โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไม "ระยอง" เป็นเมืองสำคัญ-ศูนย์กลางตั้งทัพกู้ชาติของพระเจ้าตาก ในแถบตะวันออก

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 23 เม.ย. เวลา 03.16 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. เวลา 00.33 น.
cover-taksin
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตาก จ.จันทบุรี

ทำไม “เมืองระยอง” เป็นเมืองสำคัญ ในฐานะเมืองศูนย์กลางการตั้งทัพกู้ชาติในภูมิภาคตะวันออกของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

…การสำรวจศึกษาทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา พบว่าบริเวณพื้นที่ “เมืองระยอง” มีลักษณะแตกต่างไปจากบรรดาเมืองทั้งหลายทางฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะชลบุรีและจันทบุรีที่เป็นเมืองตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะเว้าเป็นอ่าว และมักมีทางน้ำออกทะเลกว้างตอนปากน้ำในลักษณะที่เป็นลากูนหรือใกล้กับปากแม่น้ำหรือลำน้ำไปออกทะเล โดยอาศัยเวิ้งอ่าวเป็นที่หลบลมและคลื่น

เมื่อผ่านฟากแม่น้ำลำน้ำเข้ามาในลากูนก็เป็นแหล่งจอดเรือใหญ่น้อยที่มีทั้งเรือประมงเรือสินค้า รวมทั้งการตั้งชุมชนเมืองอยู่ภายในลากูนนั้นๆ การเกิดชุมชนบ้านและเมืองจึงอยู่ภายในลากูนและตามชายฝั่งทะเลของอ่าว พื้นที่เป็นบ้านเป็นเมืองเกือบส่วนใหญ่จึงอยู่เฉพาะบริเวณใกล้ฝั่งทะเลและห่างทะเลเข้าไปในดินแดนภายในแทบไม่เกิน 3-4 กิโลเมตรจากชายฝั่ง

บริเวณเช่นนี้มักเป็นบ้านเมืองที่ไม่มีพื้นที่ภายในที่เป็นฐานทางเกษตรกรรมปลูกข้าวและพืชผักเพื่อการกินอยู่ของคนเมือง สภาพเช่นนี้เห็นได้ทั้งชลบุรีและจันทบุรี ชลบุรีอยู่ใกล้ปากอ่าวบางปะกงพื้นที่เป็นทะเลตม ไม่มีชายหาดมีแต่ตลิ่งสูงและเมืองไม่ว่าศรีพะโลและบางปลาสร้อย ล้วนตั้งอยู่บนเนินสูงที่มีเขาสามมุขอยู่ด้านหลัง มีสภาพเป็นเมืองท่าค้าขายและการประมง

ในขณะที่จันทบุรีตั้งอยู่บริเวณที่ปากแม่น้ำออกทะเลเป็นลากูนขนาดใหญ่ ซึ่งมีดอนและที่ลุ่มเสมอน้ำสลับกันไป รวมทั้งภูเขาโดดและทิวเขาอยู่เบื้องหลัง ไม่มีพื้นที่ราบลุ่มภายในเพื่อการเพาะปลูก ต่างกันกับ เมืองระยอง ที่มีพื้นที่ทั้งชายทะเลที่เป็นปากน้ำและพื้นที่ภายในเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อการเพาะปลูกที่ทำให้ความเป็นเมืองของระยองกินเลยจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลเข้ามาร่วม 10 กิโลเมตร

พื้นที่ภายในของเมืองระยองที่เรียกได้ว่าเป็นลุ่มน้ำนั้น กินพื้นที่ทางเหนือซึ่งลาดลงจากทิวเขาบรรทัดมายังหนองละหารและหนองบัว อันเป็นต้นน้ำของคลองใหญ่ที่มีลำน้ำใหญ่น้อยไหลลงสู่ที่ราบลุ่มที่เป็นหนองและบึง ทำให้ลักษณะพื้นของอำเภอบ้านค่ายที่อยู่ตอนบนและพื้นที่ใกล้ทะเลของอำเภอเมืองระยองมีลักษณะเป็นแอ่งที่มีที่สูงจากอำเภอเมืองไปอำเภอบ้านฉางทางตะวันตก และเนินเขาและทิวเขาอยู่ทางตะวันออกที่กั้นเขตอำเภอเมืองระยองออกจากพื้นที่สูงของอำเภอแกลง

