โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไม‘จักรพรรดิญี่ปุ่น’จึงงดเสด็จฯ‘ศาลเจ้ายาสุกุนิ’ ที่พวกนักชาตินิยมอย่าง‘นายกฯอาเบะ’เคารพสักการะ

Manager Online

เผยแพร่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 16.14 น. • MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Japan’s ongoing battle over war commemorations

By Jake Adelstein

15/08/2019

ศาลเจ้ายาสุกุนิ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก สืบเนื่องจากการโต้เถียงขัดแย้งกันระหว่างพวกนักชาตินิยมของญี่ปุ่น เฉกเช่นนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งนิยมไปเคารพสักการะ โดยเฉพาะในวาระรำลึกผู้วายชนม์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วถูกเกาหลีและจีนประณามว่าคือการยกย่องมุ่งสืบทอดแนวคิดมุ่งรุกรานยึดครองเพื่อนบ้านด้วยกำลังทหาร อย่างไรก็ตาม สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นและสมาชิกในราชวงศ์แล้ว หลายสิบปีที่ผ่านมาจะเสด็จไปยังสุสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่า

วันที่ 15 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา คือวาระครบรอบ 74 ปีที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวันที่ทั่วประเทศแสดงความโศกเศร้าอาลัย ทั้งสำหรับผู้ที่จดจำสงครามคราวนั้น และก็ทั้งสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจดจำ

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ไม่ได้เดินทางไปสักการะที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) ซึ่ง ฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) พร้อมอาชญากรสงครามคนอื่นๆ อีก 13 คน ที่มีบทบาทรับผิดชอบสำคัญสำหรับยุคสมัยแห่งความวิบัติหายนะของญี่ปุ่น ได้รับการเชิดชูบูชา แต่เขาก็ได้ส่งตัวแทนนำเครื่องเคารพนบไหว้ไปประกอบพิธีที่นั่น

มันยังมีสถานที่อื่นๆ ดีกว่านี้ ซึ่งเขาสามารถที่จะแสดงความไว้อาลัยของเขา ทว่านั่นก็อาจจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าคือสัญญาณของการรู้สึกเสียใจสำหรับความทุกข์ยากของพวกที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อก่อนเคยตกอยู่ใต้การปกครองของแดนอาทิตย์อุทัยแห่งยุคจักรพรรดิ

ทุกๆ ปี ในญี่ปุ่นเป็นต้องเกิดการต่อสู้ประลองกำลังกัน ในเรื่องวิธีการแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตจากสงครามแปซิฟิก (Pacific War) –ทั้งผู้ที่วายชนม์ตามหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก และในป่าดงพงทีบของพม่า, บนเขตเขาในแมนจูเรีย และในหมู่บ้านต่างๆ ของชาวจีน, ตลอดจนในเมืองใหญ่ต่างๆที่ถูกถล่มทิ้งระเบิดและกระทั่งด้วยระเบิดปรมาณูอันร้ายแรงในหมู่เกาะบ้านเกิด— ซึ่งยุติลงเมื่อ 74 ปีก่อนในวันที่ 15 สิงหาคม 1945

สมเด็จพระจักรพรรดิทุกๆ พระองค์ยุคหลังสงคราม รวมไปถึงสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ ล้วนแสดงความเต็มพระทัยที่จะทรงแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้วายชนม์จากสงครามของญี่ปุ่น ทว่าหนึ่งในสถานที่สำคัญซึ่งทรงเสด็จไป ไม่ใช่ศาลเจ้ายาสุกุนิ ที่มีชื่อเสียง –หรือที่จริงควรบอกว่ามีชื่อฉาวโฉ่มากกว่า หากแต่เป็นสุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ (Chidorigafuchi National Cemetery)

สองอนุสรณ์สถานของสงคราม สะท้อนสองเรื่องเล่าที่แตกต่าง

บางที ยาสุกุนิ อาจจะเป็นสถานเคารพบูชาซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันสูงที่สุดในเอเชีย ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการเสนอเป็นข่าวอย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนระดับโลก ทว่า ชิโดริงาฟูชิ เป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือแทบไม่มีใคร โดยเฉพาะในต่างประเทศเคยได้ยินเรื่องราวของมันมาก่อน

ศาลเจ้ายาสุกุนิ นั้นก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji) และเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีในปีนี้ อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่เป็นทรัพย์สินของรัฐ ยาสุกุนิเป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโตที่ภาคเอกชนเป็นผู้บริหาร โดยมุ่งให้เป็นสถานที่เคารพไว้อาลัยผู้เสียชีวิตนับล้านๆ คนจากสงครามครั้งต่างๆ ของญี่ปุ่น แต่ที่กลายเป็นปัญหาก็คือ อาชญากรสงครามชาวญี่ปุ่นระดับ “คลาส เอ” รวม 14 คน ก็ได้รับการสักการะในฐานะเป็นเทพเจ้า ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ไมนิชิ ชิมบุง (Mainichi Shimbun) หนังสือพิมพ์ระดับชาติชื่อดังของญี่ปุ่น ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวชิ้นยาวซึ่งให้รายละเอียดอันเผยให้เห็นว่าทางราชวงศ์ญี่ปุ่นกับศาลเจ้ายาสุกุนิ มีความสัมพันธ์อันย่ำแย่ขนาดไหน ตามรายงานของไมนิชิชิ้นนี้และรายงานข่าวจากที่อื่นๆ ระบุว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทางศาลเจ้ายาสุกุนิ ได้ติดต่อกับสำนักพระราชวัง เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนิน คำตอบที่ได้กลับมาก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปอย่างแน่นอน

สุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ เป็นสุสานแห่งชาติแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ผู้คนจำนวนมากทั้งในและนอกญี่ปุ่น แทบไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานแห่งนี้เอาเลย เนื่องจากมันถูกบดบังอยู่ใต้รัศมีทางเมตาฟิสิกส์และทางการเมืองของยาสุกุนิ ขณะที่พวกฝ่ายขวา, พวกนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าเชิดชูบูชาระบอบจักรพรรดิ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีทั้งหลาย ต่างต้องผ่านการทดสอบความศรัทธาของพวกเขา ด้วยการเดินทางไปสักการะบูชาที่ศาลเจ้าแห่งนี้ ทว่าไม่มีสมาชิกใดๆ ในราชวงศ์ได้เคยเสด็จไปที่นั่นอีกเลยนับตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา

เอกสารต่างๆ จากผู้ใกล้ชิดกับองค์พระจักรพรรดิโชวะ (Showa Emperor โชวะเป็นชื่อรัชสมัย พระนามของจักรพรรดิองค์นี้คือ ฮิโรฮิโต Hirohito ซึ่งทรงปกครองญี่ปุ่นในช่วงระหว่างและภายหลังสงครามแปซิฟิกอันสร้างความวิบัติหายนะให้ประเทศ โดยที่พวกนักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าใครกันบ้างซึ่งจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ) ระบุว่าพระองค์ทรงขุ่นเคืองยิ่งจากการที่พวกผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อสงครามของญี่ปุ่น ถูกนำเข้าไปรวมอยู่ในบรรดาผู้ได้รับการสักการะบูชาและรำลึกไว้อาลัย ณ ศาลเจ้าแห่งนั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0