ถาม: ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญมาก ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยจริงหรือไม่
ตอบ: การทำบุญเป็นเรื่องหนึ่งที่มักเข้าใจกันผิด ๆ คือไปเข้าใจว่า การทำบุญเจาะจงเฉพาะการถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ หรือแก่วัดเท่านั้น เช่น ถวายสังฆทาน กฐินทาน เสนาสนะทาน วิหารทาน ฯลฯ แต่แท้ที่จริงแล้วนั่นเป็นเพียงปลายทางหนึ่งของการทำบุญ เพราะผู้รับไม่ได้จำกัดแต่เพียงพระสงฆ์ จะเป็นบิดามารดาซึ่งเป็นพระในบ้านก็ได้ ให้แก่คนทั่วไปที่ตกทุกข์ได้ยากก็ได้ หรือแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉานก็ได้เช่นกัน
การบำเพ็ญบุญกิริยาในพระพุทธศาสนามีกันอยู่ ๓ วิธี คือ ๑. การให้ทาน (การถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ จัดอยู่ในทาน) ๒. การรักษาศีล และ ๓. การภาวนา ซึ่งเป็นบุญที่สูงขึ้นไปตามลำดับ
บางคนเข้าใจว่า บุญคือนามธรรมอะไรสักอย่างที่เมื่อตนทำไปแล้ว สิ่งนั้นจะถูกเก็บไว้เหมือนการสะสมแต้ม แล้ววันหนึ่งมันจะส่งผลย้อนกลับมาหาตัวเอง ให้ได้ประสบสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ในชีวิต หรือกระทั่งได้รับผลเมื่อตนตายจากโลกนี้ไปแล้ว เช่นได้ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ มีวิมานทอง มีนางฟ้าเป็นบริวาร ฯลฯ (ตามแต่ความเชื่อที่ตนรับรู้มา)
คำถามลักษณะนี้ ที่เห็นตอบ ๆ กันอยู่ ดูจะคลุมเคลือไม่ชัดเจน ไม่อาจตอบโจทย์กับบรรดานักศึกษาปัญญาชนที่มีวิถีชีวิตบนหลักการของเหตุผลได้ ดังนั้นอาตมาจะตอบบนหลักการของเหตุและผล ให้สบหลักวิทยาศาสตร์
กล่าวคือ..วิสัยของปุถุชนนั้นมักจะ "ทำเอาหรือทำเข้า" มากกว่า "ทำออก" กันทั้งนั้น เพราะความไม่รู้ (หรือไม่ใส่ใจ) ถึงกฏธรรมชาติ ๓ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือ.. สรรพสิ่งล้วนไม่จีรัง (อนิจจัง) คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) และไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ทุกชีวิตอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์นี้ ขึ้นตรงต่อสัจธรรมนี้กันทั้งหมด
และสิ่งที่เรียกว่า "คน" นั้น ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้ว จะพบว่าไม่มีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังขันธ์ห้านี้ ที่จะยึดถือได้ว่า "เป็นตัวตนของตน" เพราะไม่มีแก่นสารที่คงทน
ความจริงหรือสัจจะนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือความจริงโดยสมมติ (สมมติสัจจะ) และความจริงแท้ (ปรมัตถ์สัจจะ) เวลาที่เราใช้คำพูดในชีวิตประจำวัน เช่น "เธอ, ฉัน, มัน" ฯลฯ เราไม่ได้โกหกกัน เราพูดความจริงตามสมมุติของโลก แต่ว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มี "เรา" หรือ "สัตว์" ในความจริงแท้เลย คือไม่มีตัวตน บุคคล เรา เขา (อนัตตา)
การกล่าวถึงกฏไตรลักษณ์ จึงเป็นการสรุปรวมสู่ความ "ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น" สถานเดียว แต่เพราะคนเรามักหลงไปยึดมั่นถือมั่น จึงอุปโลกน์ตัวตนขึ้นมาเป็น "ผู้เสพผู้เสวย" ทำให้การกระทำอะไรต่าง ๆ แม้แต่การทำความดี ก็มักอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ คือต้องมีอัตตาเพื่อหวังไปรับผล
ที่ทุกชีวิตอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ มันแปลว่าเราทุกคนนั้นล้วน "ว่างจากตัวตน" อยู่แล้วแต่พื้นเดิม เป็นอนัตตากันอยู่แล้ว แต่ที่คนเรายังทุกข์ ก็เพราะความหลงผิดคิดว่ามันไม่ว่าง ดังที่หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้กล่าวไว้ว่า "ทุกอย่างมันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด"
มีพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า.. "ปุตฺตา มตฺถิ ธน มตฺถิ อิติ พาโล วิหญฺญติ อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํ ฯ" คนเขลาสาระวนแต่เรื่องที่ว่า.. บุตรเรามี ทรัพย์เรามี ก็ตัวตนของตนยังไม่มี แล้วจะมีบุตรมีทรัพย์มาแต่ที่ไหน?
