โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไมธนาคารกลางหลายประเทศ ต้องคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

Businesstoday

เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 10.00 น. • Businesstoday
ทำไมธนาคารกลางหลายประเทศ ต้องคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ที่เริ่มหันมาใช้นโยบายนี้

จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไปทั่วโลก บรรดาธนาคารกลางประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างงัดนโยบาย "คุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร" เพื่อแก้ปัญหาในตลาดเงินตลาดทุน ที่เป็นกลไกสำคัญสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่

หลายคนอาจสงสัยเมื่อติดตามข่าวต่างประเทศในช่วงนี้ มักจะได้ยินเรื่องนี้บ่อยครั้ง นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้นำเสนอบทความชื่อ "ทำความรู้จักกับนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของธนาคารกลาง" ซึ่งเราเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับคนที่ติดตามเรื่องนี้ จึงขอนำมาเสนอในที่นี้อีกครั้ง มีรายละเอียดดังนี้

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมากและรุนแรงกว่าวิกฤตซับไพร์มในช่วงปี 2551-2552 ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมาก เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลของไวรัสโควิด-19 ผ่านการทำ “คิวอี” หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ตราสารทางการเงินต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการในช่วงวิกฤตซับไพร์ม 

อย่างไรก็ดี นช่วงหลังนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ “ยิวเคิฟคอนโทรล” เป็นคำที่ปรากฏในสื่อบ่อยครั้งหลังจากหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะนำมาตรการนี้มาใช้ควบคู่กับนโยบายการเงินที่ดำเนินการอยู่เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

"การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ ' ยิวเคิฟคอนโทรล'  เป็นนโยบายที่ธนาคารกลางจะกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาวไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่ง และจะทำการเข้าซื้อขายพันธบัตรเพื่อรักษาเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมในระยะยาวของระบบเศรษฐกิจ " 

การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ “ยิวเคิฟคอนโทรล” เป็นนโยบายที่ธนาคารกลางจะกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาวไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่ง และจะทำการเข้าซื้อขายพันธบัตรเพื่อรักษาเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมในระยะยาวของระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากพิจารณาการทำยิวเคิฟคอนโทรลจะพบว่า ในอดีตมีเพียงธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ได้นำนโยบายนี้มาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาเงินฝืดมานาน อย่างไรก็ดี ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งได้เริ่มนำนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์มาใช้ เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ประกาศคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีที่ร้อยละ 0.25 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า ในระยะต่อไปธนาคารกลางหลักอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางอังกฤษจะจำเป็นต้องดำเนินนโยบายยิวเคิฟคอนโทรลเช่นกัน และประเมินว่าโอกาสที่จะใช้ยิวเคิฟคอนโทรลมีมากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับติดลบจะสร้างผลกระทบต่อภาคธนาคารได้ 

ในมุมของธนาคารกลาง หากธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายยิวเคิฟคอนโทรลได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดภาระการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านการทำคิวอี เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเข้าซื้อขายสินทรัพย์ตลอดเวลา เพียงแต่เข้าซื้อขายสินทรัพย์เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยถึงระดับเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยชะลอการเพิ่มขนาดงบดุลของธนาคารกลางได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวความน่าเชื่อถือ (credibility) และความมุ่งมั่น (commitment) ของธนาคารกลางในการรักษาพันธะที่ได้ประกาศไว้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินนโยบายนี้ เนื่องจากหากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศตรึงไว้ได้ก็จะเทขายพันธบัตรออกมาจำนวนมาก ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องเข้าซื้อพันธบัตรในปริมาณที่มากกว่าเดิมเพื่อรักษาเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ นโยบายยิวเคิฟคอนโทรลจะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยในระยะกลางถึงยาวในระดับต่ำ เนื่องจากปกติการตรึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยของตราสารการเงินอื่น ๆ เช่นกัน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคต้องการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่าการทำคิวอีเพียงอย่างเดียว  

อย่างไรก็ดี การทำนโยบายยิวเคิฟคอนโทรลอาจส่งผลเสียเช่นกัน หากภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้ รวมถึงอาจก่อให้เกิดการกู้เงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อหาส่วนต่างผลตอบแทน อาทิ การกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่จากประเทศที่พัฒนาแล้ว และนำไปหาผลตอบแทนในประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า หากนำยิวเคิฟคอนโทรลมาใช้อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่จากพฤติกรรมเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน ภายใต้ความไม่แน่นอนหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้เช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0