โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำงานที่เดิม แต่เงินเดือนแทบไม่ขึ้น โบนัสก็น้อย ความจงรักภักดีไม่มีความหมายเหรอคะพี่

THE STANDARD

อัพเดต 16 ม.ค. 2562 เวลา 07.50 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2562 เวลา 17.01 น. • thestandard.co
ทำงานที่เดิม แต่เงินเดือนแทบไม่ขึ้น โบนัสก็น้อย ความจงรักภักดีไม่มีความหมายเหรอคะพี่
ทำงานที่เดิม แต่เงินเดือนแทบไม่ขึ้น โบนัสก็น้อย ความจงรักภักดีไม่มีความหมายเหรอคะพี่

Q: หนูทำงานที่เดิมมา 4 ปีแล้ว แต่เงินเดือนไม่เคยขึ้นเลย แถมได้โบนัสมาน้อยเหมือนได้เงินทอนเลยค่ะ ไม่มีกำลังใจทำงานเลย อยู่ไปเงินเดือนก็คงไม่ขึ้น ลาออกดีไหมคะ

 

Q: หนูได้ทำงานที่บริษัทในฝันตั้งแต่เรียนจบ อยู่ที่นี่มา 5 ปีแล้ว แต่สิ่งที่หนูเจ็บปวดก็คือ หนูได้เงินเดือนเพิ่มน้อยมาก มันไม่เหมือนเวลาที่ลาออกไปที่ใหม่ซึ่งได้เงินเดือนเพิ่มมากกว่าอยู่ที่เดิม ที่เจ็บคือเพื่อนร่วมงานบางคนลาออกไปแล้วกลับมาสมัครงานที่นี่ใหม่ ได้ทั้งเงินเดือนและตำแหน่งแบบก้าวกระโดดกว่าคนที่ยืนมานานอีก ความจงรักภักดีไม่มีความหมายเลยเหรอคะพี่

A: เงินเดือนไม่ขึ้นมา 4 ปี… ปีที่ 2 พี่ก็ไปแล้วน้อง! ฮ่าๆ อันนี้ล้อเล่นนะ

 

พี่สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของน้องทั้งสองคน และพี่คิดว่าประเด็นของทั้งสองคนเป็นเรื่องการอยู่ที่ทำงานเดิมแล้วเงินเดือนขึ้นน้อย ทั้งที่ตัวเองอยู่ที่เดิมมาหลายปี แต่ก็รู้สึกว่าองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญ เลยขออนุญาตรวบตึงตอบน้องทั้งสองคนในรอบเดียว

 

อย่างแรก พี่เข้าใจครับว่ามันคือความเจ็บปวดของคนทำงาน เป็นเรื่องธรรมดาที่การเติบโตของเงินเดือนด้วยการย้ายงานใหม่จะมากกว่าการอยู่ที่เดิม ฟังดูไม่แฟร์สำหรับคนที่ทำงานที่เดิมนานๆ แต่มันก็เป็นแบบนี้จริงๆ ครับ

 

ยิ่งเจ็บน่าดูนะครับที่ได้เห็นบางคนลาออกไปแล้วกลับมาใหม่พร้อมตำแหน่งใหญ่กว่าเดิม เงินเดือนมากกว่าเดิม คนที่อยู่มานาน ไม่ได้ไปไหน ก็คงเสียความรู้สึกเป็นธรรมดา

 

ไม่ได้พูดเข้าข้างบริษัทนะครับ แต่เป็นไปได้ไหมครับว่าการทำงานอยู่ที่เดิมนานๆ ทำให้เรามีทักษะความสามารถที่จำกัด ในขณะที่การลาออกไปทำงานที่อื่นบ้าง ได้เห็นโลกการทำงานแบบอื่นๆ ได้เพิ่มเติมความสามารถอื่นๆ บ้าง อาจเป็นสิ่งที่บริษัทของน้องๆ มองหาอยู่ ไม่ใช่การมองหาคนที่มีความสามารถเท่าเดิม

 