ทีนี้ตัดมาที่เรื่อง "บุญ" กันต่อ แล้วค่อยโยงไปถึงคำถามที่ถาม
คำว่า "บุญ" มีใช้มาก่อนยุคพุทธกาลแล้ว บุญหมายถึงผลของการทำความดี ที่จะเป็นเสบียงติดตัวไป เมื่อพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นในโลก ก็มีคำว่า "กุศล" เพิ่มขึ้นมา กุศลแปลว่าความฉลาด (ในการกระทำเพื่อให้เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา) เป็นปัญญาทางธรรมที่นำไปสู่ความดับทุกข์
บุญแต่เดิมจึงเป็นเรื่องของโลกิยธรรม เพราะยังมีอุปธิ ยังก่อให้เกิดขันธ์ เกิดอัตตา จิตใจยังหวังผลอย่างนั้นอย่างนี้ ระคนไปด้วยกิเลส (เพราะคิดว่ามีอัตตาไปเสพย์ผลบุญนั้น)
เมื่อบุญมาผนวกกับกุศล เกิดเป็นการประกอบกรรมดีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นไป เป็นนิรูปธิ (คือบุญที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสแอบแฝง)
ดังพุทธภาษิตที่ว่า "ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย" "บุคคลควรศึกษาบุญ" ซึ่งก็คือให้เรียนรู้ฝึกให้ก้าวหน้างอกงามต่อไป ไม่หยุดอยู่แค่บุญที่ทำ ๆ กันอยู่แบบหวังผลตอบแทน แต่ให้ก้าวต่อไปให้เป็นบุญที่บริสุทธิ์หมดจด ทำบุญแบบปิดทองหลังพระ ทำความดีเพื่อความดี ไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ (เพราะอนัตตาอยู่แล้ว) มีแต่ความดีที่ปรากฏ
บุญที่แท้จริง จึงประกอบด้วยกุศลธรรม เป็นการทำความดีทางกาย วาจา ใจ เป็นไปเพื่อการขูดเกลากิเลส กำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ ออกไปจากจิตใจ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง เป็นความสุขใจความสบายใจ
มาถึงคำถามที่ว่า.. การทำบุญอย่างไรให้ได้บุญมาก ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยจริงหรือไม่?
ขอตอบว่า..
เมื่อทำบุญโดยไม่มีตัวประธาน (ผู้ทำบุญ-อัตตา)
กิริยา (การกระทำความดีนั้น ๆ)
กรรม (ผลตอบแทน หรือผลใด ๆ ที่เกิดขึ้น)
มันก็เป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา)
เจริญพร
พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ
วัดปากน้ำ นนทบุรี
สำหรับผู้มีคำถามธรรมะ อยากไขข้อข้องใจทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล: dhammaboxes@gmail.com
ความเห็น 61
BEST
ทำบุญกับพ่อแม่ครับ ปรนนิบัติเลี้ยงดูท่านรับรองว่ามากกว่าทำบุญกับพระอรหันต์แน่นอนครับ รองลงมาคือให้อภัยหรืออโหสิกรรมครับ
16 ต.ค. 2561 เวลา 22.58 น.
คุณากร
BEST
การทำดีเพื่อความดีนี้ถูกต้อง
แม้ปิดทองหลังองค์พระอย่าหวั่นไหว
ใครไม่รู้ใครไม่เห็นช่างปะไร
ขอเพียงใจเรารู้ดีแค่นี้พอ
16 ต.ค. 2561 เวลา 13.51 น.
BEST
ทำบุญ 1 ล้านบาท หรือ 20 บาท ก็ได้บุญเท่ากัน
ถ้ามาบอกว่าทำมากได้มาก มันผิดแล้ว
จิตป่วยแน่นอน การทำบุญเป็นเรืองของใจ
ที่ทำแล้วใจเป็นสุข ไม่ใช่ปริมาณ
16 ต.ค. 2561 เวลา 22.46 น.
$note
ขึ้นอยู่กับเจตนาในการทำบุญ ต้องทำด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ใช่ทำเอาหน้า จึงจะได้บุญเยอะ
เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป (พุทธพจน์)
16 ต.ค. 2561 เวลา 14.02 น.
@...
ขึ้นชื่อว่าการทำบุญนั้น ก็ย่อมที่จะเริ่มต้นมาด้วยจิตใจเสมอ และในการทำบุญนั้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไร ซึ่งนั่นก็ย่อมที่จะได้รับในอานิสงฆ์ของผลบุญเท่าเทียมกันเสมอ เพราะทุกอย่างที่ได้ทำนั้นมันเกิดขึ้นก็เพราะในจิตศรัทธาของตัวเรา.
16 ต.ค. 2561 เวลา 20.00 น.
ดูทั้งหมด