โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทางเลือกของ ‘พรรคประชาธิปัตย์’

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 12.42 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3472 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค.2562 โดย…ประพันธุ์ คูณมี

 

ทางเลือกของ ‘พรรคประชาธิปัตย์’

 

                ด้วยสถานการณ์การเมือง เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ เพื่อสนับ สนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ กำลังเป็นประเด็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญของการเมืองขณะนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นบทสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ในฐานะที่ ปชป.กลายเป็นพรรคที่ถือดุลอำนาจทางการเมือง ว่าจะตัดสินใจเลือกข้างใด ระหว่างเลือกข้างพลังประชารัฐ หนุน “ลุงตู่” หรือจะเอา “ระบอบทักษิณ”

                ผู้เขียนจึงขอพักบทความเรื่อง “ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย(3)” ไว้ก่อน ด้วยเหตุต้องการเสนอบทความนี้ สะท้อนความเห็นต่อการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในฐานะอดีตสมาชิกพรรค และเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เลือก ปชป.ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ยกเว้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ต้องตัดสินใจเลือกพลังประชารัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องการให้ ปชป.ฟังเสียงอีกด้านหนึ่งว่า ทำไมผู้ใช้สิทธิร่วม 5 ล้านเสียง จึงเปลี่ยนใจตีจาก ปชป. ประชาชนเหล่านั้นเขาคิดในทางยุทธศาสตร์การเมืองอย่างไร จึงอยากให้ ปชป.รับฟัง

                ในสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ข้อคิดและข้อเสนอแนะที่เห็นว่า ปชป.ควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจอย่างยิ่ง มีดังนี้ครับ

                1.การที่ ปชป.โดยอดีตหัวหน้าพรรค หรือสมาชิกบางท่านกล่าวว่า พรรคมีจุดยืนต่อต้านเผด็จการ ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนเคารพและยอมรับได้ และก็เห็นด้วยกับจุดยืนและอุดมการณ์นี้ แต่การจะประเมินและมองว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ เป็นเผด็จการหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ปชป.ต้องประเมินและตีค่าทางการเมืองเสียใหม่ ว่าใช่เช่นนั้นหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่มีการลงประชามติของประชาชน ด้วยเสียงข้างมาก 16,820,402 เสียง คิดเป็น 61.35% ของผู้ออกเสียงและการที่ประชาชนที่เคยเลือก ปชป. แต่ตัดสินใจไปเลือกพลังประชารัฐ โดยเฉพาะภาคใต้และกทม.ที่เป็นฐานเสียงหลักของ ปชป.

                ทำไมจึงทิ้ง ปชป.หันไปเลือกและให้โอกาสพลังประชารัฐ ซึ่งก็คือเลือกให้โอกาส “ลุงตู่” โดยพวกเขามิได้คิดว่า “ลุงตู่” เป็นเผด็จการแต่อย่างใด ซึ่งหากจะวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไป ย่อมจะเห็นได้ว่า ประชาชนเข้าใจว่า คสช.เข้ามาด้วยความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมืองเกิดวิกฤติอย่างไร พวกเขากลัวภัยจากการเมืองระบอบทักษิณฟื้นชีพมากยิ่งกว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่ ปชป.ควรคิดและทบทวน และเคารพประชาชน อย่าสักเพียงแต่อ้างว่าเป็นพรรคของประชาชน แต่ไม่เคยเข้าใจประชาชน อย่าอ้างประชาธิปไตยลอยๆ ต้องดูความเป็นจริง

                2. หากจะอ้างว่าไม่ต้องการร่วมรัฐบาล และอ้างเหตุว่าไม่ต้องการสนับสนุนเผด็จการนั้น จึงเป็นเพียงวาทกรรมที่ฝืนต่อความเป็นจริง และเป็นการเข้าทางพรรคการเมืองสมุนระบอบทักษิณ ขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และถ้าหากอ้างว่าต้องเคารพ 3.9 ล้านเสียงที่เลือก ปชป.ก็ต้องเคารพต่อเสียงเกือบ 5 ล้านเสียง ที่เคยเลือก ปชป.และเปลี่ยนใจไม่เลือกในครั้งนี้ด้วย ทั้งยังต้องเคารพเสียงประชาชนอีกเกือบ 9 ล้านเสียง ที่เลือกพลังประชารัฐ และเคารพเสียงประชามติ จึงจะรับฟังได้อย่างมีเหตุผล

