โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทำความรู้จักกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4: รวดเร็วและ disrupt ในวงกว้างกว่าครั้งไหนๆ

Finnomena

อัพเดต 22 ก.ค. 2562 เวลา 09.25 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 09.24 น. • Investment Reader

หลังจากที่เคยมีบทความซึ่งแตะประเด็นใหญ่มาแล้ว บทความนี้ก็ขอแตะประเด็นใหญ่อีกซักรอบ แต่คราวนี้เป็นประเด็นใหญ่กว่าเดิมมากๆ ครับ นั่นก็คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงนี้

โลกเราผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมา 3 รอบแล้วก่อนหน้านี้ คือ

ครั้งที่ 1 ที่เรารู้จักกันดีคือการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้ส่งผลให้หลายประเทศมีการเติบโตของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งสูงขึ้น รวมถึงยุคล่าอาณานิคม

ครั้งที่ 2 การค้นพบไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปภายใน  วัสดุเคมีภัณฑ์ การเดินทางทางอากาศ ทำให้โลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

ครั้งที่ 3 การปฏิวัติระบบดิจิตอล (คอมพิวเตอร์, Smart Phone เป็นต้น) ก็เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้สะดวกสบายและเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น

และ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution, 4IR) เป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ทั้งรวดเร็วและทำให้เกิดการ disruption ในวงกว้างกว่าครั้งไหนๆ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน อาชีพ ทักษะที่ใช้ และวิถีชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมากแต่ว่าแต่ละครั้งที่เปลี่ยนก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีชีวิตที่แย่ลง ซึ่งประเด็นนี้ World Economic Forum (WEF) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนท้ายของบทความนะครับ

การปฏิวัติอุตสาหรรมในแต่ละครั้งเกิดขึ้นได้โดยมีการต่อยอดมาจากการปฏิวัติครั้งก่อนหน้า เช่น การค้นพบไฟฟ้าทำให้ระบบดิจิตอลในการปฏิวัติครั้งที่ 3 มีแหล่งพลังงานและทำงานได้

ครั้งที่ 4 ก็เช่นกัน ต่อยอดมาจากการปฏิวัติดิจิตอลในครั้งที่ 3 เนื่องจากเทคโนโลยีส่วนมากในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีฐานมาจากการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็วขึ้น ทำให้แนวคิดที่เคยมีการคิดค้นขึ้นมาในอตีตแต่ไม่ประสบความสำเร็จในอตีตประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น AI (Artificial Intelligent) ก็เป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1956 แต่เนื่องจากประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นยังมีไม่มากพอที่จะทำให้ AI มีความสามารถมากพอในการใช้งานเป็นวงกว้างได้ จึงเป็นเทคโนโลยีที่ถูกแช่แข็งไว้เป็นทศวรรษ (ที่จริงมีปัญหาทางด้านอื่นๆ เช่นเงินทุนสนันสนุนด้วย แต่เรื่องความเร็วในการประมวลผลก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน) จนมาปรากฏตัวให้เราได้เห็นในทุกวันนี้ และยังมีแนวคิดอีกมากที่จะสามารถเป็นจริงได้จากประสิทธิภาพการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันความเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ก็เกือบมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว (จากแนวคิดที่เพิ่มความเร็วและหน่วยการเก็บข้อมูลจากการลดขนาดชิป) หมายความว่าเราไม่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์มีชิปที่เล็กลงได้มากกว่านี้อีก

การจะยกระดับความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์จึงต้องอาศัยแนวคิดใหม่ ซึ่งแนวคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ แนวคิดทางทฤษฏีควอนตัม ซึ่งนำมาสู่การสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่จะมีความสามารถในการประมวลผลมากกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็น 100 เท่า !!! ซึ่งสามารถนำไปใช้วิเคราะห์วัสดุใหม่ๆ หรือวิเคราะห์ DNA ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมหาศาล จะช่วยสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆมากมาย รวมทั้งทำให้คนเรามีชีวิตที่ยาวนานขึ้น มีสุขภาพดีขึ้นจากการรักษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงของโรคก่อนที่จะเกิดจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของแต่ละคน

