โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมที่ๆ มีคนตายมากมาย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว !!!! แต่เที่ยวแบบเคล้าน้ำตากับสถานที่สุดสะเทือนใจ และเหตุการณ์ที่โลกต้องจดจำ

JS100 - Post&Share

อัพเดต 02 ก.ค. 2562 เวลา 02.07 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 09.19 น. • JS100:จส.100
ทำไมที่ๆ มีคนตายมากมาย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว !!!! แต่เที่ยวแบบเคล้าน้ำตากับสถานที่สุดสะเทือนใจ และเหตุการณ์ที่โลกต้องจดจำ
ทำไมที่ๆ มีคนตายมากมาย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว !!!! แต่เที่ยวแบบเคล้าน้ำตากับสถานที่สุดสะเทือนใจ และเหตุการณ์ที่โลกต้องจดจำ

            มีคำถามในหัวกับตัวเองว่าทำไมอยากมาเที่ยวที่นี่ ?? ทำไมอยากมาเห็นกับตาถึงสถานที่ที่มีฆาตกรรมหมู่ที่น่าจะเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น ???  คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะได้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่กำกับโดย สตีเว่น สปีลเบิร์ก ผู้กำกับมือรางวัล ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนั้น คือ Schindler’s List  นั่นเอง กวาดรางวัลออสการ์ใน ปี 2537 ไปถึง 7 รางวัล ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยมที่ยังคงติดอยู่ในความทรงจำถึงทุกวันนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Schindler's Ark ผลงานของโธมัส คนีลลีย์ โดยเล่าถึง ออสการ์ ชินด์เลอร์ นักธุรกิจชาวเยอรมัน ผู้ช่วยชีวิตชาวยิวมากกว่า 1,100 คน  ในค่ายกักกันในประเทศโปแลนด์  ใช่แล้วค่ะที่ๆเราตั้งใจพามา คือ ค่ายเอาช์วิทซ์-เบอร์เคอเนา ที่ซึ่งเยอรมันเรียกว่า Final Solution  เพราะที่นี่ “คนที่ไม่เป็นที่ต้องการ” เมื่อเข้ามาแล้วไม่มีใครได้กลับออกไป

            จากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะทำให้เราได้รับรู้ถึงเหตุการณ์สำคัญส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ยังทำให้เห็นความโหดเหี้ยม โหดร้ายที่มนุษย์สร้างขึ้น เพียงเพราะมีความแตกต่างกันที่ชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันเลยแม้แต่นิด  ข้อสงสัยว่าทำไมการจุดประกายความขัดแย้งถึงจุดติด  จนคนทนที่จะอยู่รวมโลกกับคนเหมือนกันไม่ได้ ถึงขนาดต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  เรื่องราวที่ดูเหมือนจะมีปมอยู่เพียงไม่มาก แต่ทำไม ? ทำไม ? ซึ่งนั้นก็อาจเป็นเหตุให้ผู้คนมากมาย หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก ทั้งเพื่อค้นหา คำตอบ ศึกษาเรียนรู้ และบางกลุ่มก็มาเพื่อซึมซับ รับรู้ถึงความเจ็บปวดที่เพื่อนร่วมเชื้อชาติในอดีตถูกกระทำ

            เมื่อเดินทางมาถึง ไกด์ท้องถิ่น จะพาเราเข้าไปสถานที่เกิดเหตุในเมือง ออสวิซิม  Oświęcim ที่เยอรมันเรียกว่า  เอาช์วิทซ์ อยู่ในประเทศโปแลนด์  มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นค่ายกักกัน เอาช์วิทซ์ Auschwitz  ส่วนที่ 2 เป็นค่ายเบอร์เคอเนา Birkenau  ทำไมต้องโปแลนด์ เพราะที่นี่เป็นจุดศูนย์กลางของยุโรป การเดินทางของชาวยิวจากทุกประเทศทั่วยุโรป มาที่นี่ และ เบอร์เคอเนา

ประตูทางเข้าค่ายเอาช์วิทซ์                     

Arbeit Macht Frei “ทำงานเพื่อเสรีภาพ”

