โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมรัชกาลที่ 1 ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าครั้งสุดท้าย สำรวจวรรณกรรมพระประวัติ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 มี.ค. 2565 เวลา 10.40 น. • เผยแพร่ 13 มี.ค. 2565 เวลา 10.32 น.
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘

บทนํา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมคือเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพคนสําคัญในสมัยกรุงธนบุรี เป็นขุนศึกที่ไว้พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถวายงานสร้างความชอบจนได้รับการเลื่อนยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อันสูงกว่าขุนนางทั้งปวง พระราชทานเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม

ในช่วงปลายสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดพระสติวิปลาสสร้างเกิดความเดือดร้อนต่ออาณาประชาราษฎร์ ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นผู้สําเร็จราชการ และชําระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยอมรับผิดทุกประการ จึงลงโทษด้วยการประหารชีวิต และปราบดาภิเษกพระองค์เองเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ขอผู้คุมพาไปพบ

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นครั้งสุดท้าย แต่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับโบกมือไม่ให้พบ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไป กับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สําเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคํา ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็นจึงโบกพระหัตถ์มิให้นํามาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ และเจ้าตากสิ้นขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทําลายชีพนั้นอายุได้สี่สิบแปดปี

(พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 230.)

จากเนื้อหาที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้น จึงดูขัดแย้งกับความสัมพันธ์และความจงรักภักดีของทั้ง 2 พระองค์ที่มีความคุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเยาว์ จึงส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 พระองค์ในเวลาต่อมา จึงเกิดการตั้งคําถามว่า “เหตุใดรัชกาลที่ 1 ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย” รวมถึงตอนอื่นๆ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารที่สร้างความกังขาในเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้จึงเกิตตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหมาย “สร้างคําตอบ” ที่เป็นคําอธิบายชุดใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อความในเอกสารทางประวัติศาสตร์ และความมุ่งหมายที่ต้องการ

1. ความสัมพันธ์ 2 มหาราช ในเอกสารทางประวัติศาสตร์

เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่มักถูกนํามาใช้อ้างอิง คือ พระราชพงศาวดาร และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ

พระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงความสัมพันธ์นี้ที่เก่าที่สุดคือ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในบานแผนกระบุว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้ชําระ ปี พ.ศ. 2338 (จ.ศ. 1157)[1] ได้เริ่มปรากฏเนื้อความ ครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ 1 เป็นพระราชรินทร์รับบัญชายกทัพไปตีพระยาวรวงศาธิราช ดังนี้ “ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาวงศาธิราชมาตั้งรับทางหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวดํารัสให้พระราชรินทร์ พระมหามนตรียมไปที่พระยาวงศาธิราช”[2]

สําหรับพระราชพงศาวดารที่ถูกเรียบเรียงขึ้นในเวลาต่อมา คือ ฉบับหมอบรัดเล และฉบับพระราชหัตถเลขาได้ปรับ ปรุงเนื้อหาเล็กน้อย และได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 1 ตรงกันว่า ปรากฏครั้งแรกเมื่อพระอนุชา หรือพระมหามนตรีในขณะนั้นรับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ก่อน จึงขออนุญาตรับพี่ชายเพื่อถวายตัว ดังนี้ “ขณะนั้นพระมหามนตรี จึงกราบทูลพระกรุณาว่าจะขอไปรับหลวงยกบัตรราชบุรีผู้พี่นั้นเข้ามาถวายตัวทําราชการ จึงโปรดให้ออกไปรับเข้ามาแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระราชรินทร์” (ในฉบับหมอบรัดเลใช้ว่า “พระราชวรินทร์)[4]