                และถ้าหากบ้านเมืองเป็นเผด็จการจริง คนที่จะต่อต้านเผด็จการตัวจริงก็คือประชาชนทั้งสิ้น ไม่ว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาทมิฬ 2535 และการต่อต้านเผด็จการทุนสามานย์ของ “ระบอบทักษิณ” ล้วนแต่พี่น้องประชาชนทั้งสิ้น ที่ออกมาสู้เป็นหัวหอกล้มระบอบเผด็จการ เหล่านั้น บทบาท ปชป.ในเรื่องนี้ กลับไม่ปรากฏชัดเจนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ ดังนั้น จึงควรเคารพและฟังความเห็นประชา ชนให้ทั่วถึง และนำมาสังเคาระห์ มิใช่เลือกฟังเฉพาะที่ตนอยากฟัง

                3. การสรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคู่ของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้น อาจเป็นข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนได้ เพราะจากผลของการเลือกตั้งที่ปรากฏ ย่อมแสดงผลให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า ความขัดแย้งหลักในปัจจุบันคือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับการเมืองระบอบทักษิณ กล่าวโดยสรุปคือ ประชาชนไม่ต้องการสภาพวิกฤติการเมืองในอดีตฟื้นชีพ จึงตัดสินใจเทคะแนนให้พลังประชารัฐ การจับคู่ความขัดแย้งผิด จึงทำให้ ปชป.กำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีผิด

                การชูคำขวัญว่า “ไม่ต้องการเผด็จการ ไม่เอาพวกบกพร่องโดยสุจริต” เลือกอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ นั้น จึงผิดพลาดและล้มเหลวอย่างที่เห็น เพราะแม้เลือก ปชป.เสียงก็ไม่พอชนะพวกทักษิณ ยุทธวิธีจึงไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน เพราะระบอบทักษิณกับการเมืองที่ล้มเหลวในอดีต ยังเป็นภาพหลอนที่ประชาชนไม่ต้องการให้ย้อนกลับมาอีก คู่ขัดแย้งจึงยังเป็นฝ่ายประชาชนกับระบอบทักษิณนั่นเอง

                4. ประเทศไทยต้องก้าวเดินต่อไป บ้านเมืองเมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้ว จำต้องมีรัฐบาลบริหารประเทศ เรามีทางเลือกคือ 1.พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 2.พรรคเพื่อไทย เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุน คุณสุดารัตน์ หรือ อภิสิทธิ์ หรือ อนุทิน เป็นนายกฯ 3.เกิดทางตันจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ อาจต้องเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ อยู่ที่ ปชป.จะเลือกทางใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองมากที่สุด

                5. จุดยืนที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่สุด โดยรักษาความเป็นอิสระ และตั้งอยู่บนหลักการไม่สนับสนุนรับใช้เผด็จการ ไม่สยบยอมและสมคบกับการเมืองระบอบทักษิณ รักษาความเป็นประชาธิปไตยที่สุจริต ปชป. จึงควรเลือกการร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ เพื่อเป็นแนวร่วมทางการเมืองในระยะเฉพาะหน้า โดยมีหลักการและเงื่อนไข ว่ารัฐบาลที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้น จะไม่เป็นเผด็จการ บริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เดินหน้าปฏิรูปประเทศ สร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง นำพาชาติบ้านเมืองให้หลุดพ้นจากหลุมดำทางการเมือง

                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาก ปชป.สามารถต่อรองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็สมควรอย่างยิ่งที่ต้องยึดกุมตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะกลไกของสภา และอำนาจในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภา ย่อมเป็นหลักประกันได้ระดับสำคัญว่า สภาจะไม่เป็นตรายาง หรือสร้างกฎหมายเกื้อหนุนระบอบเผด็จการ ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นว่า 5 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยิ่งมีความจำเป็นที่บุคลากร ปชป.ที่มีความรู้ความสามารถควรเข้ามาแสดงฝีมือช่วยบ้านเมือง หากเห็นว่ารัฐบาลเดินหลงทางทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายใหญ่หลวงกับบ้านเมือง ปชป.ก็สามารถตรวจสอบและคัดค้านได้ หรือแม้กระทั่งที่สุดก็อาจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลได้ หากเห็นว่ารัฐบาลมิได้ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน

                6. การกำหนดท่าทีและทางเลือกทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงสำคัญอย่างยิ่ง การเลือกแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ยืนอยู่บนหลักการและอุดมการณ์ของพรรค รักษาความสามัคคีมีความเป็นเอกภาพ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าโดยไม่เสียหลักการ จึงเป็นทางเลือกที่ ปชป.ต้องพิจารณา และต้องก้าวให้พ้นหลุดจากกับดักวาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตยจอมปลอมหรือฝ่ายเผด็จการที่ไม่มีอยู่จริง” นั้นเสีย เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงจะสามารถเรียกศรัทธาประชาชนกลับคืนมา การเมืองและวาทกรรมสวยหรู แต่เพียงลำพัง ไม่อาจนำมาซึ่งชัยชนะทางการเมืองได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0