โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทางออกของการผลิตและพัฒนากำลังคนในโลกยุคใหม่

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2561 เวลา 07.25 น.

เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ภาคเกษตรจึงไม่ใช่แหล่งรายได้ที่สำคัญแต่เป็นวัตถุดิบที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วจุดแข็งของภาคเกษตรคือมีที่ดินมากกว่า 60 ล้านไร่ มีน้ำชลประทานมากกว่า 30 ล้านไร่มีคนทำงานเกือบ 12 ล้านคน จุดอ่อนของเกษตรกรคือมากกว่า 8 ล้านคนหรือมากกว่าร้อยละ 70 มีภูมิหลังการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า อายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปีจัดเป็นเกษตรกรผู้สูงอายุ ที่ยากจะยกระดับด้วยเทคโนโลยี แต่ยังมีเกษตรกรอีกมากกว่า 3 ล้านคนที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับประถมมีความหวังที่จะพัฒนาให้เป็นเกษตรกร 4.0(smart farmer)ได้จำนวนหนึ่ง จุดอ่อนที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอคือเกษตรกรติดกับดักรายได้ต่ำไม่แน่นอนและหนี้สิ้นล้นพ้นตัวถึงแม้จะทำงานหนัก(มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน)แต่ก็ได้เงินน้อยมากส่วนมากมีเงินออมน้อยและในที่สุดตกอยู่ในสภาพจนก่อนชราภาพ

ทางออกจึงเหลือไม่มากที่จะพัฒนาเกษตรกร เช่น อาจจะแบ่งเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกพวกที่ตั้งเป้าไว้เพียงทำอย่างไรให้ มีกิน หมดหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น วิธีการก็คือปฏิบัติตามแนวทางรัฐบาลซึ่งส่งเสริมโดยเน้นการพัฒนาด้วย "ศาสตร์พระราชา" หรือ"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผสมผสานกับทฤษฎีใหม่" โดยรัฐบาลอาจจะต้องset zeroเกษตรกรเหล่านี้ก่อนคือ หยุดพักหนี้และดอกเบี้ยอย่างน้อย 5 ปีก่อนเป็นแรงจูงใจให้เข้าโครงการฟื้นชีวิต ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะมีกินและมีเงินทยอยใช้หนี้และดอกเบี้ยคืนได้ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ภายในระยะเวลาอีก 10 ปี ก็น่าจะปลดหนี้ได้เป็นส่วนใหญ่ กลุ่มที่ 2พวกที่พอมีความรู้ให้เน้นทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ด้วยการทำการเกษตรอัจฉริยะ (smart farming)โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ และสนับสนุนให้รวมแปลงให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ ตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาบ้างแล้ว โจทย์ที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทุ่มเทให้กลุ่มเกษตรกรทำการผลิตเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เกษตร 4.0) โดยใช้ตลาดนำทาง หากดำเนินการจนประสบผลสำเร็จจะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปลดหนี้ มีเงินออมเพื่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว และแรงงานกว่า 2 ล้านคนที่ขายแรงงานอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันได้ค่าแรงค่อนข้างต่ำเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาท หรือประมาณ 200 บาทต่อวันต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะพลอยได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับสาขาบริการซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดที่มีสัดส่วนในGDP6.03 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 58.5 มีแรงงานที่อยู่ในสาขานี้มากกว่าสาขาการเกษตรและอุตสาหกรรม ในต้นปี 2561มีแรงงานจำนวนประมาณ 17 ล้านคนหรือมากกว่าร้อยละ 45.5 สาขา อาจจะกล่าวได้ว่าสาขาบริการสามารถดูดซับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีและแรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากสาขาเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน สาขานี้มีผู้จบระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษาประมาณ 12 ล้านคนหรือร้อยละ 70 และเป็นแหล่งรองรับผู้จบปริญญาตรีและปริญญาโทสูงที่สุดเทียบกับทุกสาขาบริการ จำนวน 4.7 ล้านคนหรือร้อยละ 28 โดยสาขาย่อยที่เป็นองค์ประกอบใหญ่ๆ คือ สาขาขายส่งขายปลีกและซ่อมบำรุงมีแรงงานมากกว่า 6 ล้านคนและสาขาโรงแรม ท่องเที่ยวและภัตตาคารเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิหลังการศึกษาค่อนข้างดี น่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และ บริการ 4.0 ได้ดีในภาพรวม

