โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไมอาจารย์กฎหมายจึง ‘อยู่เป็น’ ภายใต้อำนาจรัฐประหาร

The101.world

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 17.14 น. • The 101 World
ทำไมอาจารย์กฎหมายจึง ‘อยู่เป็น’ ภายใต้อำนาจรัฐประหาร

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

รัฐประหารและหลักวิชาทางกฎหมาย

 

หากพิจารณาจากแง่มุมทางด้านนิติศาสตร์ ปฏิบัติการจากการรัฐประหารครั้งเมื่อ พ.ศ. 2557 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในเชิงภาพรวม

ไม่ว่าจะเป็นการขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารแทรกเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม การบัญญัติกฎหมายที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน การตีความกฎหมายที่สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร กรณีเหล่านี้นับเป็นตัวอย่างอันสำคัญที่ทำให้ระบบกฎหมายภายใต้ยุค คสช. (รวมทั้งที่สืบเนื่องต่อมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน) ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

การกระทำในลักษณะเช่นนี้ขัดแย้งกับหลักวิชาหรือระบบความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างมาก แนวคิดทางด้านกฎหมายซึ่งเป็นที่รับรู้และถูกพร่ำสอนกันในสถาบันด้านนิติศาสตร์ได้วางหลักการเกี่ยวกับโครงสร้าง กระบวนการ และระบบความรู้ที่พยายามจำกัดอำนาจของรัฐในความสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายในยุคสมัยใหม่ที่มุ่งให้ความคุ้มครองกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญจากการรัฐประหารในคราวนี้

อย่างไรก็ตาม คำถามที่จะให้ความสนใจในที่นี้ก็คือว่า บรรดาผู้สอนหลักวิชากฎหมายซึ่งมีหน้าที่ถ่ายทอดหลักวิชากฎหมายอันสูงส่งที่ถูกเหยียบย่ำโดยท็อปบูท (ซึ่งควรนับว่าเป็นการเหยียดหยามกันอย่างไม่ไว้หน้า) แต่เพราะเหตุใดบรรดา 'อาจารย์กฎหมาย' ในสถาบันการศึกษานิติศาสตร์ในสังคมไทยจึงพากันเงียบงันต่อการรัฐประหารครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง

อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อาจารย์กฎหมาย 'อยู่เป็น' โดยไม่มีการแสดงออกเพื่อปกป้องหลักการทางกฎหมายที่พร่ำสอนต่อลูกศิษย์ทั้งในห้องเรียน ตำรา หรือแม้กระทั่งในวิชาชีพของตน

 

ความเงียบงันภายใต้การครอบงำ

 

การตอบคำถามนี้แบบง่ายที่สุดก็ด้วยการโยนไปที่ปัจจัยส่วนตัว โดยเฉพาะคำอธิบายว่าโดยส่วนใหญ่แล้วบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนมากมักจะสังกัดอยู่ในชนชั้นกลางจึงทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็น 'เสื้อเหลือง' หรือไม่ก็ 'เป่านกหวีด' อันแสดงให้เห็นถึงการยืนอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ให้การสนับสนุนต่อการรัฐประหาร

เป็นที่ชัดเจนว่าอาจารย์กฎหมายจำนวนไม่น้อยก็มีจุดยืนทางการเมืองไปในทิศทางดังกล่าว จึงย่อมเป็นการยากที่พวกเขาเหล่านั้นจะออกมาคัดค้านต่อการรัฐประหาร เพราะการยึดอำนาจคือทางออกแบบหนึ่งสำหรับการธำรงสังคมที่เป็นอยู่ให้ดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากแนวความคิดในเชิงส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่ายังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่มีผลอย่างสำคัญต่อการทำให้อาจารย์กฎหมายจำนวนไม่น้อยต้องสงบปากสงบคำ แม้ว่าอาจไม่ได้เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร อย่างน้อยก็ในสองปัจจัยด้วยกัน

ประการแรก ระบบการจ้างงานที่สร้างความไม่มั่นคงให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัย

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบการจ้างงานในมหาวิทยาลัยในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้สถานะของอาจารย์โดยทั่วไปไม่ใช่ข้าราชการเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต แต่กลับกลายเป็น 'พนักงานมหาวิทยาลัย' ซึ่งระบบการจ้างงานจะขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดขึ้นว่าจะจ้างงานในลักษณะอย่างไร มีสัญญาในรูปแบบใด

ในหลายแห่ง การจะได้รับสัญญาจ้างงานแบบถาวรจนกระทั่งอายุ 60 ปี ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อผ่านการคัดเลือกหรือเมื่อผ่านการทดลองงานในห้วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หากจะต้องผ่านสัญญาจ้างแบบ 1 ปี แล้วค่อยๆ ขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นเป็นจำนวนสามครั้งหรือสี่ครั้งกว่าที่บุคคลนั้นจะได้สัญญาแบบถาวร อันหมายถึงบุคคลต้องอยู่ภายใต้การจ้างงานแบบมีระยะเวลาจำกัดยาวถึง 10 ปี และนอกจากการใช้เงื่อนเรื่องระยะเวลามาเป็นข้อกำหนดแล้วยังบวกด้วยเงื่อนไขของตำแหน่งทางวิชาการว่าต้องไม่ต่ำกว่าระดับรองศาสตราจารย์เข้ามาเป็นประกอบเพิ่มในบางแห่ง

