ้าง พระธรรมการบดีศรีวิสุทธิสาศนวโรปการ จึงจดหมายชื่อข้าราชการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อถึงชื่อหลวงสิทธินายเวร มหาดเล็กนั้น เขียนว่า หลวงสฤทธิ จึงทรงพระราชดำริว่า เกิดเรื่องมา 2 ครั้งแล้ว เหตุไรจึงมีผู้เขียนดังนี้ไม่หยุดลง ทั้งพระสงฆ์แลคฤหัสถ์ชาววัดชาวบ้าน พระญาณสิทธิ หลวงสิทธิ ว่า พระญาณสฤทธิ และหลวงสฤทธิ จะผิดถูกประการใด

ในเวลานั้นรัชกาลที่ 4 จึงได้มีพระบรมราชโองการรับสั่งถามพระเมธาธิบดี เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ และหลวงธรรมเสนา ปลัดกรมธรรมการ ซึ่งมาเข้าเฝ้าในเวลา จะเขียนคำนี้อย่างไรจะควร พระเมธาฯ กราบทูลพระกรุณาว่า เขียนสฤทธินั้นถูก หลวงธรรมเสนากราบทูลฯ ว่าใช้ไม่ได้

ปรากฏว่า ปัญหาการเขียนคําว่าสิทธิหรือสฤทธิขยายออกไปเป็นปัญหาระดับอาณาจักร รัชกาลที่ 4 จึงได้มีพระราชปุจฉา ให้ถามกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสและพระราชาคณะอีก 12 ท่าน ได้แก่ กรมหมื่นบวรรังสี สมเด็จพระอริยวงษาคตะญาณ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระพิมลธรรม พระธรรมไตรยโลกย์ พระพรหมมุนี พระธรรมกิติ์ พระอริยะมุนี พระศรีวิสุทธิวงษ์ พระอมรโมลี และพระอมราภิรักขิต พิจารณาว่า “สิทธิสับท์ในบาลีนั้น เมื่อมาเขียนในหนังสือไทย ในชื่อแลคำต่างๆ ที่ใช้เป็นสันสกฤตแผลงนั้นจะเขียนอย่างไรจะถูกจะควร”

ผลการพิจารณาก็น่าสนใจยิ่ง เพราะว่าความเห็นแตกออกไปเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกมีกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสและพระราชาคณะอีก 7 รูป เป็นเสียงข้างมาก เห็นว่า สิทธิสับท์นั้นให้แผลงเขียนว่าสฤทธินั้นถูก ส่วนพระราชาคณะอีก 5 รูป ซึ่งกลายเป็นเสียงข้างน้อยเห็นว่าไม่ถูก ให้เขียนสิทธิจึงถูก

รัชกาลที่ 4 จึงให้ประชุมอาลักษณ์ “แลผู้ซึ่งมีสติปัญญาได้เคยได้ดูได้อ่านไทยมามากแต่ก่อน ให้ค้นคำว่าสิทธินั้น คนบุราณจะเขียนไว้อย่างไรที่ไหนบ้าง” บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นประกอบไปด้วย พระศรีภูริปรีชา เสนาบดีศรีสารลักษณ์ ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิโวหาร ขุนสุวรรณอักษร นายชำนาญอักษร หมื่นสุนทรวาที พระยาภักดีภูบาล จางวางมหาดเล็กในพระราชวัง คนเหล่านั้นได้ช่วยกันค้นคว้าหาคำสิทธิในหลักฐานเก่าทั้งหลาย โดยดูจากตำแหน่งและชื่อของพระราชาคณะแล

น่าสังเกตว่าบรรดาหลักฐานเอกสารเก่าที่บรรดาอาลักษณ์พากันค้นคว้านั้นประกอบไปด้วย

1. ตําแหน่งและชื่อพระราชาคณะครั้งกรุงเก่า 2. ตำแหน่งศักดินาทหารพลเรือน 3. พระราชกำหนดบทพระไอยการ 4. พระราชพิธีขอฝน 5. มหาวงษ์ 6. ตำราพิไชยสงคราม 7. พระราชพงศาวดาร 8. พระตำราช้างเส้นทอง 9. กระบวนแผนที่แห่เสด็จพระราชดำเนิรพยุหยาตราทรงช้างขึ้นพระพุทธบาท 10. จดหมายเหตุนิมิตรนกปืนคาบศิลาลั่น

