โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำร้าย 'จ่านิว' ทฤษฎีไหนเข้าเค้าที่สุด/นงนุช สิงหเดชะ/บทความพิเศษ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 16 ก.ค. 2562 เวลา 06.03 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 06.03 น.
นง

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ทำร้าย ‘จ่านิว’

ทฤษฎีไหนเข้าเค้าที่สุด

 

กรณีมีผู้ทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจนอาการสาหัสเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพากันปักใจว่าเป็นฝีมือของผู้มีอำนาจหรือฝ่ายสนับสนุนผู้มีอำนาจ เพราะไม่ชอบใจที่จ่านิวเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บ่อยๆ

เหตุการณ์นี้เป็นโอกาสอันงามของนักการเมืองซีกตรงข้ามรัฐบาลที่จะรีบพากันโหมกระพือดิสเครดิตรัฐบาลเพื่อตอกย้ำภาพว่าเป็นเผด็จการ ที่ถึงแม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้วก็ยังเป็นเผด็จการ ไม่ยอมให้ใครแสดงความเห็นต่างหรือต่อต้าน

หากเชื่อตามทฤษฎีนี้ กล่าวคือ เชื่อว่าผู้ก่อเหตุเป็นมืออาชีพ โดยดูจากพาหนะที่ใช้ อาวุธที่ใช้ ลักษณะการจู่โจม ตามที่ซีกตรงข้ามรัฐบาลตั้งข้อสังเกต ก็หมายความว่าผู้ลงมือน่าจะได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือจากทหาร

แต่ก่อนจะเชื่อทฤษฎีนี้ ต้องหยุดคิดก่อนว่า ทำไปแล้วจะคุ้มหรือไม่ เพราะมองอย่างไรก็มีแต่ผลเสียต่อรัฐบาล เนื่องจากหากรัฐบาลจับกุมใครไม่ได้ ก็จะถูกครหาอีกว่าเป็นฝีมือรัฐบาลนั่นแหละ อีกอย่างหนึ่งวันที่ 28  มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บินไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศหรือจี 20 ที่ญี่ปุ่น ในฐานะที่ปีนี้ไทยได้เป็นประธานอาเซียน

นายกฯ ของประเทศไทยกำลังไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีระดับโลก แต่ดันเกิดเหตุการณ์ทำร้ายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล คนที่ไม่ฉลาดมากก็ย่อมคิดได้ว่า มีแต่สร้างภาพติดลบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ถ้าเป็นคนหวังดีและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะลงมือทำแบบนี้หรือ

 

ข้อสังเกตจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่ว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นมืออาชีพที่ได้รับการฝึกทางยุทธวิธีมาอย่างดี ถ้าคิดชั้นเดียวก็จะรีบเชื่อว่าน่าจะเป็นใบสั่งจากผู้มีอำนาจ

แต่ถ้าคิดสองชั้น ก็จะเห็นอีกมุม มุมที่ว่าคนร้ายอาจจงใจจัดฉากทำให้เห็นว่าเป็นมืออาชีพที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี อาจจงใจคัดสรรตั้งแต่จักรยานยนต์และอาวุธที่ใช้ เพื่อให้น่าเชื่อว่าเป็นคนของผู้มีอำนาจในรัฐบาล

แต่ขณะเดียวกันอย่าลืมว่า “มืออาชีพ” นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สังกัดหน่วยงานรัฐบาล อาจเป็นคนนอกราชการที่เคยฝึกยุทธวิธีแล้วไปทำงานรับจ้างให้กับเอกชนหรือนักการเมืองรายใดก็เป็นได้

ในอีกทางหนึ่ง ก็อาจเป็นไปได้ว่า ผู้ก่อเหตุอาจชื่นชอบรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์เป็นการส่วนตัว และลงมือแบบเอกเทศเพราะไม่ชอบใจจ่านิว ที่ออกมาประท้วงบ่อย