ความเป็นบ้านเมืองภายในของระยองอยู่ที่ อำเภอบ้านค่าย บริเวณที่ลำน้ำหลายสายมารวมเป็นคลองใหญ่ มีชุมชนที่ทำการเพาะปลูกทั้งทำสวนและทำนาเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ไปโดยที่ทางน้ำผ่านถึงแทบทุกแห่ง

ชุมชนที่เก่าที่สุดเห็นจะได้แก่ชุมชนบ้านเก่าที่มีวัดโบราณอันประกอบด้วย พระสถูปเจดีย์ โบสถ์ และหอไตรกลางสระน้ำ ที่มีอายุแต่สมัยอยุธยาตอนปลายลงมา คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 ลงมา วัดโบราณที่มีรูปแบบทางศิลปสถาปัตยกรรมแบบวัดบ้านเก่านี้กระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของอำเภอบ้านค่ายมาจนติดพื้นที่อำเภอเมือง ได้แก่ วัดบ้านเก่า วัดนาตาขวัญ วัดแลง วัดตะพงใน วัดทับมา เป็นต้น

การเกิดและการกระจายอยู่ของชุมชนที่มีวัดเก่าเป็นศูนย์กลางชุมชนเหล่านี้ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีมาก่อนสมัยที่เจ้าตากจะเดินทัพผ่านเข้ามาและใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งด้วยเป็นฐานทัพ ดังมีร่องรอยให้เห็นที่วัดบ้านค่าย ซึ่ง ณ บริเวณนี้ก็มีศาลเจ้าแม่หลักเมืองตั้งอยู่ ให้เป็นสถานที่สำคัญควบคู่ไปกับค่ายของเจ้าตาก

ความเชื่อในเรื่องของศาลเจ้าแม่หลักเมืองนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนในท้องถิ่นแต่เดิมว่าเคยเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองเป็นสตรี ซึ่งประเพณีความเชื่อเก่านี้พบในกลุ่มของคนชอง อันเป็นคนพื้นเมืองในเขตป่าเขาของจังหวัดจันทบุรีที่เชื่อในเรื่องนางกาไว ที่เป็นกษัตริย์เมืองพะเนียดที่เชิงเขาสระบาปที่เป็นเมืองโบราณมาแต่สมัยทวารวดี

เท่าที่ทราบก็มีเชื้อสายของคนซองในเขตเมืองระยองกระจายไปตามเนินเขาบรรทัดข้ามไปถึงพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำท่ากระดานในเขตตำบลเกาะขนุน อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ

เพราะฉะนั้นอาจอนุมานได้ว่า เมืองระยอง มีความเป็นบ้านเมืองอยู่ 2 บริเวณ ตอนล่างตรงปากน้ำระยองเป็นเมืองท่าค้าขายและการประมง ในขณะที่ตอนบนเป็นเมืองทางเกษตร มีไร่นาที่สวนที่อุดมสมบูรณ์ที่ผลิตอาหารเลี้ยงผู้คน และการเดินทัพเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นค่ายเป็นฐานทัพของเจ้าตาก

ที่บ้านค่ายนี้น่าจะเป็นตำแหน่งในทางยุทธศาสตร์ที่เจ้าตากเปลี่ยนความตั้งใจจากการพาผู้คนหนีตายมาอยู่ทางชายทะเลอันห่างไกลภัยจากพม่า มาเป็นปักหลักสู้และรุกกลับเพื่อกู้พระนครศรีอยุธยา

บ้านค่ายคือพื้นที่ทางเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ เลี้ยงคนและทหารได้ดีกว่าการไปตั้งหลักแหล่งในที่อื่น เช่น ชลบุรีและจันทบุรี และจากทิศทางประวัติศาสตร์หลังจากเจ้าตากปักหลักมั่นคงที่บ้านค่ายแล้ว จึงขยายกองกำลังตั้งค่ายเข้าครอบครองเมืองระยองทางปากแม่น้ำ อันเป็นเมืองที่มีผู้คนมากและมีเจ้าเมืองปกครองที่ก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าตาก

