โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำแท้งได้ไหม แค่ไหนถึงมีสิทธิ ชวนสำรวจกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในเอเชีย 

The MATTER

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 08.15 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 07.19 น. • Quick Bite

ในขณะที่ตอนนี้ในไทยกำลังผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายทำแท้งมาตรา 301 เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิทำแท้งได้ตามความต้องการ และจะช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีการประท้วงเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้ง เมื่อจะมีการผ่านร่างกฎหมายชีพจรตัวอ่อน โดยใจความสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือการห้ามทำการยุติการตั้งครรภ์ ถ้าตรวจพบสญญาณชีพจรของตัวอ่อนในครรภ์

การถกเถียงเรื่องการทำแท้ง ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในมุมมองฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าตัวอ่อนในครรภ์นั้นมีเลือดเนื้อ มีชีวิต หากทำแท้งก็เท่ากับเป็นการฆ่าเด็กคนหนึ่ง ในขณะที่อีกมุมก็ใช้คำนิยามทางการแพทย์มายืนยันว่าการทำแท้งนี้ ตัวอ่อนในครรภ์ยังไม่นับเป็นสิ่งมีชีวิต และผู้หญิงควรมีสิทธิในการเลือก เพราะหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปก็อาจเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

ในเอเชียเองก็มีบางประเทศที่อนุญาติให้มีการยุติการตั้งครรภ์ในทุกกรณี แต่บางประเทศก็เข้มงวดกับการยุติการตั้งครรภ์ เราชวนไปสำรวจกันว่าประเทศในเอเชียมีกฎหมายเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

ไทย

ปัจจุบันไทยมีกฎหมายว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ มาตรา 301 - 305 โดยมาตรา 305 นั้นอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้หากการตั้งครรภ์นั้นส่งผลกระทบต่อผู้ตั้งครรภ์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ, ได้รับการวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติ นอกจากนี้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เนื่องจากโดนข่มขืน ถูกบังคับให้ทำอนาจารสนองความใคร่ก็สามารถเข้ารับบริการได้ รวมไปถึงเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ตั้งครรภ์ก็สามารถเข้ารับบริการได้

แต่ปัญหาของกฎหมายมาตรา 301 - 305 นี้คือ การเอาผิดผู้หญิงและหมอผู้ให้บริการก่อน เนื่องจากมาตรา 301 และ 302 นั้นคือการบอกว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิด จึงอาจทำให้เกิดการฟ้องร้อง และต้องขึ้นศาลเผื่อไปแก้ต่างโดยใช้มาตรา 305 เป็นข้อยืนยัน ซึ่งทำให้เกิดความสับสน

นอกจากมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรา 301 เนื่องจากผู้หญิงควรมีสิทธิในการตัดสินใจทำแท้งเพราะเป็นเนื้อตัวร่างกายของเธอ และมาตรา 301 ได้ริดลอนสิทธินั้นไป อ่านเพิ่มเติมเรื่องการเรียกร้องสิทธิในการทำแท้งต่อได้ที่นี่

กัมพูชา

การยุติการตั้งครรภ์ในกัมพูชานั้นทำได้ทุกกรณี และเป็นการทำแท้งเสรี โดยมีข้อกำหนดว่าอายุครรภ์ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่หากมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จะต้องได้รับการยืนยันจากบุคลากรทางการแพทย์ 2 คนขึ้นไปว่าการยุติการตั้งครรภ์นี้จะช่วยชีวิตผู้ตั้งครรภ์ หรือผลพิสูจน์ออกมาว่าครรภ์นี้เกิดจากการถูกบังคับข่มขืน รวมไปถึงหากตัวอ่อนในครรภ์อาจเกิดมาพิการ ก็สามารถยื่นเรื่องขอยุติการตั้งครรภ์ได้

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้หากการตั้งครรภ์อาจทำให้ผู้ตั้งครรภ์ถึงแก่ความตาย ตัวอ่อนในครรภ์พิการ หรือการตั้งครรภ์นี้มีผลสืบเนื่องมาจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา นอกเหนือจากเหตุผลดังกล่าวนั้นถือว่าผิดกฎหมาย แม้จะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ก็ตาม

