โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไมสวีเดนกล้าสวนเทรนด์ชัตดาวน์ประเทศ ปล่อยให้พลเมืองใช้ชีวิตแบบไร้ข้อห้าม

PostToday

อัพเดต 03 เม.ย. 2563 เวลา 14.31 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 14.20 น. • webmaster@posttoday.com
ทำไมสวีเดนกล้าสวนเทรนด์ชัตดาวน์ประเทศ ปล่อยให้พลเมืองใช้ชีวิตแบบไร้ข้อห้าม
ทำไมสวีเดนกล้าสวนเทรนด์ชัตดาวน์ประเทศ ปล่อยให้พลเมืองใช้ชีวิตแบบไร้ข้อห้าม

ขณะที่ประชากรเกือบจะทั้งทวีปยุโรปต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสกำลังระบาด มีเพียงสวีเดนประเทศเดียวที่ยังปล่อยให้ประชาชนดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบที่แทบจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ 

กลยุทธ์การรับมือ Covid-19 ของรัฐบาลสวีเดนคือ การปล่อยให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของประชาชนว่าจะหยุดอยู่บ้านหรือออกไปข้างนอก

หนวยงานสาธารณสุขและรัฐบาลยังหวังว่าจะชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อได้โดยที่ไม่ต้องประกาศมาตรการเข้มงวดเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ประกาศต่างๆ ของรัฐบาลสวีเดนจึงออกมาในรูปแบบของการขอความร่วมมือมากกว่าข้อห้าม

แม้จะมีการจำกัดไม่ให้รวมตัวกันในที่สาธารณะเกิน 50 คน แต่โรงเรียน ร้านอาหาร ยิม สระว่ายน้ำยังเปิดได้ตามปกติ

และแทนที่ออกคำสั่งห้ามที่จำเป็น รัฐบาลเพียงแต่แนะนำให้ประชาชนเว้นระยะห่างจากสังคมและหากเป็นไปได้ให้ทำงานอยู่ที่บ้าน และขอความร่วมมือผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขั้นไปแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลเอาชะตากรรมของประเทศผูกไว้กับความรับผิดชอบของประชาชน หากประชาชนมีความรับผิดชอบสูงก็ถือว่าโชคดี

รัฐบาลอังกฤษก็เคยใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้ ก่อนจะกลับลำประกาศชัตดาวน์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หลังจากนั้นจึงเหลือเพียงสวีเดนประเทศเดียวที่รัฐบาลยังปล่อยตามสบาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งคำถามกับกลยุทธ์ของรัฐบาลว่าอาจจะมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ และเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อชาวโลกหรือไม่

สเตียน ลินนาร์สซอง (Sten Linnarsson) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาระบบโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ Karolinska Institutet เผยว่า “มันชัดเจนว่าที่ทำมาทั้งหมดยังไม่เพียงพอ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการตรวจหาผู้ติดเชื้อ”

2 วันหลังจากอังกฤษประกาศชัตดาวน์ นักวิจัยสวีเดนกว่า 2,000 คนรวมทั้งลินนาร์สซองเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการที่เข้มงวดกว่าที่บังคับใช้อยู่ แต่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวจากฝั่งรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่ามาตรการเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับสวีเดน

อันเดรส เท็กเนลล์ (Anders Tegnell) นักระบาดวิทยาชื่อดังของประเทศมองว่า กลยุทธ์ของรัฐบาลสวีเดนมีอยู่บนพื้นฐานของการเคารพ “ความมีอิสระในการตัดสินใจ” (free will) และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของชาวสวีเดน

จนถึงตอนนี้ (3 เม.ย.) สวีเดนมีผู้ติดเชื้อสะสม 5,568 ราย เสียชีวิต 308 ราย

แต่ถึงตัวเลขจะเพิ่มขึ้นแต่ชาวสวีเดนก็ยังพึงพอใจกับการรับมือของรัฐบาล การสำรวจความคิดเห็นโดย Kantar Sifo พบว่าความเชื่อมั่นของชาวสวีเดนต่อการรับมือเชื้อโคโรนาไวรัสของหน่วยงานสาธารณสุขเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่มขึ้นจาก 65% เป็น 74%

ผลวิจัยชี้ชัดล็อกดาวน์ได้ผลชัวร์

ทีมนักวิจัยจากราชวิทยาลัยของลอนดอนได้ทำแบบจำลองจำนวนผู้เสียชีวิตโดยวิเคราะห์ผลจากการล็อกดาวน์ใน 11 ประเทศยุโรป รวมทั้งสหราชอาณาจักร และอิตาลีกับสเปนซึ่งมีการระบาดหนักที่สุดพบว่า มาตรการดังกล่าวสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตได้มากถึง 59,000 ราย

ส่วนที่จีนนั้น ผลการศึกษาร่วมกันของหยางหยาง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ฟางฮั่นหมิง จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และหวังหลง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ พบว่า มาตรการปิดเมืองอู่ฮั่นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในช่วงแรก และยังลดอัตราการติดเชื้อในเมืองอื่น

ทีมวิจัยระบุว่า หากทางการจีนไม่สั่งปิดเมืองอู่ฮั่นตัวเลขผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ยยกเว้นเมืองอู่ฮั่นจะมากกว่าตัวเลขหลังปิดเมือง 52.6% และ 64.8% ในมณฑลอื่น

แล้วทำไมสวีเดนยังไม่ประกาศปิดเมือง

เหตุผลที่น่าจะพออธิบายว่าทำไมรัฐบาลสวีเดนยังไม่ประกาศชัตดาวน์น่าจะเป็นเพราะโครงสร้างสังคมของสวีเดน ที่มักจะแยกกันอยู่มากกว่าอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ จากการสำรวจของ Eurostat พบว่า ครัวเรือนกว่าครึ่งของสวีเดนมีสมาชิกเพียงคนเดียว ซึ่งมีข้อดีคือ ลดโอกาสการแพร่เชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัว

นอกจากนี้ ความหนาแน่นของประชากรก็มีส่วนสำคัญ ความหนาแน่นของประชากรของสวีเดนอยู่ที่ 25 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ขณะที่อิตาลีอยู่ที่ 205 และสเปนอยู่ที่ 94 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร เมื่อไม่ต้องเบียดเสียดกันก็เหมือนกับการทำ social distancing ทางอ้อม

อย่างไรก็ดี หากถามความรู้สึกของคนที่ทำงานด่านหน้าอย่างแพทย์และพยาบาล คนกลุ่มนี้เริ่มเหนื่อยล้าเต็มทีแล้วกับการรับมือผู้ป่วยที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

แอนน์ โรเซนดาห์ล พยาบาลแผนกวิกฤตของโรงพยาบาล Uppsala University Hospital เผยว่าสัปดาห์ที่แล้วมีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และครึ่งหนึ่งเป็นวัยรุ่นที่ไม่มีโรคประจำตัว

เธอกล่าวว่า “ฉันไม่รู้ว่ารัฐบาลสวีเดนตัดสินใจถูกหรือไม่ แต่จากที่ฉันเห็นคือคนสวีเดนยังไม่ตระหนักเท่าที่ควร หากคุณไปยิม ไปฉลองเทศกาลอีสเตอร์ หรือไปไหนๆ มันจะมีผลกระทบตามมาในอีกไม่กี่สัปดาห์”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0