โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทำไม "บิ๊กซี" อยากซื้อ "เทสโก้" จิ๊กซอว์ "เจ้าสัวเจริญ" กุมค้าปลีก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 10.45 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 06.05 น.
13-2p1
หลังจากมีกระแสข่าวว่าเจ้าสัวเมืองไทยหลายเจ้า แสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทีซีซี ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งทีซีซี กรุ๊ป เจ้าของเบียร์ช้าง บีเจซี บิ๊กซี ฯลฯ กลุ่ม ซี.พี. ของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การนำของ “ทศ จิราธิวัฒน์” โดยมูลค่าของกิจการอาจสูงถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท

ล่าสุดก็มีการออกมายอมรับอย่างเป็นทางการจากฝั่ง “บีเจซี” แล้วว่า มีความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส ในเมืองไทยจริง

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทางกลุ่มบริษัทได้แสดงเจตจำนงความสนใจ (ยื่นซองประมูล) กิจการของเทสโก้ โลตัส ในเมืองไทย ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

“เราได้ทำการศึกษาธุรกิจของเทสโก้มาสักระยะหนึ่งแล้ว ต้องบอกว่าธุรกิจของเรามีความคล้ายกัน และมีหลายโอกาสที่เทสโก้ กับบิ๊กซีสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ เช่น จำนวนสาขาในแต่ละจังหวัดของเรากับเขาก็ไม่เหมือนกัน บางจังหวัดเทสโก้มี แต่เราไม่มี หรือบางจังหวัดเขาแข็งแรงกว่า รวมถึงตัวฟอร์แมตของสโตร์เองก็ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว”

แม้ว่าจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับดีลนี้มากไม่ได้ เพราะเงื่อนไขของสัญญา และกฎหมาย แต่ความสนใจดังกล่าวก็สะท้อนถึงศักยภาพในการลงทุน และการแข่งขันของบีเจซี ที่เปิดกว้างรับการลงทุนในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อเติมเต็มอาณาจักรค้าปลีกในเครือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แต่การจะปิดดีลดังกล่าวได้สำเร็จหรือไม่นั้น ยังมีอีก 3 ปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ “ราคา” ซึ่งจะเข้ามากำหนดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น “การแข่งขัน” กับผู้ประมูลรายอื่น ๆ และที่สำคัญ คือ เรื่องของ “กฎหมาย”

เพราะเงื่อนไขของ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้การควบรวมของกลุ่มค้าปลีก ต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก่อนซื้อขายกิจการ และต้องแจ้งรายละเอียดโครงสร้างการตลาดก่อนควบรวม และหลังควบรวมว่า จะมีผลทำให้ตลาดเกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ และการควบรวมนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของบีเจซีและบิ๊กซี ต่างมีซีนาริโอที่แพลนเอาไว้แล้ว โดยทิศทางในปีนี้ของบิ๊กซี ไม่ว่าจะซื้อกิจการของเทสโก้ได้หรือไม่ ก็ยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายสาขาที่วางแผนเอาไว้ว่า จะเปิดสโตร์ไซซ์เล็ก หรือมินิบิ๊กซีอีก 300-400 แห่ง และสโตร์ไซซ์ใหญ่รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตอีก 3 แห่ง ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

จากสาขาทั้งหมดในเครือ (ณ วันที่ 15 มกราคม 2563) มีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้น 1,231 สาขา เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 150 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 63 สาขา และมินิ บิ๊กซี 1,018 สาขา

“ปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การขยายสาขาและการทำกิจกรรมการตลาดเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นในปีนี้แล้ว มองว่าจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายที่กำลังจะผ่านสภากระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาค ทำให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น

แม้ว่าขณะนี้จะเห็นสัญญาณของการระมัดระวังการใช้เงินของผู้บริโภคก็ตาม แต่ก็ยังมีการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น โจทย์ของบริษัทก็คือการสร้างความเชื่อมั่นว่าการมาช็อปที่บิ๊กซี ผู้บริโภคจะได้สินค้าที่มีคุณภาพในราคาคุ้มค่ากลับไป ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ ที่จะดึงผู้บริโภคให้เข้ามาจับจ่าย ณ สาขา โดยปีนี้เพิ่มจำนวนกิจกรรมจากปีที่ผ่านมาถึง 30%

ล่าสุดจัดแคมเปญรับเทศกาลตรุษจีน “บิ๊กซี บิ๊กเฮง ปีหนูทอง มั่งคั่ง ร่ำรวย” มีการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษกว่า 1,000 รายการ และโปรโมชั่นไฮไลต์อย่างการแจก 88 ล้านคะแนน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของสมาชิก รวมถึงการทำโปรโมชั่นเฉพาะบุคคล (personalize) มากขึ้นด้วย แต่ยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ เพื่อหาจุดที่สามารถตอบสนองกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็น active member อยู่ถึง 8.8 ล้านคน เติบโตจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 7.6 ล้านคน

ส่วนในด้านของแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่บริษัทให้ความสนใจ ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “C ซาเล้ง” เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายบรรจุภัณฑ์ที่จะนำไปรีไซเคิล เพื่อลดต้นทุนการจัดการโดยรวมลง และทำให้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เร็วขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตขององค์กรในปัจจุบัน และแรงกระเพื่อมจากการขายกิจการของเทสโก้ ยังคงน่าติดตามอย่างใกล้ชิด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0