บังเอิญอีกเช่นกันว่า เหตุรุมทำร้ายจ่านิวเกิดขึ้นในห้วงที่ประชาชนกำลังเบื่อหน่ายรัฐบาลที่มีปัญหาไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้เสียที ท่ามกลางข่าวการแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล หากฝ่ายตรงข้ามต้องการซ้ำเติมรัฐบาลที่กำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่แล้วด้วยเรื่องจ่านิวก็นับว่าเป็นโอกาสทอง ตีเหล็กตอนร้อน

แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เป็นภาระและความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องหาตัวคนร้ายมาลงโทษ ถ้าจับใครไม่ได้ ก็จะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม

ดังนั้น รัฐบาลต้องแก้เกมให้ทัน ไม่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามปลุกกระแสขึ้น

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโหมประโคมว่าป่าเถื่อน บ้านเมืองไร้ขื่อแป ทั้งที่มีการเลือกตั้งแล้วแต่ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การโหมประโคมทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะตีปี๊บว่าถึงอย่างไรรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังดีกว่ารัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้ง พูดให้ชัดก็คือพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมีจิตใจประชาธิปไตยกว่า

แต่ก่อนจะไปถึงบทสรุปนั้น อย่าลืมย้อนไปดูเหตุการณ์รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะเห็นว่าไม่ได้ต่างจากรัฐบาลทหารเท่าไหร่ในแง่สิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง

เผลอๆ “ป่าเถื่อน” กว่า เพราะไม่ใช่แค่บาดเจ็บ แต่เสียชีวิตไปเยอะ แต่ก็จับกุมใครไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลแบบนับครั้งไม่ถ้วน คนที่ยิงระเบิดใส่ศาลอาญา คนที่วางระเบิดสถานีรถไฟฟ้า คนที่ยิงถล่มบ้านพักของฝ่ายที่เห็นต่าง ฯลฯ

แต่ก็ไม่เห็นใครสักคนที่ออกมาเย้วๆ กรณีจ่านิวอยู่ในขณะนี้ส่งเสียงประณามรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นเลย

 

หากจะฟื้นฝอยไปไกลกว่านั้น หลายคนก็คงจำได้ว่า พวกป่าเถื่อนยกกำลังพร้อมอาวุธไล่ทำร้ายประชาชนต่างสีจนบาดเจ็บสาหัสหลายคนแบบอุกอาจไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย (น่ากลัวยิ่งกว่ายุคนี้หลายเท่า) เพียงเพราะชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่คนป่าเถื่อนเหล่านี้อ้างว่าตัวเองรักประชาธิปไตย

บางพรรค (คนรุ่นใหม่) ก็อาการหนัก เพ้อพกอยู่กับเรื่องชนชั้น นำเรื่องชนชั้นมาโยงกับเรื่องจ่านิว อ้างว่าจ่านิว ตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายเพราะไม่มีต้นทุนทางสังคม ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีลักษณะเป็นปัญญาชน หรือชนชั้นกลางระดับสูง หรือนักวิชาการ จึงไม่มีใครรับผิดชอบ

จะเห็นว่าแม้แต่เรื่องเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ยังถูกนักการเมืองที่เพ้อพกเรื่องชนชั้นนำเรื่องชนชั้นมาโยง ดูเป็นตรรกะที่ตลก บางคนถึงกับแซวว่า ไหนบอกว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ ไฉนจึงมาดูถูกพวกเดียวกันโดยหาว่าไม่ใช่ปัญญาชน

อันที่จริงถ้าจะบอกว่าจ่านิวไม่ได้มีฐานะร่ำรวยก็ถือว่าตรงข้อเท็จจริง แต่การบอกว่าไม่ใช่ปัญญาชน ไม่มีต้นทุนทางสังคม เป็นการดูถูก เพราะจ่านิวการศึกษาไม่ใช่ธรรมดา จบมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างธรรมศาสตร์

กรณีจ่านิว ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายลงมือ หากดูบทสรุปสุดท้าย คนที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดคือซีกการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0