โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทำไมจีดีพีโตแต่เงินไม่สะพัด

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2561 เวลา 16.24 น. • The Bangkok Insight
ทำไมจีดีพีโตแต่เงินไม่สะพัด

ร้านค้า ร้านอาหาร ทั้งในศูนย์การค้า และย่านการค้าหลายๆ แห่ง ทั้งกลางเมืองและชานเมือง ปิดร้านขึ้นป้ายเซ้งกิจการไม่ใช่ภาพหาดูยากในวันนี้ เช่นเดียวกับ ข่าวเลิกจ้างคนงานจากบางอุตสาหกรรม ที่มีให้เห็นเป็นระยะๆ ผสมผสานไปกับเสียงบ่นเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ยังดังอยู่

บรรยากาศดังกล่าว สวนทางกับตัวเลขจีดีพีปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 4% ซึ่งถือว่าดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

ปี 2558 สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาประกาศว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คำประกาศดังกล่าว ปลุกความหวังผู้คนให้กลับมาอีกครั้ง หลังอับเฉาจากพิษวิกฤติการเมืองมาหลายปี

ยิ่งต้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไตรมาสแรกทำสถิติใหม่ จีดีพีขยายตัวถึง 4.6 % ยิ่งเติมความหวังให้โชติช่วงขึ้นไปอีก

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ภาพ: www.somkid.com)
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ภาพ: www.somkid.com)

ตอนนั้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ถึงกับกล่าวอย่างปลาบปลื้มว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่เหนือความคาดหมาย แต่เกิดจากทำงานอย่างหนัก และต่อเนื่อง

หากแสงแห่งความหวังที่วาบขึ้นค่อยๆ จางลง เมื่อผู้ค้าจำนวนไม่น้อยพบว่า รายได้ของพวกเขาไม่ได้คึกคักตามจังหวะจีดีพี ลูกจ้างหลายๆ คนกลายเป็นคนว่างงานแบบไม่สมัครใจ ซึ่งเป็นสภาวะที่แย้งกับตัวเลขจีดีพีที่รัฐประกาศดังที่ได้กล่าวข้างต้น

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจพยายามหาคำตอบที่มาที่ไปของปรากฎการณ์ดังกล่าวกันพอสมควร

เริ่มจาก แบงก์ชาติ ในฐานะผู้พิทักษ์เสถียรภาพ ตั้งสมมุติฐานว่าเป็นเพราะ เศรษฐกิจยังโตไม่เต็มที่ การบริโภคขยายตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูง และรายได้ปานกลาง ขณะที่กำลังซื้อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่เข็มแข็ง แต่แบงก์ชาติไม่กล้าเจาะจงลงไปว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของอาการแปลกๆ ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ดร.สมคิด รองนายกฯ ซึ่งคิวเดินสายขึ้นโพเดียม ทอล์คโชว์วิสัยทัศน์ ตามเวทีสัมมนาที่สื่อสำนักต่างๆ จัดขึ้นแน่นเอี๊ยด พยายามหาเหตุผลเหมาะๆ มาอธิบายเรื่องนี้เช่นกัน

มือเศรษฐกิจของรัฐบาลเคยไปพูดบนเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งว่าการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซทำให้พฤติกรรมตลาดเปลี่ยน ผู้ค้าไปเปิดหน้าร้านเสมือนในเว็บ ผู้บริโภคหันไปสั่งของผ่านช่องทางนี้เช่นกัน ความจำเป็นในการใช้หน้าร้านรูปแบบเดิมจึงลดลง

ก่อนหน้านี้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย ช่วงเป็นรองนายกฯ รัฐบาลประยุทธ์ เคยอธิบายที่มาของอาการทางเศรษฐกิจแบบนี้ไว้เป็นคนแรก โดยนำเสนอทฤษฎีส่วนเกิน

หม่อมอุ๋ย อธิบายว่าเศรษฐกิจ ช่วงก่อนหน้า(ยึดอำนาจ)มีส่วนเกินมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวฯ และรถยนต์คันแรก และสองส่วนเกินมาจากธุรกิจสีเทา

เมื่อรัฐบาล(ประยุทธ์) เลิกโครงการประชานิยม ปราบปรามคอรัปชั่น และธุรกิจสีเทา “ส่วนเกิน” ที่หายไปมีส่วนทำให้คนรู้สึกว่าเงินไม่สะพัด ตอนนั้นหม่อมอุ๋ยคาดว่า เศรษฐกิจต้องใช้เวลาปรับฐานอย่างน้อย 1 ปี (นับจากปี 2558) จึงเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจยังไม่เข้าที่เข้าทาง ตามที่หม่อมอุ๋ยทำนายไว้แต่ประการใด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ภาพ: กระทรวงการคลัง)
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ภาพ: กระทรวงการคลัง)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นอีกคนที่เคยกล่าวถึง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการจัดระเบียบ และการปราบปรามธุรกิจสีเทา  โดยยืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดระเบียบธุรกิจสีเทา ซึ่งมีขนาดถึง 1 ใน 3 ของ จีดีพีประเทศให้เข้าสู่ระบบ

เหตุผล 3 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น คือคำอธิบายถึงสาเหตุที่ ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีจึงเกิดเป็นหย่อมๆ แต่ไม่มีอารมณ์ร่วมระดับมหาชน  ซึ่งนับว่าแปลก เพราะรัฐบาลนี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย และใช้งบประมาณดูแลคนจน ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ารัฐบาลประชานิยมก่อนหน้าแต่อย่างใด

ดูท่าปัญหานี้ คงต้องให้ ดร.สมคิด กรุณาออกมาชี้อีกสักครั้งว่า อาการเศรษฐกิจที่ จีดีพีโต แต่เงินไม่สะพัดนั้นมีโอกาสจะหายขาดหรือไม่  หรือเป็นอาการเรื้อรังแบบโรคเอ็นซีดี ที่ต้องรักษากันไปตลอดชีวิต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0