เช่น คนที่ลาออกไปนั้น เมื่อเขากลับมาสมัครงานใหม่ เขากลับมาพร้อมกับความสามารถใหม่ในแบบที่บริษัทเดิมไม่สามารถสร้างสิ่งนี้ได้ บริษัทอื่นๆ ข้างนอกไปทำให้เขามีความสามารถใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งบริษัทเดิมทำไม่ได้ พอกลับมาบริษัทก็เลยให้คุณค่ากับคนเหล่านั้นมากกว่า

 

ฟังดู Make Sense ไหม ก็เข้าใจได้ครับ บริษัทย่อมให้คนที่มีคุณค่า มันอยู่ที่ว่าคำว่า ‘คุณค่า’ ที่บริษัทมองหานั้นคืออะไร และมันมีในตัวเราหรือเปล่า

 

ถ้าสมมติว่าวัดจากความสามารถแล้ว คนที่อยู่ที่เดิมก็มีความสามารถไม่ต่างกับคนเดิมแต่ย้ายมาจากที่ใหม่นักหรอก แต่บริษัทดันไปให้คุณค่ากับคนเดิมที่เข้ามารอบใหม่มากกว่า ผมว่าองค์กรนั้นก็มีปัญหาแล้วล่ะ ลองคิดดูว่าถ้าพนักงานจับไต๋นี้ได้ว่า “อ๋อ! วิธีที่จะเติบโตที่นี่ได้คือให้อยู่ที่นี่แป๊บหนึ่งแล้วลาออกไปอยู่ที่อื่นถึงค่อยกลับมาใหม่ โตกว่าเดิมด้วย” ใครมันจะอยู่ทำงานเดิมนานๆ ล่ะครับ เดี๋ยวก็ลาออกไปใหม่ และเขารู้ดีด้วยนะว่าออกไปเดี๋ยวก็กลับมาได้ เดี๋ยวบริษัทนี้ก็ให้เงินเดือนเยอะกว่าเดิม กลับมารอบใหม่พร้อมตำแหน่งใหม่ สบายใจแฮ เย้!

 

พี่ว่าบริษัทที่ไม่ให้คุณค่ากับคนทำงานก็จะได้คนที่ไม่จงรักภักดีแบบนี้แหละครับ คู่ควรกันดี ฮ่าๆ

 

ถ้าเราเห็นตัวอย่างอยู่แล้ว ว่าบริษัทนี้ให้คุณค่ากับอะไร เราต้องกลับมามองตัวเองครับ ว่าแล้วคุณค่าเราตรงกันหรือเปล่า สมมติบริษัทไม่ได้ให้คุณค่ากับความจงรักภักดี เรามีความจงรักภักดีไป มันก็ไม่ตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน อันนี้พูดกันอย่างแฟร์ๆก็อาจจะเจ็บปวดหน่อย แต่ว่าเข้าใจได้ไหม เข้าใจได้มากๆ ต้นทุนในการสร้างพนักงานขึ้นมาใหม่ย่อมสูงกว่าการรักษาพนักงานไว้ แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทจะเข้าใจสิ่งนี้หรอกนะครับ

 

โจนิ มิตเชลล์ เคยร้องเพลงว่า “Don’t it always seems to go that you don’t know what you’ve got til it’s gone” บางทีกว่าจะรู้ว่ามีอะไรอยู่ในมือก็เมื่อวันที่เสียมันไปแล้ว ชีวิตมันก็เป็นแบบนั้นแหละครับ หลายครั้งบริษัทก็ต้องเสียคนที่ดีมีความสามารถไป ก็เพราะไม่รักษาเขาไว้ในตอนที่เขายังทำงานอยู่

 

พี่คิดว่านี่คือสิ่งที่ทุกองค์กรควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า องค์กรจะมีวิธีรักษาพนักงานที่มีฝีมือและจงรักภักดีกับองค์กรไว้ได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะมีพนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองได้รับการปฏิบัติที่ทำร้ายจิตใจ จนมีคำถามว่า “ความจงรักภักดีไม่มีความหมายจริงๆ ใช่ไหม”

 

มันเจ็บนะครับ เจ็บมากด้วย

 