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีทั้งหมดข้างต้นนี้ได้ถูกผลิตโดยใช้พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนูมาศ (เจิม) เป็นแม่แบบในการเรียบเรียงฉบับต่อๆ มา[5] ซึ่งเนื้อความอาจมีการตัดทอน หรือเพิ่มเติมบ้าง แต่เนื้อหาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 พระองค์นั้นมีความสอดคล้องกันคือ รัชกาลที่ 1 อยู่ในฐานะแม่ทัพคนสําคัญที่ทําการรบควบคู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สําหรับเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ถึงแม้เอกสารฉบับนี้ยังไม่สามารถสรุปที่มาได้ชัดเจน แต่เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ถูกนําไปอ้างอย่างกว้างขวางในด้านความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีตั้งแต่พระองค์ทรงจําพรรษาอยู่ที่วัดมหาทลาย ที่ปรากฏเรื่องราวของซินแสที่ทํานายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ 1 ว่า จะได้เสวยราชย์ในภายภาคหน้า หรือเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า รัชกาลที่ 1 ได้ฝากแหวนพลอยและดาบโบราณให้ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองชลบุรี พร้อมสั่งเสียว่า

“แต่เจ้าจงบอกแก่พระยาตากสินเขาด้วยว่า ดาบเล่มนี้เปนของๆ ฝากไปให้แก่เขา แหวนสองวงนั้น เปนของเมียข้าฝากไปตามที่ระลึกถึงกันในเวลากันดารแสนยากแสนแค้น”[6]

และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ตรัส ตอบต่อผู้ที่นํามาให้ว่า “พระเจ้าตากทรงรับไว้แล้วจึงตรัสว่า ชอบใจนักหนาที่อยู่ไกลยังมีความอุตสาหะคิดถึงกัน เช่นนี้เขาเรียกว่ากัลยาณมิตร”[7] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์คุ้นเคยระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ 1 ในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี

จากการเปรียบเนื้อหาที่แสดงความสัมพันธ์คุ้นเคยระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ 1 ปรากฏในพระราชพงศาวดาร และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ เห็นได้ว่าเนื้อความในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษได้แสดงความคุ้นเคยกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ในฐานะสหาย ด้วยเหตุนี้เนื้อความที่แสดงถึงความผูกพันในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษจึงขัดแย้งกับการพระราชประวัติช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ถึงแม้เนื้อหาจะมาจากเอกสารต่างชุดกันก็ตาม

2. จากคําถามใน “ตัวบทประวัติศาสตร์” สู่คําตอบใน “ตัวบทวรรณกรรม”

ตัวบทวรรณกรรม หรือตัวบทเรื่องเล่าคืองานเขียนประเภทบันเทิงคดีที่ถูกสร้างขึ้นคู่ขนานกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งในรูปแบบเรื่องสั้นและนวนิยาย มีเนื้อหาทั้งที่สอดคล้อง และขัดแย้งกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ การสร้าง “คําตอบ” ของข้อกังขาในเนื้อหาประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่าง 2 มหาราชเป็นการสร้างคำอธิบายชุดใหม่ หรือสร้าง “เหตุ” ที่มีความสอดคล้องกับ “ผล” ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการดัดแปลง แก้ไขรวมถึงตอกย้ำวาทกรรมเดิมเพื่อยอพระเกียรติ รวมถึงเน้นความสัมพันธ์ในรูปแบบของตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี

ชุดคําตอบเหล่านี้ปรากฏในตัวบทวรรณกรรม 5 เรื่อง คือ เรื่องสั้นเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน นวนิยายเรื่องใครฆ่า พระเจ้าตากสิน? นวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข นวนิยายเรื่องตากสิน มหาราชชาตินักรบ และสารคดีถึงบันเทิงคดี เรื่องดวงพระเจ้าศากไม่ถูกประหาร ปรากฏคําตอบดังนี้

รู้ว่าเป็นพระองค์จริง “จึงต้องทําใจ” ใน ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน

ตัวบทวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ผู้แต่งคือหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นครั้งแรกปี พ.ศ. 2494? ปรากฏเนื้อหาที่สร้างคําอธิบายในทํานองว่า รัชกาลที่ 1 ไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการชําระโทษครั้งนี้ทั้งสิ้น จึงให้เป็นไปตามที่ประชุมขุนนาง จึงสามารถอนุมานได้ว่า เพราะพระองค์ยังมีความผูกพันกัน ดังนั้น รัชกาลที่ 1 จึง “โบกพระหัตย์มิให้นำมาเฝ้า” ดังนี้