ทั้งหมดนั้นคือตำราและเอกสาร 10 เล่ม ที่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิสมัยโน้นใช้ในการสืบหาคำว่า สิทธิ ผลปรากฏว่าหนังสือบุราณเหล่านั้นเขียนสิทธิทุกแห่ง ไม่มีสฤทธิเลย ยกเว้นแห่งเดียวในคำโคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์แต่งไว้ ในหนังสือพิไชยสงคราม ความว่า

รวิศรีสฤทธิด้วย   อาภรณ์
แดงพิจิตรลงกร   ก่องแก้ว
ทรงแสงธนูศร   ลีลาศ
เสด็จสู่สงครามแผ้ว   เผ่าพ้องไพรี

รัชกาลที่ 4 จึงมีพระราชโองการว่า ท่านทั้งสองคือกรมหมื่นศรีสุเรนทร์แลหม่อมไกรสรไม่เป็นมงคล ไม่ชอบกลในแผ่นดิน ไม่ควรที่คนทั้งปวงจะทำตาม!

มูลเหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงไม่พอพระทัยในหม่อมไกรสรนั้น มีความเป็นมาก่อนรัชกาลนี้แล้ว ดังนั้นปัญหาการเขียนสะกดคำว่าสิทธิจึงไม่ใช่ปัญหาของภาษาอย่างเดียว หากแต่ลึกลงไปในทัศนะของรัชกาลที่ 4 คือปัญหาการจงรักภักดีและกตัญญูรู้คุณพระมหากษัตริย์

โดยทรงเห็นว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มา พวกเจ้านายบางกลุ่มไม่มีความกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์สำคัญว่าเป็นของตัว แยกย้ายกันไปต่างๆ เมื่อรัชกาลที่ 2 สวรรคต กรมหมื่นรักษ์รณเรศก็กีดกันกลั่นแกล้งรัชกาลที่ 4 ไม่ต้องการให้รับตำแหน่ง จนเมื่อทรงผนวชแล้ว ก็ยังตามหาเรื่องมาตลอด ไม่ว่าในการสอบบาลี มีเรื่องเล่าว่าเมื่อรัชกาลที่ 4 มาบิณฑบาตที่วังกรมหลวงรักษ์รณเรศ ทรงแกล้งด้วยการตักบาตรด้วยข้าวต้มร้อนๆ เป็นต้น

ที่น่าสนใจในเรื่องคำสิทธินี้อีกข้อก็คือ รัชกาลที่ 4 ทรงอ้างอิงถึงรัชกาลที่ 3 ว่า “อนึ่งพระบาทสมด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาธิราช แม้นจะมีพระราชอัธยาไศรยต่างไปไม่ต้องกันในเหตุอื่นๆ เป็นอันมากก็ดี แต่ในความเรื่องสิทธิว่าสฤทธิใช้ไม่ได้นี้ถูกต้องกับเป็นอันเดียว แสดงว่าทั้งสองพระองค์ไม่ค่อยเห็นอะไรตรงกันนัก ยกเว้นในเรื่องวิธีการเขียนคำว่าสิทธินี้

ในที่สุด รัชกาลที่ 4 ก็ทรงพระราชดำริในเรื่องนี้ว่า จะยอมตามพระราชาคณะผู้ใหญ่และราชบัณฑิต ซึ่งเป็น “นักปราชญ์ฉลาดในการวัด” ซึ่งเป็นพวกมากว่า พวกที่ว่าสฤทธิไม่ควรใช้หาควรไม่ เพราะจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินทั้งสามไป

