โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทัศนคติต่อ 'รอยสัก' ในวันที่การสักไม่ได้หมายถึงอาชญากรรม

The MATTER

อัพเดต 17 มิ.ย. 2561 เวลา 11.42 น. • เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2561 เวลา 06.27 น. • Thinkers

จากเรื่องการห้ามชาวต่างชาติเข้าใช้บริการที่ผมเพิ่งเขียนไปสองสัปดาห์ก่อน มีประเด็นหนึ่งที่ผมแตะไว้บางๆ ในบทความนั้นคือ การห้ามคนที่มีรอยสักเข้าใช้บริการออนเซ็น ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะยิ่งวัฒนธรรมไหลหลากมาปะทะกันมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันออกไปเรื่อยๆ และเรื่องรอยสักนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นเสียทีในสังคมญี่ปุ่น แถมนโยบายใหม่ๆ ก็ดูจะไม่เต็มใจยอมรับอีกด้วย

หลายคนคงผ่านหูผ่านตาเรื่องมุมมองที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อคนมีรอยสัก แต่จริงๆ แล้ว การสักก็เป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมญี่ปุ่นมานาน คาดกันว่า ร่องรอยตามตัวของ โดะกู ตุ๊กตาดินเผาที่ปั้นขึ้นในยุคโจมง หรือประมาณ 13,000 ปี ถึง 400 ปีก่อนคริสตกาล ก็คือการจำลองลวดลายของรอยสักตามตัวคนในยุคนั้น และในยุคยาโยอิ (300 ปีก่อนคริสตกาล ถึงคริสต์ศักราชที่ 300) ก็มีบันทึกของอาคันตุกะชาวจีนว่าชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นมีการสักตามตัว รวมไปถึงวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ เช่นวัฒนธรรมริวกิวในโอกินาว่า หรือวัฒนธรรมไอนุของชาวท้องถิ่นในจังหวัดฮอกไกโดที่มีการสักตามตัวเป็นธรรมเนียมเช่นกัน

รอยสักของญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า Irezumi (入れ墨:入れ ‘Ire’ การใส่ 墨 ‘Sumi’ หมึก) คือการแยกแบบหยาบๆ ระหว่างรอยสักของญี่ปุ่น กับการสักแบบของตะวันตก (หรือจริงๆ ก็หมายถึงนอกญี่ปุ่น) ที่เรียกว่า tattoo นั่นเอง โดยเปลี่ยนความหมายจากส่วนหนึ่งของการประดับตัวเฉยๆ มาเป็นการสักเพื่อเป็นเครื่องหมายของการลงโทษต่อผู้กระทำผิดในยุคโคะฟุง (คริสต์ศักราช 300 ถึง 600) จนกลายมาเป็นสิ่งที่ติดตราในสังคมญี่ปุ่นว่า ‘รอยสัก’ เท่ากับ ‘ผู้กระทำผิด’ ยาวมาจนถึงยุคเอโดะที่แผ่นดินสงบลงแล้ว

แต่ก็เป็นยุคเอโดะนี่เองที่การสักเริ่มพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น

ด้วยการที่มหากาพย์ ซ้องกั๋ง หรือ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และมีภาพประกอบของเหล่านักรบนอกกฎหมายที่สักลายมังกรหรือสัตว์ต่างๆ ตามตัว ทำให้คนเริ่มเอาอย่าง จนศิลปินที่ทำงานภาพพิมพ์ไม้หันมารับงานสักด้วย รอยสักแฟชั่นเหล่านี้แม้จะเป็นที่นิยม แต่ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นล่างของสังคมเสียมากกว่า แต่ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์ว่า เป็นคนรวยต่างหากที่สัก เพื่อเป็นการแสดงความร่ำรวยอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้รอยสักเป็นที่นิยมและมีช่างฝีมือสักระดับเทพในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดการปฏิรูปเมจิ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและสะอาดสะอ้านให้ชาวโลกเห็น จึงได้ห้ามการสัก นั่นล่ะครับที่ทำให้รอยสักกลับมาผูกกับการละเมิดกฎหมายอีกครั้ง