บางสาขาบริการที่มีการแข่งขันสูงและมีข้อจำกัดในการสร้างรายได้ต้องหันมาลดต้นทุนเป็นสำคัญ เช่น สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวกลางทางการเงินมีคนทำงานมากกว่า 4 แสนคน การรุกเข้ามาของโลก ดิจิทัล เช่นFintechทำให้เกิดบริการออนไลน์ขึ้นมาอย่างรวดเร็วทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมีสาขาบริการจำนวนมากใกล้ผู้รับบริการไม่จำเป็นและไม่คุ้มทุนอีกต่อไปทำให้ต้องปิดสาขา ถ้าพนักงานไม่สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องลาออก อีกสาขาที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมีคนทำงานเพิ่มขึ้นปีละหมื่นคนต่อเนื่องมานับ 10 ปีมีคนทำงานในปัจจุบันมากกว่า 1.1 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรครูและอาจารย์จำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอน 2 เรื่องคือไม่มีความรู้ที่ทันสมัยเพียงพอที่จะสอนเด็กนักเรียนและนักศึกษาให้ทันยุคทันสมัย(ในศตวรรษที่ 21)อาจจะมีบางส่วนต้องลาออกไป อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเผชิญก็คือถึงแม้ครูอาจารย์จะปรับตัวได้ดีแต่ไม่มีเด็กนักเรียนนักศึกษาให้สอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กเข้าเรียนลดลงจากที่เคยเข้าเรียนชั้นป.1 ไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคนปัจจุบันเหลือเพียง 0.7 ล้านคนเศษเท่านั้นผลต่อเนื่องก็คือจำนวนเด็กต่อชั้นเรียนในระดับ สพฐ หรือนักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยบางสาขาวิชามีเด็กลดลงและ/หรือไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนแบบเดิมๆแต่ปรับเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์(ในอนาคต)ผลคือปริมาณค่าเล่าเรียนและเงินอุดหนุนมีไม่พอจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์และค่าดูแลอาคารสถานที่ในภาวะการแข่งขันสูง ในที่สุดผู้แพ้ก็ต้องปิดสาขาวิชาและ/หรือต้องปิดสถานศึกษาต้องยกเลิกการจ้างครูอาจารย์ซึ่งน่าจะเกิดก่อนกับการศึกษาเอกชนที่ปรับตัวเองไม่ได้ในทุกระดับการศึกษา

ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นความหวังของประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยภาพรวมมีความสำคัญต่อประเทศมีผลต่อปริมาณGDPคิดเป็น3.67ล้านล้านบาทคิดเป็นร้อยละ35.6 เน้นเฉพาะสาขาย่อยที่สำคัญที่สุดคืออุตสาหกรรมการผลิตมีมูลค่าGDP 2.82ล้านล้านบาทในปี 2560 และมีแรงงานอยู่ประมาณ 6.3 ล้านคนในต้นปี 2561ภูมิหลังการศึกษาระดับล่าง(ม.ต้นหรือต่ำกว่า)ถึง3.47ล้านคน คิดเป็นร้อยละ55.2ระดับกลาง(ปวช. ม.ปลาย ปวส.)จำนวน1.83ล้านคนหรือร้อยละ 29.0และระดับสูง(ป.ตรีขึ้นไป)จำนวน 1 ล้านคนหรือร้อยละ 15.8 อย่างไรก็ตามเมื่อคิดเป็นมูลค่าเพิ่มต่อหัว สาขาการผลิตนี้มีค่า 447,619 บาทต่อคนต่อปี เปรียบเทียบกับสาขาบริการและสาขาเกษตรคือ 354,706 บาทและ 51,758 บาทตามลำดับ การมุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับรายได้โดยภาพรวมจากประมาณ 276,300 บาทต่อคนต่อปีเป็น 480,000 บาทต่อคนต่อปีเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยอาศัยอุตสาหกรรมการผลิต(เน้นไปที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่)จึงเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศที่เป็นไปได้ จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การขยายตัวของผลิตภาพควรเกินร้อยละ 4 หรือ 5 ต่อเนื่องกันนับ 10 ปี จึงจะทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักของประเทศกำลังพัฒนาได้

ทางออกของประเทศไทยนอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมการผลิตระบบใหม่ คือ อุตสาหกรรม 4.0 การที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มากนักที่ได้พัฒนาตัวเองมาถึงอุตสาหกรรม 3.5 การที่มีจำนวนอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถสูงพร้อมที่จะปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนไม่มากจึงต้องการแรงงานเลือดใหม่มากกว่าแรงงานเดิมที่มีอยู่ในระบบซึ่งมีเพียงประมาณร้อยละ 45 ที่จะพัฒนาผ่านระบบการฝึกอบรมที่เข้มข้นเพื่อปรับให้เป็นแรงงานผลิตภาพสูง ส่วนของแรงงานรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงพอที่จะทำงานในอนาคตได้ต้องเป็นแรงงานที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความรอบรู้โดยผ่านการศึกษาในระบบSTEAM Educationหรือ ผ่านการฝึกฝนภายใต้กรอบของTwenty First Century Skillsมาแล้วสามารถทำงานที่ต้องใช้สมรรถนะ ด้านProblem Solving skills, Critical Thinking skills, Communication skillsเป็นต้นเพื่อให้สามารถทำงานสร้างสรรค์ชิ้นงาน ทำสิ่งประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งใหม่ๆจนเกิดเป็นCreative Workforceจำนวนมากและก็จะมีบางส่วนที่จะกลายเป็นInnovative workforceในที่สุด

การทำงานในอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นี้มี 2 กลุ่มหลักที่มีความต้องการสูงมากคือแรงงานระดับtechniciansที่ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันอาชีวศึกษาที่น่าเชื่อถือทำงานร่วมกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิดจำนวนอย่างน้อย 5 แสนคนใน 10 ปีข้างหน้าโดยการคัดเลือกจากสถาบันอาชีวศึกษาเกือบ 850 แห่งทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจากนักศึกษาทุกชั้นปีเกือบล้านคนโดยรัฐการันตีว่าเมื่อเรียนจบแล้วได้งานทำแน่นอนและมีเงินเดือนมากกว่าผู้จบที่ไม่ได้เข้าศึกษาในสถาบันที่รัฐส่งเสริม อีกกลุ่ม คือผู้เรียนในระดับปริญญาตรีขึ้นไปโดยเฉพาะสาขาS&Tควรสนับสนุนทุนให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ ระหว่างนี้อาจต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาทำงานรวมกับคนไทยไปก่อนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้นักวิจัยไทยหรือส่งคนไทยที่จบ ป.โทและ ป.เอก ไปเรียนเพิ่มเติมหลังปริญญาเพื่อเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศในระยะเวลาสั้นๆในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าในสาขาที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นสาขาการเกษตร สาขาบริการ หรือสาขาอุตสาหกรรม หากเจ้าของหรือผู้ประกอบการอยู่ในความประมาทไม่คิดจะปรับตัวให้รู้เท่าทันโลกยุคใหม่(ภายใต้digital era)ในที่สุดคงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และผลที่ตามมา ประเทศชาติก็คงจะไม่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนดังที่เราคาดหวังกันไว้.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0