เพื่อความเป็นเอกภาพในการปกครองและการสร้าง “เมืองระยอง” ให้เป็นเมืองสำคัญในการทำศึก เจ้าตากคงได้ทำพิธีกรรมปราบดาภิเษกตนเองเป็นเจ้าที่มีอำนาจเหนือบรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายในภูมิภาคนี้ ที่มีอำนาจจากการยอมรับโดยสมบูรณาฉันทามติของผู้นำบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันออกที่จะยอมให้เจ้าตากรวบรวมกำลังพลสร้างฐานทัพและกองทัพเพื่อกู้พระนครศรีอยุธยาในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน

เจ้าตากใช้เวลาปราบปรามกลุ่มคนที่แข็งข้อและขัดขืนตามบ้านเมืองต่างๆ ให้เข้ามาสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้อำนาจ ทำให้อาณาเขตของเมืองระยองกินไปถึงเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา แต่ยังติดอยู่ที่เมืองจันทบุรีอันเป็นหัวเมืองใหญ่ที่อยู่ชายขอบราชอาณาจักรที่อำนาจการปกครองจากศูนย์กลางควบคุมเข้าไปไม่ถึง ในทำนองเดียวกันกับเมืองสงขลาและพัทลุงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่ต้องส่งกองทัพออกไปปราบปรามสู้รบเป็นแรมปีจึงจะตีได้สำเร็จ

จันทบุรีเป็นเมืองท่าชายทะเลที่ใหญ่โตและแข็งแรง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเมืองต่างจากเมืองระยองและชลบุรี ตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบในทางภูมิประเทศ และมีป้อมปราการค่อนข้างแข็งแรง ผู้คนพลเมืองมีความหลากหลายทั้งจีน ญวน ไทย คนพื้นเมือง และบรรดาพ่อค้าวาณิชหลายชาติหลายภาษา

โดยเฉพาะเจ้าเมืองก็เป็นคนจีนที่เป็นพ่อค้าแบบเดียวกันกับเมืองบันทายมาศหรือโจฎก ตรงปากแม่น้ำโขงในเวียดนามที่อยู่อย่างเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นการที่เจ้าตากจะชักชวนให้เข้ามาร่วมมือในการกู้พระนครศรีอยุธยาจึงไม่ใช่เป็นของง่าย แต่การจะปล่อยให้เป็นไปตามแบบเดิมก็เป็นไปไม่ได้กับการรวมผู้คนทางเจ้าตาก เพราะอยู่ในฐานะของเมืองใหญ่และตำแหน่งของขุนนางในระดับเสมอกันหรือสูงกว่าตามตำแหน่งของเมือง

เข้าใจว่า ค่ายพักที่ทุ่งสนามชัย คือแหล่งประชุมพลที่สำคัญก่อนที่จะเคลื่อนทัพผ่านเขาเตี้ยริมทะเลลงสู่ที่ราบลุ่มแถบอำเภอท่าใหม่ ข้ามเนินเขาลงสู่บริเวณย่านชุมชนชาวจีนเดิม บริเวณเขาพลอยแหวนและวัดพลับบางกะจะ นอกเมืองจันทบุรี แต่แยกเข้าคลองแกลบไปหัวเมืองจันทบุรีที่ตั้งอยู่บนเนิน แล้วตั้งนำทัพปิดล้อมเมืองที่นับว่าตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิที่ดี โดยทางพระยาจันทบุรีใช้เมืองเป็นที่มั่นที่ทางกองทัพเจ้าตากทำอะไรไม่ได้ และขณะเดียวกันก็โต้กลับด้วยการระดมยิงจากเชิงเทินและกำแพงเมือง ทำความเสียหายให้กับกองทัพเจ้าตาก ทำให้ในที่สุดก็ต้องทุ่มกำลังครั้งสุดท้ายเพื่อบุกเข้าเมืองให้ได้

การเข้าตีเมืองจันทบุรีครั้งสุดท้ายนี้ เจ้าตากอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวในการคิดกอบกู้เอกราชเพราะถ้าหากไม่สำเร็จก็จะล้มเหลวทั้งหมดโดยสิ้นเชิง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สมเด็จพระวีรมหาราชเจ้าตากสินและความสำคัญของเมืองระยองในฐานะศูนย์กลางการตั้งทัพกู้ชาติในภูมิภาคตะวันออก” เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาที่เผยแพร่แบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 14 กรกฎาคม 2563

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทำไม “ระยอง” เป็นเมืองสำคัญ-ศูนย์กลางตั้งทัพกู้ชาติของพระเจ้าตาก ในแถบตะวันออก

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0