            โดยที่ เอาช์วิทซ์ ค่ายแห่งแรกถูกดัดแปลงจากที่ทำการทหารของโปแลนด์มาเป็นค่ายกักกัน นาซีเยอรมันใช้วิธีกวาดต้อนผู้คนโดยหลอกว่าจะให้มาทำงานเพื่อแลกกับการที่จะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  หนึ่งในคำให้การของ รูด็อล์ฟ เฮิส Rudolf Höss นาซีเยอรมนี ผู้บัญชาการค่าย   เขากับ ร้อยเอก Karl Fritzsch ผู้ใต้บังคับบัญชา ได้ทดลองฆ่าคนจำนวนมากด้วยวิธีการต่างๆ  เพื่อใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ยิวในยุโรปภายใต้การยึดครองของเยอรมันอย่างเป็นระบบ หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาตราการสุดท้าย (Final Solution)  โดยเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืช ไซคลอน บี ที่มีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์เพื่อการสังหารหมู่ด้วยวิธีรมแก๊ส

ค่ายเบอร์เคอเนา ตัวค่ายเหมือนคอกม้า มีห้องปลดทุกข์ที่มีเวลาให้ใช้อย่างจำกัดสำหรับคนหลักพัน

สภาพเรือนนอนที่ค่ายเบอร์เคอเนา  1 ช่องต้องนอนเบียดกันถึง 5 คน

            มีการสร้างห้องขนาดใหญ่สำหรับการฆาตกรรมคนนับพันคนภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที  ตัวเลขของนักโทษชาวยิวเขียนไว้ว่ามีชาวยิว  1.1 ล้านคน แต่จากคำให้การของเฮิสระบุว่ามีชาวยิวกว่า 3 ล้านคนมาที่นี่  จากเกือบทุกประเทศในยุโรป ส่วนใหญ่ถูกสังหารในห้องรมแก๊ส โดยเฉพาะ ผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ จะโดนเลือกเข้าห้องอาบน้ำ (ชื่อเรียกห้องรมแก๊ส) ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึง ส่วนอื่นๆเสียชีวิตจากความอดอยาก การใช้แรงงาน  โรคภัยไข้เจ็บ  ถูกยิง และ การทดลองทางแพทย์ ค่ายทั้ง 2 แห่ง นี้ถูกปลดปล่อยโดยทหารรัสเซียในวันที่ 27 มกราคม 1945 ซึ่งกลายเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผาพันธุ์นานาชาติ (International Holocaust Remembrance Day)

หน้าห้องอาบน้ำ (GAS CHAMBER ) ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น

ภายในห้องอาบน้ำ ยังคงมีร่องรอย ความหดหู่ที่รู้สึกได้

ติดกันเป็นเตาเผาศพ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เพียงพอ

จำลอง ห้องสังหารขนาดใหญ่

กระป๋องแก๊สจำนวนมากถูกพบที่ค่าย

            ในปี ค.ศ. 1947  โปแลนด์ได้เปิดค่ายทั้ง 2 ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต แม้ว่า Gas Chamber ที่เบอร์คาเนาจะโดยทำลายหลักฐานไป แต่ที่เอาช์วิทซ์ยังคงมีให้เห็น  หลักฐานของความโหดเหี้ยมของมนุษย์ที่มีกับมนุษย์ด้วยกัน

โถใส่เถ้ากระดูกของชาวยิว

เจ้าของรองเท้าจะรู้เรื่องอะไรไหม?

และแน่นอนว่าเจ้าของขาเทียมเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกที่ถูกกำจัด

ภาพถ่ายของกลุ่มที่มาถึงค่ายก็ต้องเข้าห้องอาบน้ำเลยทันที แม่และเด็ก 

ฝาแฝด Eva - Miriam Mozes รอดชีวิตจากการทดลองทางพันธุกรรม ฝาแฝดกว่า 3 พันคู่ต้องเสียชีวิตจากการทดลองทางการแพทย์ที่โหดร้ายทารุณ  Eva ได้เขียนหนังสือเล่าถึงเรื่องประสบการณ์อันเลวร้ายที่ตัวเธอได้รับ

ในส่วนนิทรรศการก็จะแสดงภาพภายหลังการปลดปล่อยค่าย ผู้คนที่รอดชีวิตมีสภาพร่างกายซูบผอม เห็นกระดูก เพราะไม่มีอาหารเพียงพอ

            เสียดายว่าทริปนี้เรามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง ซึ่งจริงๆแล้ว อย่างน้อยต้องให้เวลาที่นี่ 3 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าจะให้ลงลึกถึงรายละเอียดก็ต้องใช้เวลา 2 วันเต็ม

 

Cr. เรียบเรียงและรูปภาพ โดย : อัจฉรา บัวสมบูรณ์
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0