อนึ่งในพระราชกำหนดบทพระอัยการ ซึ่งเป็นหลักเป็นประธานตลอดมาในแผ่นดินทั้ง 3 แลพระราชนิพนธ์ พระราชกฤษฎีกาที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก็เขียว่า “สิทธิ” ทั้งนั้น การจะแก้ให้เขียนเป็นสฤทธิ ก็ต้องแก้เปลี่ยนแปลงในพระราชกำหนดบทพระอัยการ พระราชนิพนธ์ พระราชกฤษฎีกาทั้งปวง แลจะต้องหัดให้คนอ่านตามคำนั้นว่าสฤทธิ ให้ถูกกับคำที่เขียนก็จะเป็นความลำบากยากนักหนา

แต่ที่สําคัญคือพระราชดำริทางการเมืองของรัชกาลที่ 4 ในความขัดแย้งกับหม่อมไกรสร ซึ่งจะนำมาสู่การตัดสินใจในเรื่องการใช้คำสิทธิ ความดังต่อไปนี้

“อนึ่งธรรมดาปุถุชนทั้งปวงย่อมมีกิเลศเป็นเหตุเป็นบาป แลโวทานธรรมเป็นเหตุกุศลปะปนกันอยู่นั้น คนหนึ่งๆ ซึ่งจะทำจะพูดจะคิดสิ่งไรๆ จะผิดไปทั้งสิ้นไม่มี ความดีความชอบบ้างเลยก็หามิได้ ฤาจะมีแต่ความดีความชอบทั้งสิ้นไม่ผิดเลยดังพระอรหันต์นั้นก็ไม่มี

แต่หม่อมไกรสรเมื่อมีวาสนาใหญ่โตอยู่นั้น ได้พูดเจรจาว่า ยืนยันว่าสิ่งไรที่ได้ทรงประฏิบัติจัดแจงให้เป็นไป เมื่อครั้งยังทรงพระผนวชอยู่ แลได้ทูลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงบ้างนั้นผิดหมดไม่มีชอบเลยสักสิ่งหนึ่ง จนถึงว่าสิ่งที่มิได้ทรงจัดแจงเลย หม่อมไกรสรก็ใส่ความเอาเปล่าๆ ก็มีเป็นหลายประการ แลหม่อมไกรสรคิดอ่านพูดเจรจาว่ามั่นหมายไว้ว่า

ถ้าได้มีวาสนาใหญ่โตขึ้นไปจนสิทธิขาดในแผ่นดินแล้ว จะทำลายล้างเสียทั้งสิ้นไม่ให้เหลืออยู่ได้สักสิ่งหนึ่งเลย จนถึงพระคัมภีร์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้สร้างตามฉบับที่โปรดให้ทรงชำระถวายนั้น ก็ว่าจะเผาเสียให้สิ้น การนั้นก็หาสำเร็จดังความคิดไม่ มาครั้งนี้ด้วยอำนาจเหตุอย่างไรเล่า จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระเดชานุภาพสิทธิขาดในแผ่นดิน สิ่งไรๆ ซึ่งหม่อมไกรสรได้แจงไว้ ก็หาได้ทรงทำลายล้างเสียไม่ แต่คำซึ่งหม่อมไกรสรว่าสฤทธิถูกนั้น โดยธรรมจะผิดก็ตามจะถูกก็ตาม จะขอทำลายล้างเสียสิ่งหนึ่งแล้ว

จึ่งมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่าแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งเป็นข้าทูลละอองฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวงแลคนอื่นๆ บันดาเป็นคฤหัสถ์ ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักร เขียนสฤทธินั้นเลยในหนังสือชาวบ้าน ทั้งนี้ยกเว้นให้ฝ่ายพระพุทธจักร ซึ่งบังคับไม่ได้

เป็นอันว่านับแต่นั้นมา คำว่า สิทธิ ก็มีการเขียนเพียงอย่างเดียวเป็นแบบแผนอันเดียวมาถึงปัจจุบัน

“สิทธิ” ของไทยจึงมีความหมายอันนัยเป็นรากฐานสำคัญมายาวนานกว่า คือ “อำนาจ” นั่นเอง

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0