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

กฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศลาวนั้น อนุญาตให้เพียงสองกรณี คือ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์ หรือการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายของผู้ตั้งครรภ์เอง ก็จะยื่นเรื่องขอทำแท้งได้ แต่ในกรณีอื่นๆ เช่น ถูกข่มขืน หรือตัวอ่อนพิการ กฎหมายยังไม่อนุญาติให้ผู้หญิงทำแท้งได้ รวมไปถึงไม่มีการทำแท้งเสรีด้วย

มาเลเซีย

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในมาเลเซียอนุญาตให้ผู้หญิงทำได้ในสองเหตุผลคือ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์หรือเพื่อสุขภาพกายและใจของผู้ตั้งครรภ์ ในกรณีอื่นๆ เช่น ถูกข่มขืน หรือตัวอ่อนพิการนั้นก็ไม่สามารถขอยุติการตั้งครรภ์ได้ และไม่มีการทำแท้งเสรี

เมียนมาร์

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในพม่า ถือว่าเข้มงวดมากที่สุด เพราะกำหนดให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นี้อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตของผู้ตั้งครรภ์ ในกรณีอื่นๆ นั้นไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เลย ไม่ว่าจะส่งผลต่อสุขภาพ ถูกข่มขืน หรือตัวอ่อนในครรภ์พิการ

ฟิลิปปินส์

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในฟิลิปินส์เองก็เข้มงวดเช่นกัน เพราะอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นี้อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตของผู้ตั้งครรภ์ สำหรับกรณีอื่นๆ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ถือว่าเป็นอาชญากรรม

เวียดนาม

ประเทศเวียดนามมีกฎหมายที่สามารถให้ผู้หญิงเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเสรี ในทุกๆ กรณี ซึ่งนับเป็นปนะเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมายและให้สิทธิผู้หญิงในการเข้ารับบริการได้มากที่สุด

บรูไน

บรูไนเองก็อนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้เพียงแค่เหตุผลเพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์ ในกรณีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์ ตัวอ่อนในครรภ์พิการ หรือการถูกข่มขืนกระทำชำเรา ก็ยังคงเป็นความผิดและผู้หญิงไม่สามารถเข้ารับบริการได้

สิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศเปิดให้ผู้หญิงสามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัดใดๆ เพียงแค่กำหนดอายุครรภ์ที่สามารถเเข้ารับบริการได้ไว้ที่ 24 สัปดาห์เท่านั้น

ไต้หวัน

ไต้หวันมีกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขคือ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์, การตั้งครรภ์ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์และอาจส่งต่อให้เด็กในครรภ์, ได้รับการพิสูจน์ว่าครรภ์เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา แต่ในกรณีเหล่านี้ผู้หญิงในไต้หวันยังต้องได้รับการยินยอมจากสามี หรือครอบครัวเพื่อเข้ารับบริการ และในกรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็ยังมีข้อบังคับว่าจะอนุญาตให้เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์ได้จนอายุครรภ์ถึง 24 สัปดาห์เท่านั้น ยกเว้นว่าอาจส่งอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์ หรือส่งผลต่อสุขภาพกาย

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้มีกฎหมายยุติการตั้งครรภ์คล้ายไต้หวัน คืออยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า เพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์, การตั้งครรภ์ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์และอาจส่งต่อให้เด็กในครรภ์, ได้รับการพิสูจน์ว่าครรภ์เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา การพยายามยุติการตั้งครรภ์ในเหตุผลอื่นๆ ถือเป็นความผิด

อินเดีย

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในอินเดียแม้จะยังไม่ใช้การทำแท้งเสรี แต่ก็อนุญาตให้ทำได้ในกรณี เพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์, การตั้งครรภ์ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์, ได้รับการพิสูจน์ว่าครรภ์เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา, ตัวอ่อนในครรภ์พิการ รวมไปถึงสามารถยื่นขอยุติการตั้งครรภ์ได้หากมีเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ โดยกำหนดอายุครรภ์ที่สามารถเข้ารับบริการได้ไม่เกิน 24 สัปดาห์ 

จีน

ในจีนเปิดให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเสรี และทำได้ในทุกกรณี แต่ไม่สามารถใช้ในกรณีที่จะเลือกเพศสรีระของลูกได้ ซึ่งมักเป็นปัญหาในจีนที่ต้องการลูกชายมากกว่า

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ตั้งครรภ์, การตั้งครรภ์ส่งผลต่อร่างกายของผู้ตั้งครรภ์, ได้รับการพิสูจน์ว่าครรภ์เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็สามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้

อ้างอิงข้อมูลจาก

worldpopulationreview.com

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0