โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไมกรุงเทพฯ ต้องตักน้ำที่หอศาสตราคม และหอศาสตราคมมีความสำคัญอย่างไรต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

THE STANDARD

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 01.42 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 01.42 น. • thestandard.co
ทำไมกรุงเทพฯ ต้องตักน้ำที่หอศาสตราคม และหอศาสตราคมมีความสำคัญอย่างไรต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทำไมกรุงเทพฯ ต้องตักน้ำที่หอศาสตราคม และหอศาสตราคมมีความสำคัญอย่างไรต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อีกขั้นตอนที่สำคัญคือ พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรจำนวน 108 แห่ง ซึ่งรวมพื้นที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพียงหนึ่งเดียวจากกรุงเทพมหานครคือ หอศาสตราคม ก่อนที่จะทำพิธีเชิญไปรวมไว้ที่ห้องดอกแก้ว กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำพิธีเสกน้ำรวม 77 จังหวัด ที่วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

 

ประวัติความเป็นมาของ ‘หอศาสตราคม’

สำหรับ ‘หอศาสตราคม’ เป็นหอขนาดเล็กหลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสีอยู่ริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง

 

โดยความเป็นมาเป็นไปของหอศาสตราคม แต่เดิมเป็นพระที่นั่งโถงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งแล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้น สำหรับให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายมาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อถวายพระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ และสรงเป็นประจำวัน ตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียรคือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

 

ต่อมาในรัชกาลที่ 4, 5, 6 และรัชกาลที่ 7 มีการสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวัน เวลา 14.00 น. ต่อมาในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ได้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 5 รูป มาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวันธรรมสวนะ เวลา 13.30 น. เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป ประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรครั้งหนึ่ง และนิมนต์พระพิธีธรรมจาก 10 วัดคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดสระเกศ, วัดจักรวรรดิราชาวาส, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดระฆังโฆสิตาราม, วัดประยุรวงศาวาส, วัดอนงคาราม และวัดราชสิทธาราม จำนวนวัดละ 5 รูป ผลัดเปลี่ยนกันมาสวดทำน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งในเวลา 18.00 น. น้ำพระพุทธมนต์ทั้งสองเวลานี้รวมเก็บไว้ในหม้อน้ำมนต์เพื่อจัดไปถวายสรงทุกวันตามราชประเพณีที่ได้เคยปฏิบัติสืบมา

 

 

น้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคมนี้ กรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลขอพระราชทานน้ำไปเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำหรับถวายสรงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 9 วาระครบรอบนักษัตร คือ 6 รอบ 7 รอบ

 

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กรุงเทพมหานคร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคม นำไปรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำหรับถวายในพระราชพิธีครั้งนี้

 

 

 

หอศาสตราคม และความสำคัญกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่นอกเหนือจากการที่เป็นแหล่งน้ำเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง คือน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีการอภิเษกน้ำก่อนเหมือนอีก 107 แห่ง จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากน้ำศักดิ์สิทธิ์จะผ่านพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรง สรงพระพักตร์และประพรมรอบพระมหามณเฑียรทุกๆ วันพระ หรือวันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ เป็นประจำอยู่แล้ว รวมทั้งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคมได้นำมาใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ตามโบราณราชประเพณีอยู่เสมอ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0