ส่วนทางสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น ได้ตั้งใจแน่วแม่อยู่แล้วว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จึงมอบหมายหน้าที่ให้ที่ประชุมข้าราชการชําระโดยไม่ต้องมีอะไรพาดพิงมาถึงตัวท่าน จะชําระกันอย่างไร จะพิพากษาว่ากระไร มีผิดจะลงโทษอย่างไร ไม่ผิดจะทําอย่างไร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่ปรารถนาจะเกี่ยวข้อง ต้องการจะให้เป็นไปตามความเห็นของที่ประชุม เมื่อเห็นคนพาหลวงอาสาศึกซึ่งเข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้ามาหา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็โบกมือให้พาออกไป ความมุ่งหมายในการที่โบกมือนั้น ก็เพียงแต่ว่าไม่ขอเกี่ยวข้อง จะขออยู่ในอุเบกขา จะชำระกันอย่างไร ก็สุดแต่ที่ประชุมเสนามาตย์ข้าราชการ แต่พวกที่ควบคุมไปนั้นจะเข้าใจว่าอย่างไรก็ตามที เลยพาตัวไปประหารชีวิตเสียที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์

(ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน, น. 356.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ได้สร้างคําอธิบายชุดใหม่ส่งผลให้บทบาทของรัชกาลที่ 1 เปลี่ยนแปลงไปจากเนื้อความในพระราชพงศาวดาร ด้วยการสร้างเหตุผลที่รัชกาลที่ 1 มีความจําเป็นที่จะต้อง “โบกพระหัตถ์มิให้นํามาเฝ้า” เพราะความรักใคร่คุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเยาว์เรื่อยมา จนถึงเป็นขุนศึกคู่พระทัยดังที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการสืบทอดวาทกรรมที่สร้างความหมายให้ทั้ง 2 พระองค์เป็นสหายต่อกัน

แต่จากตัวบทวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 1 รับรู้ว่าผู้ที่ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริง ถึงแม้ว่าผู้แต่งได้นําเสนอว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงสามารถหลบหนีไปเมืองนครศรีธรรมราชได้ก็ตาม

รู้ว่าเป็นพระองค์ปลอม “จึงไม่สนใจ” ใน ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน? ผู้แต่งคือภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2516 ผู้แต่งได้เพิ่มเติมตัวบทด้วยการนําเสนอพระเจ้าตากสินมหาราชที่ถูกประหารชีวิตตัดศีรษะเป็น “พระองค์ปลอม” เพื่อให้สอดคล้อง และแสดงเหตุผลในเนื้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารคือ หลังจากที่รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว พระองค์และกรมพระราชวังบวรฯ ได้โปรดให้ ขุดศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาบังสุกุล ขณะนั้น เจ้าจอมบางส่วนแสดงอาการเสียใจ พระองค์ทั้งสองจึงให้ลงพระราชอาญา ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ดังนี้

ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดํารัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุ วัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมหรสพและพระราชทานพระสงฆ์ บังสุกุล เสด็จพระราชดําเนินไปพระราชทานเพลิงศพทั้งสองพระองค์ ขณะนั้นพวกเจ้าจอมข้างในทั้งพระราชวัง หลวงวังหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินเจ้าตากคิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพิโรธดํารัสให้ลงพระราชอาญา

(พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 243.)