แม้หลักสงคราม GHQ หรือ หน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ปกครองญี่ปุ่นหลังสงคราม ได้ยกเลิกการห้ามสักในปี 1948 แต่สุดท้าย ภาพลักษณ์ของรอยสักที่ผูกติดกับอาชญากรรมหรือยากูซ่า ก็กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการมีรอยสักหมายถึงการเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายมาก่อน และการสัก Irezumi แบบญี่ปุ่นเป็นการพิสูจน์ความอดทน เพราะใช้เข็มสักแบบโบราณ ไม่ใช่เครื่องสักแบบปัจจุบัน ทำให้สามัญชนชาวญี่ปุ่นเกรงกลัวผู้คนที่มีรอยสักกันเป็นเรื่องปกติ จนไม่แปลกว่าทำไมออนเซ็นหรือโรงอาบน้ำต้องออกมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้มีรอยสักเข้าไปใช้บริการ เพราะมันทำให้ลูกค้าคนอื่นเกรงกลัวนั่นเอง ปกติรอยสักมักจะอยู่ในร่มผ้า แต่ด้วยความที่เป็นโรงอาบน้ำจึงจำเป็นจะต้องเปลือยกายทำให้เห็นหมด

นั่นทำให้ที่ผ่านมา รอยสักมีภาพลักษณ์ติดลบในสังคมญี่ปุ่นมาโดยตลอด แม้ในช่วงหลัง การสักเพื่อแฟชั่นหรือที่มักจะเรียกกันว่า tattoo จะเริ่มได้รับความนิยมในญี่ปุ่นบ้าง แต่ก็ลบเลือนอคติเก่าไม่ได้อยู่ดี การห้ามไม่ให้คนมีรอยสักเข้าใช้บริการต่างๆ นอกจากออนเซ็นแล้วก็ยังรวมถึงสระว่ายน้ำสาธารณะ ไม่ได้แยกแยะว่านี่คือยากูซ่าหรือคนธรรมดาที่สักเป็นแฟชั่นเท่านั้น อาศัยวิธีการแบนง่ายๆ ตัดปัญหาไปเลย

ไม่ใช่แค่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ในระดับนโยบายก็ดูเหมือนจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การออกกฎหมายว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่ให้บริการสักได้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพย์ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องเรียนจบแพทยศาสตร์นั่นล่ะครับ ด้วยเหตุผลว่า เพราะต้องใช้ ‘เข็ม’ กับคนในการประกอบอาชีพ ทำให้ทุกครั้งที่ช่างสักในญี่ปุ่นทุกวันนี้ทำการสักให้ลูกค้าถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะเข้าจับเมื่อไหร่ก็ได้ และมีโทษสูงสุดทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว แต่ที่ผ่านมา เท่าที่เห็นคือ โดนปรับกันครั้งละ 300,000 เยน โดยประมาณ การเป็นช่างสักจึงไม่คุ้ม จะให้ไปเรียนแพทย์เพื่อมาสักก็ใช่ที่ เป็นการบีบช่างสักไปในตัว ที่น่าเศร้าคือ ในญี่ปุ่นมีช่างสักฝีมือดีมากมาย หลายคนฝีมือระดับที่ชาวต่างชาติถึงกับบินมาใช้บริการกันเลยทีเดียว ไม่ใช่ว่าจะเกี่ยวอะไรกับวงการยากูซ่าอย่างเดียวเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมมีอำนาจมากขึ้น การสักก็ยิ่งถูกกดดัน ตัวอย่างเช่น เมื่อ Toru Hashimoto อดีตทนายเซเลบ เมื่อได้เป็นผู้ว่าเมืองโอซาก้า เขาก็ประกาศชัดว่า ถ้าใครมีรอยสักแล้วทำงานในหน่วยงานของรัฐ ก็ให้แสดงตัวและไปลบรอยสักซะ หรือไม่อย่างนั้นก็ลาออกไปหางานใหม่ได้เลย และเมื่อศาลสูงสุดรับรองคำสั่งดังกล่าว ก็ทำให้การมีรอยสักยิ่งเป็นเรื่องที่ติดลบลงไปเรื่อยๆ

แต่นั่นก็เป็นเรื่องในสังคมของคนญี่ปุ่น เมื่อมองในระดับโลกแล้ว ปัจจุบันการมีรอยสักเป็นเรื่องของแฟชั่น หรือกระทั่งวัฒนธรรม

และเมื่อชาวญี่ปุ่นต้องการเปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้าไปเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ การปะทะกันของค่านิยมแบบญี่ปุ่นกับค่านิยมสากลก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสำรวจพบว่า หนึ่งในสามของนักท่องเที่ยวที่มาญี่ปุ่นก็มุ่งมั่นที่จะมาใช้บริการแช่น้ำร้อนออนเซ็น แน่นอนว่าการมีรอยสักของพวกเขานั้นเป็นเรื่องปกติ แล้วทีนี้ จะเกิดอะไรขึ้น

ด้วยการยึดกับระเบียบเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน แต่ความวุ่นวายก็ยังมีอยู่ไม่น้อย เคยมีกรณีที่นักภาษาศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์มาสัมมนาวิชาการที่ฮอกไกโดแล้วถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าใช้บริการออนเซ็นเพราะว่ามีรอยสักของเผ่าเมารีอยู่บนหน้าเธอ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รอยสักแฟชั่น แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมก็ยังโดนปฏิเสธ ออนเซ็นบางแห่งพยายามทำความเข้าใจและหาทางออกด้วยการเสนอพลาสเตอร์สีผิวเพื่อเอาไว้ปิดรอยสักให้บริการแก่ลูกค้า แต่ก็ใช้ได้แค่รอยสักระดับเล็กๆ ถ้าบางคนสักเต็มแขนหรือเต็มหลังก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี ที่น่าคิดยิ่งกว่าก็คือ เป้าหมายในการห้ามคนมีรอยสักเข้าใช้บริการคือการต้องการห้ามยากูซ่า แต่ถ้าชัดเจนว่าเป็นคนต่างชาติ คงไม่เกี่ยวกับยากูซ่าแน่นอน จึงให้เข้าใช้บริการได้แม้จะมีรอยสัก ก็คงจะแปลกมากถ้าชาวต่างชาติสักรอยสักสไตล์ญี่ปุ่นแต่เข้าได้ หรือเอาจริงๆ แล้ว คนต่างชาติก็อาจจะมีรอยสักในแบบของแก๊งอาชญากรรมของประเทศนั้นเองได้ ยังไม่นับว่าชาวจีนอาจจะสักรอยสักแบบที่เป็นต้นแบบให้กับรอยสักแบบญี่ปุ่นอีก

แม้ตัวผมเองจะไม่มีรอยสัก แต่สมัยเรียนที่นั่นก็มีเพื่อนต่างชาติที่มีรอยสักหลายคน ดีที่ออนเซ็นเจ้าประจำที่ไปแช่กันบ่อยๆ ไม่ได้เคร่งเรื่องรอยสัก เพราะหนึ่งในเพื่อนผมเองเป็น Chinese American  หน้าตาคล้ายคนญี่ปุ่นที่มีรอยสักบริเวณไหล่ เป็นรอยสักของ Frat House ที่เขาสังกัดสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ได้ถูกห้ามอะไร และจริงๆ แล้วไปหลายที่ไม่ได้เคร่งครัดมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเขารู้ว่าเป็นพวกนักเรียนต่างชาติ เลยปล่อยหยวนๆ ไป

แต่นั่นคือยุคที่ต่างชาติยังไม่ได้เข้าไปในญี่ปุ่นเยอะเหมือนทุกวันนี้ ยุคที่ยอดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบที่เรียกกว่ากราฟพุ่งชันก็ว่าได้ และต่อไปคงมีปัญหาการปฏิเสธให้บริการลูกค้าที่มีรอยสักเพิ่มมากขึ้น (ยังดีที่มีเว็บไซต์ใหม่ๆ อย่าง https://tattoo-friendly.jp ที่เป็นฐานข้อมูลว่า ออนเซ็นไหนที่คนมีรอยสักสามารถเข้าใช้บริการได้) เป็นความขัดแย้งกันระหว่างความอนุรักษนิยมของสังคมที่มีทัศนคติรังเกียจรอยสักและตีตราว่าเป็นอาชญกรรม กับธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องการคนเข้ามาประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งในปี 2020 จะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นในโตเกียว ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังมีนักกีฬาจำนวนมากที่จะมาพร้อมรอยสักและจะถูกฉายขึ้นจอโทรทัศน์ระหว่างการแข่งขัน

น่าคิดเหมือนกันครับว่า เมื่อโลกล้อมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ แบบนี้ ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองไปในทิศทางไหน

อ้างอิงข้อมูลจาก

tattoo-friendly.jp

www.tokyoweekender.com

edition.cnn.com

kotaku.com/japans-problem-with-tattoos

kotaku.com/the-2020-olympics-could-change-tattooing-in-japan-forev

www.japantimes.co.jp/news/2012/05/18

www.japantimes.co.jp/news/2016/11/14

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0