โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทางเลือกทางรอดเกษตรกร เมื่อไม่มี 3 สารเคมี

MATICHON ONLINE

อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 06.44 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 06.44 น.
สกู๊ป-ทางรอดเกษตรกร

เหลืออีกไม่ใกล้ไม่ไกล สำหรับวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ทั่วประเทศจะต้องยุติการใช้ 3 สารเคมี คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต เป็นไปตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เป็นประเภทที่ 4 ที่ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดย มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศเพื่อรับทราบแนวทางในการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนที่มีสารทั้ง 3 ตัวในครอบครองว่าต้องไปส่งคืนบริษัทหรือร้านค้าหรือเอเยนต์สายส่ง หากหลังวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ใครครอบครองสารทั้ง 3 ตัวจะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งโทษปรับและจำคุก

สาคร ปากเกร็ด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ทุ่งโพ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เป็นหนึ่งในสถานที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์ได้ให้ความเห็นว่าง 3 สารเคมีที่ถูกแบน เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ไกลโฟเซตกำจัดวัชพืช แต่ก็ไม่ต้องใช้สารตัวนี้ก็ได้ โดยนำเครื่องมาตัดหญ้ามาใช้ทดแทน และส่วนที่ใช้ในเรื่องของไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ทำได้ด้วยการพรวนหญ้าจะช่วยลดใช้สารตัวนี้ได้เช่นเดียวกัน ส่วนสารที่ใช้กับนาข้าวทั่วไปนั้นก็มีสารชีวภัณฑ์ ทางหน่วยงานราชการสนับสนุนให้เกษตรกรนำมาขยายเชื้อเอาเอง เราไม่ได้ใช้สารเคมีอะไร เรื่องของแปลงเกษตรอินทรีย์ทุกแปลงที่นี่ก็ไม่ได้ใช้สารเคมี และก็ได้รับผลกระทบคือ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ราคาต่ำลง แต่ได้ผลดีก็คือต้นทุนการผลิตจะลดลงเช่นกัน ปกติแล้วถ้าใช้สารเคมีทั่วไปอาจจะได้ 800 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อไม่ใช้สารเคมีและอาจจะได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 600 ต่อไร่ และต้นทุนต่ำกว่ากันครึ่ง แต่ผลกำไรก็พอกัน

ส่วนการใช้สารทดแทนในนาข้าวมีหลากหลาย อาทิ น้ำหมักจากขี้ค้างคาวสามารถเข้าไปช่วยในเรื่องฮอร์โมนและไล่แมลงได้ ทั้งสองอย่างในตัวเดียวกัน และตัวที่ 2 คือฮอร์โมนยืด การนำพืชทอดยอดทุกอย่าง อาทิ ผักบุ้ง หน่อกล้วย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทอดยอดนำมาสับรวมกันและหมักใส่

รวมไปถึงน้ำหมักขี้หมูนำไว้ใช้เป็นฮอร์โมนทางใบ และฮอร์โมนไข่ เอาไว้ใช้ช่วยเร่งแป้ง หรือช่วยให้พืชติดดอกทำให้ผลผลิตนั้นมากขึ้น

ขณะที่ ธีระชาติ เสยกระโทก นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หลังมีมติแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ทำให้เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากยังไม่มีสารเคมีอื่นที่จะนำมาใช้ทดแทนได้ อีกทั้งสารที่ระบุว่าสามารถนำมาใช้ทดแทนได้นั้นก็มีราคาแพงกว่าของเดิมถึง 5 เท่าตัว กลายเป็นภาระอันหนักที่ทิ้งไว้ให้เกษตรกรชาวไร่มันต้องแบกรับไว้ ขณะนี้เริ่มมีเกษตรกรกักตุนสารเคมีที่ถูกสั่งห้ามกันไว้แล้ว แม้เสี่ยงกับการถูกจับก็ยอม ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย หากมีการออกกฎหมายเทศบัญญัติห้ามใช้สารเคมีที่ถูกแบนมาบังคับใช้ ในพื้นที่ซึ่งมีเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังอยู่เป็นจำนวนมาก สมัยหน้าก็คงจะไม่มีใครเลือกอีกแน่นอน

“ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนจากผลกระทบการแบนสารเคมีครั้งนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ได้แต่โยนให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติแบนสารเคมีรับผิดชอบเท่านั้น ทางสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา อยากเสนอให้มีการเลื่อนประกาศแบนสารเคมี 3 ชนิดนี้ออกไปก่อน ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ออกมาให้รอบด้านมากกว่านี้”ธีระชาติกล่าว และว่า หากมีผลบังคับในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เกษตรกรคงจะพากันเลิกปลูกอ้อยปลูกมันจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวไร่มันสำปะหลัง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 2 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 8 ล้านตัน จะทยอยกันเลิกเพราะทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไม่ไหว

ด้าน บุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวที่ จ.สุราษฎร์ธานีว่า ทางออกของเกษตรกรที่จะใช้เครื่องจักรแทนสารเคมี โดยเกษตรกรที่มีแปลงเกษตรขนาดเล็กสามารถใช้มีดพร้ากำจัดวัชพืชได้ หรือใช้เครื่องตัดหญ้าทั้งแบบสะพายหลังหรือแบบเดินตาม ส่วนเกษตรแปลงขนาดใหญ่แบบไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง สามารถใช้รถแทรกเตอร์ที่ออกแบบใช้โรเตอร์ให้ดายหญ้าได้ นอกจากนี้สามารถใช้วิธีฆ่าหญ้าแบบธรรมชาติ ใช้ผ้ายางคลุมบนผืนหญ้า 15-20 วัน ขยับพื้นที่ไปเรื่อยๆ เมื่อวัชพืชหรือหญ้าต่างๆ ไม่โดนแสงจะเหลืองเหี่ยวเฉาตายไปเอง วิธีนี้สิ้นเปลืองแรงงานน้อยมากถือเป็นการใช้แรงงานย่อยๆ

“ส่วนการใช้สารชีวพันธุ์สามารถใช้ได้ อยากขอร้องให้ทางรัฐลงมาดูแลอย่างเต็มที่ เพราะมีหลายตัวมากที่ผมได้ลองใช้เกลือแกงกับปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 นำมาผสมเกลือแกง อย่างละ 1 กิโลกรัม นำไปฉีดพ่นวัชพืชหญ้าตายได้ สามารถปรับใช้ตัวอื่นได้ตามความหลากหลายของวัชพืช แล้วแต่สัดส่วน เนื่องจากบริบทแต่ละพื้นที่มีไม่เหมือนกัน”

บุญส่งกล่าวอีกว่า ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ รัฐบาลต้องลงมาช่วยเหลือดูแลทั้งการลดภาษีเครื่องจักร เพื่อเข้าสู่ระบบได้เร็วขึ้น

ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตประชาชน

“ผมทำการปรับเปลี่ยนจากสารเคมีมาเป็น 10 ปีแล้ว ก่อนนี้เคยใช้เยอะมาก จากประสบการณ์มันทำลายทุกอย่างยิ่งใช้ต้นทุนยิ่งสูงจนเป็นหนี้ ตอนนี้พิสูจน์ได้ว่า ธรรมชาติได้กลับมาในไร่นา กุ้งแม่น้ำกลับมา ปลาเล็กน้อยในท้องนากลับมา พืชที่ปลูกกินได้ปลอดสารพิษอย่างมั่นใจเพราะทำมากับมือเอง” นายบุญส่งกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0