ถ้าพี่จะถามน้องกลับบ้างว่า หลายปีที่ผ่านมานั้น ทั้งๆ ที่เงินเดือนขึ้นน้อย ทำไมน้องถึงยังอยู่ที่บริษัทเดิม แล้วเหตุผลนั้นที่เราเคยมีและทำให้เราตัดสินใจอยู่ที่เดิม จงรักภักดีเหมือนเดิม ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้เรายังอยากอยู่ที่นี่ไหม

 

พี่คิดว่า ถ้าน้องพบแล้วว่าที่นี่เป็นที่ทำงานที่น้องชอบมาก ตอบโจทย์ทุกอย่าง ณ เวลานี้ ไปจนถึงในอนาคตที่ไม่ไกลเกินได้ และน้องอยากเติบโตที่นี่จริงๆ พี่อยากให้น้องเข้าไปคุยกับหัวหน้า หัวหน้าคะ หนูรักที่นี่ หนูอยากเติบโตที่นี่ หนูไม่คิดจะไปไหน แต่หนูติดที่เงินเดือนมันขึ้นน้อยมาก หัวหน้าคิดว่าบริษัทมีแนวทางในการวาง Career Path ให้หนูอย่างไรได้บ้างคะ เป็นไปได้ไหมครับว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยรู้เลยว่าน้องอยากทำงานที่นี่นานๆ น้องรักที่นี่ น้องอยากเติบโตที่นี่ ลำพังแค่การ ‘ไม่ลาออก’ ไม่ได้บอกเขาได้ดังพอ น้องถึงต้องเดินไปบอกเขาถึงที่ให้เขาได้ยินดังๆ

 

เหมือนแฟนน่ะครับน้อง ถ้ามีคนเดินมาบอกว่า “ฉันอยากอยู่กับเธอ ฉันจะภักดีกับเธอ” เราคงชื่นใจนะครับ และถ้าเราเห็นคุณค่าเขา เราคงหาทางทุกวิถีทางเพื่อรักษาเขาไว้ เพราะเรารู้ว่าคนคนนี้มีความหมาย เขาอยากจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา

 

แต่ก็เหมือนแฟนอีกนั่นแหละครับ บางทีเขาก็อาจจะไม่ได้ต้องการเราขนาดนั้น เห็นเป็นของตายว่างั้นเถอะ คนใหม่มันน่าตื่นเต้นกว่าคนเก่านี่นะ

 

ถ้าน้องบอกแล้ว และหัวหน้ามีแนวทางที่จะรักษาเราไว้ พี่คิดว่าในจุดนี้เราก็สมหวังระดับหนึ่ง แต่ถ้าบอกแล้ว หัวหน้าเองก็ไม่มีแนวทางว่าจะให้เงินเดือนเราเพิ่มขึ้นได้ เราก็จะได้รู้ไว้ และมาพิจารณาต่อครับ แต่อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าบริษัทอยากมีเราอยู่นานๆ ไหม

 

สิ่งที่พี่จะบอกก็คือ การอยู่ที่ใดที่หนึ่งนั้น สิ่งที่เราต้องมีก็คือ ความสามารถและความจงรักภักดี สองอย่างนี้ต้องมาควบคู่กัน ถ้าเรามีความจงรักภักดีอย่างเดียว แต่ไม่มีฝีมือ เราก็ไม่มีความหมาย เพราะเราก็จะเป็นแค่คนที่เกาะขาเก้าอี้ไว้ไม่ให้ไปไหน แต่ถ้าเรามีฝีมือแต่ไม่มีความจงรักภักดี บริษัทก็ไม่ได้อยากได้เราเหมือนกัน เพราะรู้ว่าจ้างเรามาก็คงอยู่ไม่นาน ความรู้สึกอยาก ‘ลงทุน’ ในตัวเราก็จะน้อยลง พี่ถึงบอกว่าคนที่มีประวัติลาออกบ่อยๆ นี่เวลาไปสมัครงานจริงๆ บริษัทไหนก็ไม่ค่อยกล้ารับเท่าไรหรอกนะครับ สุดท้ายการไม่มีความจงรักภักดีนี่แหละที่จะกลับมาทำลายเราเอง เพราะฉะนั้น เราต้องมีทั้งความสามารถและมีความจงรักภักดี