เนื้อความข้างต้นเป็นอีกตอนหนึ่งที่สร้างความกังขาในเรื่องความสัมพันธ์ที่รัชกาลที่ 1 สั่งลงพระราชอาญาพวกเจ้าจอมข้างในที่ยังอาลัยอาวรณ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีความผูกพันกัน ตัวบทวรรณกรรมเรื่องนี้จึงสร้างวาทกรรมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอมขึ้นมาเพื่อตอกย้ำมิตรภาพต่อกัน ดังนี้

แต่เมื่อเรารู้ความจริงแล้วว่า ท่านขุดศพคุณมั่น ผู้กตัญญูกตเวทีขึ้นมาเผา เผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คุณมั่น วีรบุรุษอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพื่อให้คนที่ฝักใฝ่ในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะได้เห็นจริงว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว จะได้เลิกคิดเรื่องการเมืองต่อไป และอย่างน้อยก็เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นน้ำพระทัยว่า ท่านยังระลึกถึงอยู่จึงขุดศพมาเผาให้ แต่เสียงร้องไห้นั้นคงทําให้ท่านรําคาญเพราะไม่ใช่พระศพ เป็นเพียงศพคุณมั่นต่างหาก

(ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?, น. 147.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ผู้แต่งได้สร้างคําอธิบายถึงเหตุผลในการกระทําของพระองค์เช่นนี้ เนื่องด้วยรู้ว่า ผู้ที่ถูกประหารชีวิตที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในครั้งนั้นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริง อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 1 รับรู้ในการวางแผนผลัดแผ่นดินครั้งนี้ เป็นการกระทําที่ยังสอดคล้องกับเนื้อความที่ ปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 พระองค์

แท้ที่จริงเป็นแผนของ “หลวงสรวิชิต” ใน ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ผู้แต่งคือ สุภา ศิริมานนท์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2545 ผู้แต่งได้สร้างคําอธิบายชุดใหม่ไว้อย่างน่าสนใจคือ ผู้ที่วางแผนการทั้งหมดนั้นคือหลวงสรวิชิต หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 ผู้แต่งนําเสนอว่าหลวงสรวิชิต โกรธแค้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สังหารพระเทพโยธาที่ขัดคําสั่งห้ามแวะบ้านด้วยพระองค์เอง เพราะพระเทพโยธาเป็นญาติกับหลวงสรวิชิต ด้วยเหตุนี้หลวงสรวิชิต จึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนการทั้งหมด รวมถึงเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอม ดังนี้

หลวงอาสาศึกตัดสินใจเสียสละชีวิตครั้งนี้โดยไม่ต้องการที่จะให้ท่านรู้เลยด้วยซ้ำ เขาบอกพวกเราอย่างเดียวว่า ถ้าเขาถูกตัดสินประหารในนามของท่าน เขาจะขอเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาสักเล็กน้อย แต่ผมคิดว่าหลวงอาสาศึกคงจะไม่ได้รับโอกาสนั้นแน่นอน หลวงสรวิชิตเขารู้แก่ใจของเขาดีว่าเรื่องจริงๆ เป็นมาอย่างไร และบุรุษในนามเจ้าตากคนนั้นคือใคร ซึ่งเขาก็ย่อมไม่ปรารถนาจะให้สมเด็จเจ้าพระยาต้องรู้เรื่องที่เขาจัดการไปโดยพลการนั้นด้วย หลวงสรวิชิตรู้ดีว่าผู้ที่จะขอเข้าพบมูลนายของเขานั้นเป็นเจ้ากรุงธนตัวปลอม ความมันอาจจะแตกขึ้น เรื่องก็จะไปกันไกล

อันล้วนแต่กลายเป็นข้อซึ่งพิสูจน์ถึงความไม่สามารถของเขา ทั้งๆ ที่ความจริงเขาสามารถสังหารเสียได้ทั้งเจ้ากรุงธนตัวจริงและตัวปลอมด้วยซ้ำ อีกข้อหนึ่ง ม็อง เยเนราล ข้อหนึ่ง ซึ่งสําคัญมากก็คือ หลวงสรวิชิตรู้ว่าท่านกับมูลนายของเขาเป็นสหายศึกร่วมใจกันมานาน มีความเกี่ยวดองกันในชั้นลูก หลานหลายชั้น ถ้าหากมีการพูดจารู้เรื่องกันขึ้น โดยอาจจะรําลึกถึงความสัมพันธ์ในอดีต…ผมจึงคิดว่าหลวงอาสาศึกคงไม่ได้รับโอกาสให้พบสมเด็จเจ้าพระยาอย่างเด็ดขาด หลวงสรวิชิตย่อมจะต้องกีดกันไว้ล่วงหน้าแล้วทุกๆ ทาง หรือมิฉะนั้นอีกแง่หนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาเขาอาจจะรู้ความจริงโดยถี่ถ้วนหมดแล้วจากหลวงสรวิชิตจึงไม่ยอมที่จะให้เจ้ากรุงธนตัวปลอมเข้าพบก็เป็นได้

(ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข, น. 97-98.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในครั้งนั้นตกอยู่กับหลวงสรวิชิตเท่านั้น และหลวงสรวิชิตยังคงทราบถึงความคุ้นเคยในฐานะสหายและเครือญาติของทั้ง 2 พระองค์ แต่สําหรับรัชกาลที่ 1 ยังปรากฏการสร้างคําตอบคล้ายคลึงกับตัวบทวรรณกรรมทั้ง 2 เรื่องในข้างต้น คือ พระองค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกทั้งการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้เข้าพบรัชกาลที่ 1 เป็นครั้งสุดท้ายเกิดจากการถูกกีดกันของหลวงสรวิชิต หรือคําอธิบายอีกชุดหนึ่งคือ เพราะรัชกาลที่ 1 ทราบว่านักโทษผู้นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอม

รัชกาลที่ 1 เป็นผู้ถวายพระเกียรติยศสูงสุด ใน ตากสิน มหาราชชาตินักรบ

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ตากสิน มหาราชชาตินักรบ ผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติคือ Claire Keefe-Fox (แปลโดย กล้วยไม้ แก้วสนธิ) ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกปี พ.ศ. 2547 ผู้แต่งยังคงอ้างอิงกับเนื้อความตามประวัติศาสตร์ แต่แก้ไขเพิ่มเติม และผสานกับจินตนาการของตน โดยเลือกเนื้อหาการชําระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า พระองค์ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แต่ตัวบทวรรณกรรมได้ นําเสนอว่าพระองค์ถูกสําเร็จโทษตามโบราณราชประเพณี สมพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และที่สําคัญ บุคคลที่ต้องการถวายพระเกียรติยศนั้นคือ รัชกาลที่ 1 ดังนี้

กฎมนเทียรบาลถูกนํามาใช้ในการสําเร็จโทษพระเจ้าตากสินเช่นเดียวกับครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธ

มาธิวเคยได้ยินข่าวว่า ขุนนางบางคนไม่อยากถวายพระเกียรติดังนี้ จะให้ประหารแบบคนทรยศ

แต่รัชกาลที่ 1 ทรงตัดสินให้ประหารชีวิตพระเจ้า ตากสินเยี่ยงกษัตริย์

ทรงพิจารณาเห็นว่า การที่ราชอาณาจักรสยามยังตั้งอยู่ได้ ก็เพราะพระเจ้าตากสิน

เจ้าหน้าที่ถอดโซ่ที่ล่ามอดีตกษัตริย์ออก ให้พระองค์ทรงภูษาสีแดง ให้ทรงนั่งคุกเข่า มัดพระหัตถ์กับพระบาท จากนั้นจึงคลุมถุงกํามะหยี่สีแดง

เพชฌฆาตยกท่อนไม้จันทน์ขึ้นฟาดแรงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพระวรกายไม่ขยับ และพระโลหิตเปื้อนถุงเป็นปื้นดำ ไม่มีเสียงครวญครางใดๆ อีก

(ตากสิน มหาราชชาตินักรบ, น. 436-437.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น เป็นการกล่าวถึงวาระสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ถูกชําระโทษเป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรัชกาลที่ 1 ตามที่ถูกสร้างความหมายตั้งแต่ตอนต้น ด้วยการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุดจากรัชกาลที่ 1 ในฐานะที่มีความผูกพันกันตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ การสร้างตัวบทวรรณกรรมที่กล่าวถึงการชําระโทษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ตัวบทเรื่องนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นความสัมพันธ์เฉพาะ 2 พระองค์อย่างเด่นชัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทําของพระองค์เป็นการกระทําต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยังคงความผูกพันกันมาตั้งแต่อดีต