ภายใต้เงื่อนไขการจ้างงานในลักษณะดังกล่าว หากอาจารย์คนใดคนหนึ่งถูกมองว่าประพฤติตน 'ไม่เรียบร้อย' หรือ 'กระด้างกระเดื่อง' ไม่ว่าจะต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ใหญ่กว่าผู้บังคับบัญชาก็อาจเผชิญกับปัญหาได้ไม่ยาก โดยที่เป็นสัญญาการจ้างแบบมีระยะเวลาจำกัด บรรดาผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่จะไม่ได้เลิกจ้างในทันทีหากเห็นว่าอาจารย์ดังกล่าวมีความประพฤติเข้าข่ายดังที่กล่าวมา แต่จะใช้วิธีการไม่ต่อสัญญาเมื่อครบระยะเวลาการจ้างงาน

การไม่ต่อสัญญาเป็นการกระทำที่ฝ่ายนายจ้างมีความได้เปรียบในแง่มุมทางกฎหมายมากกว่าการเลิกจ้างในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับใช้อยู่ โอกาสที่อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยจะประสบชัยชนะในการต่อสู้คดีเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงตกอยู่ในสถานะของการจ้างงานแบบไม่มั่นคง

แม้อาจมีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับหลายเหตุการณ์ซึ่งอาจรวมถึงการรัฐประหาร แต่เนื่องจากต้นทุนของการแสดงความเห็นหรือการคัดค้านอาจส่งผลต่อเจ้าตัวอย่างมาก จึงทำให้หลายคนเลือกที่จะ 'อยู่เป็น' มากกว่า

ประการที่สอง สภาวะของระบบการศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม

ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาเปิดสอนด้านนิติศาสตร์เพิ่มมากขึ้นทั้งสถาบันเอกชนและมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้ต้องพึ่งพาอาศัย 'อาจารย์พิเศษ' จำนวนมาก บรรดาอาจารย์พิเศษเหล่านี้ก็ล้วนมาจากสถาบันการศึกษากฎหมายที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือไม่ก็สังกัดอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ทางด้านกฎหมาย เช่น ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ อัยการ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้มีผลอย่างสำคัญสำหรับอาจารย์กฎหมายในสถาบันที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีทั่วไปว่านักกฎหมายชั้นนำในหน่วยงานด้านกฎหมายของสังคมไทยทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา มีแนวโน้มที่จะเป็น 'เนติบริกร' ในการรับใช้ต่อคณะรัฐประหาร ซึ่งแสดงออกให้เห็นทั้งในด้านของการวินิจฉัยรับรองความชอบธรรมของอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร การเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่จัดตั้งและสนับสนุนโดยรัฐประหาร

คงเป็นไปได้ยากที่คณบดีจะทำจดหมายเชิญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นอาจารย์พิเศษ แล้วคณบดีหรืออาจารย์ในสถาบันนั้นๆ จะมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเร่าร้อน

หรือการเชิญอาจารย์อาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็นเนติบริกรให้กับคณะรัฐประหารไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันหรือบรรยายพิเศษ อาจารย์คนใดในสถาบันเหล่านั้นจะกล้าตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง พร้อมกันไปกับการทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษก็อาจมีการดึงเอาบุคลากรในสถาบันการศึกษาแห่งนั้นเข้าไปเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้ช่วย ฯลฯ ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร กรณีเช่นนี้จึงเป็นการสร้างเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการของคณะรัฐประหารให้เข้ามาครอบงำจิตวิญญาณของสถาบันการศึกษากฎหมายในหลายแห่ง เมื่อได้รับผลประโยชน์จากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรัฐประหารก็ยิ่งทำให้หลักวิชามีความหมายที่เบาบางลง

เครือข่ายในลักษณะนี้เป็นการสร้างสภาวะ 'การศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม' ให้ควบคู่ไปกับความเฟื่องฟูของการศึกษากฎหมายในสังคมไทย

 

ออกไปจากสภาวะอยู่เป็นเชิงโครงสร้าง

 

บทความชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดอาจารย์กฎหมายจำนวนหนึ่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันด้านกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นใหม่) จึงต้องเลือกหนทางการมีชีวิตแบบ 'อยู่เป็น' ทั้งที่การรัฐประหารได้กระทบต่อระบบความรู้และหลักวิชาที่ตนเองพร่ำสอนแก่ลูกศิษย์

แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยส่วนตัวอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปก็คือ ปัจจัยเชิงโครงสร้างทั้งในส่วนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าความเงียบงันหรือการยอมจำนนต่ออำนาจรัฐประหารของอาจารย์กฎหมาย (และอาจรวมไปถึงนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อย) มีปัจจัยหลากหลายประการมากกว่าเพียงความชอบหรือความเกลียดชังส่วนตัวเท่านั้น

หากต้องการเห็นการเคลื่อนไหวทางความคิดที่เสรีก็มีความจำเป็นที่จะต้องมองเห็นการครอบงำของปัจจัยโครงสร้างเหนือตัวปัจเจกบุคคลไปด้วยพร้อมกัน การสร้างระบบการจ้างงานที่มีความมั่นคงรวมถึงความพยายามสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของสถาบันการศึกษากฎหมายที่เกิดขึ้นใหม่ล้วนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก

ต่อให้มีสถาบันการศึกษากฎหมายเกิดขึ้นอีกเป็นร้อยแห่งพันแห่งในสังคมไทย แต่ตราบเท่าที่ยังไม่อาจสลัดหลุดจากระบบการศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม ก็ยากที่จะหวังว่าเสียงจากหลักวิชาการทางกฎหมายจะก้องกังวานในสังคมแห่งนี้

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0