เทคโนโลยีอย่างอื่น เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้การผลิตสินค้าอาจจะไม่จำเป็นต้องมาจากโรงงานผลิตแล้วก็ได้เพราะว่าเราสามารถสั่งพิมพ์สินค้าบางอย่างขึ้นใช้เองที่บ้าน หรือการสร้างบ้านในอนาคตอาจจะไม่ต้องใช้คนงานก่อสร้างแล้วก็ได้เพราะเราอาจจะใช้เครื่องพิมพ์สามมิติขนาดใหญ่สร้างอาคารขึ้นมาได้ (ในส่วนนี้ส่วนตัวผมคิดว่าอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น เราอาจจะเลือกแบบบ้านที่ไม่ซ้ำกับใครในหมู่บ้านเลยก็ได้เพราะว่าการพิมพ์สามมิติ (บางประเภท) ใช้แค่ตัวเครื่องพิมพ์ วัสดุเหลวที่จะใช้สร้างบ้านโดยการพิมพ์และแบบบ้านเท่านั้น)

นี่เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่ หลักๆ 4 ด้าน (อ้างอิงจากหนังสือ “ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 Shaping the Fourth Industrial Revolution”) ได้แก่

การขยายเทคโนโลยีดิจิตอล (เทคโนโลยีการประมวลผลใหม่ๆ, Block Chain และ Internet of Things หรือ IOT) การปฏิรูปโลกกายภาพ (AI, วัสดุล้ำสมัย และการพิมพ์สามมิติ) การเปลี่ยนแปลงมนุษย์ (เทคโนโลยีชีวภาพ, ประสาทเทคโนโลยี และ ความจริงเสมือน (Virtual Reality ,VR) กับ ความจริงเสริม (Augmented Reality , AR)) การบูรณาการสิ่งแวดล้อม (การดักจับ กักเก็บ จัดส่งพลังงาน, วิศวกรรมดาวเคราะห์ (Planet Engineer) และเทคโนโลยีอวกาศ)

สำหรับรายละเอียดของแต่ละเทคโนโลยีขอไม่กล่าวถึงมากไปกว่านี้นะครับ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่มากมาย แต่ที่จะกล่าวถึงต่อไปคือผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้และแนวทางในการป้องกันปัญหามากกว่า

จะเกิดผลกระทบอะไรบ้างจากการปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่ 4 ประเด็นหลักๆ คือ

1. ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงเทคโนโลยีจะส่งผลให้มีผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลและมีชีวิตที่ดีขึ้นมาก ซึ่งจะต่างกับคนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอย่างมาก นั่นอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น อาจจะเกิดการอพยพข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ไปสู่ประเทศที่เข้าถึงเทคโนโลยีมากกว่าและมีความเป็นอยู่ดีกว่า

2. การว่างงานจากการถูกแทนที่ด้วย AI และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ จริงอยู่ว่ามีการสร้างงานใหม่แต่ว่างานใหม่ที่สร้างขึ้นใช้ทักษะในการทำงานที่ต่างจากเดิมมากทำให้อาจจะมีคนที่ปรับตัวมาทำงานใหม่ได้น้อย

3. การนำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้อาจจะมีผลกระทบกับผู้ใช้ สังคม เศรษฐกิจ หรือว่าสภาพแวดล้อมได้ เช่น เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่อาจจะส่งผลต่อพันธุกรรมของมนุษย์ในระยะยาวหากมีการตัดต่อ DNA  และนาโนเทคโนโลยีเมื่อเกิดการปนเปื้อนไปในสภาพแวดล้อมแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรก็ยากจะคาดเดา หรือกรณีเงิน Cryptocurrency ที่ออกมาใหม่เช่น Libra ก็อาจจะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของธนาคารกลางได้ เป็นต้น

4. สืบเนื่องจากข้อ 1 คือความแตกต่างกันอย่างมากของเศรษฐกิจประเทศที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยียุคใหม่กับประเทศที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายอาจจะได้รับผลกระทบนี้มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับแนวทางในการแก้ไข อ้างอิงมาจาก WEF (จากหนังสือ 4IR นะครับ) ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ

1. การเชื่อว่าเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่สิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนเราและสังคมของเราแบบที่ควบคุมไม่ได้ ที่จริงแล้วเราสามารถออกแบบและกำหนดได้ก่อนที่จะมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ว่าจะใช้อย่างไรและเพื่ออะไร เรียกว่าการปลูกฝังคุณค่า (Value) ของเทคโนโลยี พูดง่ายๆ คือต้องมีการร่วมกันกำหนดว่าเทคโนโลยีจะถูกนำไปใช้อย่างไรเพื่อที่จะมีประโยชน์ต่อคนแต่ละคน สังคม และสภาพแวดล้อมมากที่สุดเพราะโดยส่วนมากเทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นโดยคนกลุ่มเล็กๆ แต่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้นการวางรากฐานความคิดบางอย่างที่ทำให้ทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยี บริษัทที่นำเทคโนโลยีไปใช้ รัฐบาลประเทศต่างๆ นักศึกษา พนักงานบริษัทและคนทั่วไปเข้าใจถึงศักยภาพและผลกระทบของเทคโนโลยีก่อนที่จะมีการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีไปใช้จริงๆ จึงเป็นหนึ่งในแนวคิดของการแก้ปัญหานี้ โดยอาจจะต้องมีการคิดให้รอบคอบและถี่ถ้วนก่อนจะมีการนำเทคโนโลยีอะไรก็ตามมาใช้ โดยอาจจะมีการร่วมพูดคุยกันทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยี บริษัทที่นำเทคโนโลยีไปใช้ หน่วยงานกำกับ (Regulator) องค์กรต่างๆ และบุคคลอื่นๆ ที่น่าจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้งานเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าไม่ควบคุมจนผู้สร้างเทคโนโลยีหรือว่าบริษัทที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา ส่วนนี้เหมือนการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องและวางกฏระเบียบที่เหมาะสมมากกว่า

2. การกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีให้ทั่วถึงด้วยต้นทุนที่ไม่แพง เพื่อให้คนสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ได้ทั่วถึงกัน รวมทั้งการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีด้วย หรือกรณีที่เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากอาจจะนำแนวคิด Universal Basic Income (UBI) มาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาก็ได้

3. สำหรับรัฐบาลของประเทศต่างๆ อาจจะต้องคิดถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 3 กลุ่ม คือ ประเทศกำลังพัฒนา สิ่งแวดล้อม และคนทั่วไปที่ปรับตัวไม่ทัน โดยเริ่มมาจากข้อ 1 ที่การกำหนดคุณค่าของเทคโนโลยีควรระบุถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

สุดท้ายสำหรับผู้ที่เป็นนักลงทุนและศึกษาเทคโนโลยี**โดยส่วนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้นนะครับ คือ เราน่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า New Barrier to Entry  ใหม่อีก  1 อย่าง โดยขออนุญาตเรียกว่า Technology Integration Advantage หรือ ป้อมปราการที่เกิดจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างบริษัท (หรือประเทศ) ที่มีความสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกันและไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้

เช่น การมีเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถช่วยให้ค้นคว้าวัสดุใหม่ๆ ที่นำมาใช้สร้างคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้ และเมื่อสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถมากกว่าเดิมได้ก็ใช้ความสามารถในการประมวลผลที่มากกว่าไปสร้างสินค้าและบริการที่ก้าวหน้ากว่า และจากสินค้าบริการที่ก้าวหน้ากว่าบางอย่างก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีอื่นให้ยิ่งก้าวหน้าขึ้นไปอีกได้ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ไม่ว่าเราจะเป็นนักลงทุนหรือว่าคนทั่วไป ก็ควรคำนึงถึงทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับการลงทุนและไม่เกี่ยวกับการลงทุนแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมของเราด้วยนะครับ

**ส่วนที่เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนคือ ชื่อของ New Barrier to Entry  (Technology Integration Advantage)

ข้อมูลอ้างอิง หนังสือ “ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 Shaping the Fourth Industrial Revolution”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0