ดวงชะตาต้องสั่งฆ่าพระเจ้าตากฯ (พระองค์ปลอม) ใน ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร

ตัวบทวรรณกรรมสารคดีถึงบันเทิงคดีเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ผู้แต่งคือ อ.เล็ก พลูโต (บุญสม ขอหิรัญ) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2551 ตัวบทเรื่องเล่าถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลด้านโหราศาสตร์ มีเนื้อหาที่ตอกย้ำถึงการปฏิเสธการสั่งลงอาญาประหารชีวิตตัดศีรษะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของรัชกาลที่ 1 ด้วยการนําเสนอเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระองค์ปลอม” แต่ที่น่าสนใจคือ การสร้างตัวบทเรื่องเล่าด้วยการใช้ข้อมูลด้านโหราศาสตร์ จากดวงพระชะตารัชกาลที่ 1 ดังนี้

อาทิตย์ (1) ของรัชกาลที่ 1 เป็นดาวเจ้าเรือนมรณะ อยู่ในภพสหัชชะ จึงเป็นเหตุทําให้พระองค์ต้องสั่งประหารชีวิตพระเจ้าตากสิน (องค์ปลอม) ด้วยความจําเป็น และพระเจ้าตากสิน (พระองค์จริง) ก็ต้องลี้ภัยการเมือง ต้องสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ตายก็เหมือนตาย พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตไปพร้อมกับคุณงามความดี … นั่นเป็นเพราะดวงชะตาลิขิตไว้

เมื่อท้องฟ้าสว่าง ความมืดมัวก็หมดไป เหลือแต่ความจริงที่กระจ่างชัดถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงไว้ซึ่งความดีและความเสียสละไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าตากสิน ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่

(ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร, น. 39.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ถึงแม้ใจความสําคัญจะอยู่ที่การเน้นย้ำถึงพระองค์ปลอมที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ที่จริงแล้วผู้สร้างต้องการเน้นย้ำให้เห็นความทุกข์ร้อนและความเสียสละของรัชกาลที่ 1 ด้วยการนําเสนอถึงคุณงามความดีของรัชกาลที่ 1 ในการกระทําครั้งนี้ที่ไม่น้อยไปกว่าวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

…สุดท้ายผู้แต่งได้กล่าวสรุปในเชิงแก้ไขภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 อันเป็นใจความสําคัญของตัวบทเรื่องเล่าว่า “ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ฆ่าเจ้านาย และพวก พ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่…” ซึ่งเป็นการแก้ไขความหมาย รวมถึงปรับประวัติศาสตร์ผ่านตัวบทวรรณกรรมอย่างชัดเจน

สรุป

การเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากเนื้อความ ที่ “สร้างข้อกังขา” ในประวัติศาสตร์สู่การสร้าง “คําตอบ” ในตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี เป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่สอดรับ รวมถึงเพิ่มเติมและปฏิเสธบางเนื้อหาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาราช รวมถึงสืบทอดและตอกย้ำวาทกรรม “ความเป็นมิตร” ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์บางฉบับ

การนําเสนอพระราชประวัติรัชกาลที่ 1 ด้วยเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระองค์ปลอม” หรือการนําเสนอคําตอบชุดต่างๆ ผ่านตัวบทวรรณกรรมเหล่านี้ จึงมีนัยที่แสดงถึงความพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรอยต่อของประวัติศาสตร์ทั้ง 2 สมัยในยุคปัจจุบัน ดังส่วนหนึ่งที่ปรากฏในตัวบทเรื่องเล่าว่า

“ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้อง ที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่”

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2555 แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 22 มกราคม 2562

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0