 

ทีนี้ที่น้องบอกว่า “หรือความจงรักภักดีไม่มีความหมาย” พี่เลยอยากชวนคุยว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กรนี่มันคืออะไรกัน

 

ความจงรักภักดีในที่นี้ไม่ได้แปลว่าการสยบยอมกับทุกการกระทำของบริษัท หลับหูหลับตาทำตามที่บริษัทบอกทุกอย่าง อันนั้นแปลว่าเชื่องครับ ในมุมบริษัทก็อาจจะง่ายดีที่พนักงานเชื่อง เพราะไม่หือไม่อือใดๆ ก้มหน้าทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่ปัญหาก็คือ เราจะได้แต่คนที่เอาตัวมาทำงาน แต่ไม่ได้เอาใจมาทำงานด้วย การทำงานที่ไม่ได้ใส่หัวใจลงไปก็จะได้งานที่ไม่ดีออกมา

 

ความจงรักภักดีสำหรับพี่แล้วคือ การให้เกียรติที่ทำงาน ไม่ทำอะไรที่ทำร้ายที่ทำงาน รักที่ทำงาน อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้ที่ทำงานเติบโต เห็นปัญหาในที่ทำงานก็อยากจะแก้ไข นั่นแหละครับ ความจงรักภักดีที่แท้จริง

 

เห็นไหมครับ มันเป็นคนละเรื่องกับการอยู่นาน อยู่นานไม่ได้แปลว่าจงรักภักดีนะครับ อยู่นานอาจแปลว่าก็แค่ไม่ไปไหนหรือไม่มีที่ไปก็ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องทำงานแบบที่ทำให้เราสามารถแยกออกมาจากกลุ่ม ‘ไม่ยอมไปไหนเพราะไม่มีที่ไป’ และให้เราอยู่ในกลุ่ม ‘อยู่เพราะตัวเองมีคุณค่า และจะอยู่เพื่อทำให้ที่นี่มีคุณค่า’

 

ปัญหาที่หลายคนเจอคือ เรียกการอยู่นานอย่างเดียวว่าความจงรักภักดีนี่แหละครับ แต่การที่เราทำงานอย่างมีคุณค่าโดยมีกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และทำให้บริษัทที่อยู่เติบโตมีคุณค่าไปด้วยต่างหากครับที่เรียกว่าความจงรักภักดีที่แท้จริง

 

ประเด็นต่อมาคือ ไม่ใช่เพียงบริษัทนะครับที่ต้องการความจงรักภักดี พนักงานเองก็ควรมองหาความจงรักภักดีจากบริษัทเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่เราต้องมีให้กันและกัน ความสัมพันธ์ถึงจะไปรอดได้ เราให้คุณค่ากับบริษัทแล้ว บริษัทให้คุณค่ากับเราหรือเปล่า มันไม่ควรจะเป็นความรักข้างเดียว ว่าไหมครับ

 

ถ้าเราเจ๋งจริง และทำให้บริษัทเห็นว่าควร ‘ลงทุน’ ในตัวเรา ผลประโยชน์ต่างๆ มันก็จะตามมาครับ แต่ถ้าเราเจ๋งจริง แต่บริษัทมองไม่เห็นสิ่งที่เราทำ พี่คิดว่า ถ้าน้องเจ๋งจริงก็ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย อยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้ที่นั่นเป็นที่ที่ทำให้น้องฉายแสงได้มากที่สุด จะที่เดิมหรือที่ใหม่ก็แล้วแต่

 

ไม่จำเป็นว่าเราต้องยึดติดว่า ทำงานที่เดียวนานๆ ดีกว่า หรือลาออกไปที่ใหม่ดีกว่า พี่อยากให้น้องเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วดูว่าอยู่ที่ไหนแล้วน้องเติบโตได้อย่างที่น้องต้องการ ไม่ว่าจะเป็นที่ใหม่หรือที่เดิม ถ้ามันตอบโจทย์เรา ที่นั่นคือที่ที่ดีครับ

 

แล้วไปทำให้รู้ว่าความจงรักภักดีมีความหมายนะครับ

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล chayatat.v@gmail.com หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0