โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทัวร์ยกทัพเข้าไทย 42 ล้านคน

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 23 ม.ค. 2563 เวลา 02.54 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 02.54 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

“แอตต้า” แนะรัฐต่ออายุยกเว้นวีซ่าหน้าด่านด่วน

“แอตต้า” ประเมินปีหนูทอง นักท่องเที่ยวต่างชาติจะ ยกทัพเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 41–42 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนจีน 11.5 ล้านคน ลุ้นค่าเงินบาทไม่หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ย้ำชัด ไม่กังวลไวรัสโคโรนาเพราะเชื่อรัฐบาลจีนควบคุมได้ วอนรัฐบาล รีบประกาศต่ออายุยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่าน ด้านสมาคมโรงแรมกัดฟันปีนี้ธุรกิจจะยังไปได้สวย

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยในงานการประชุมร่วมระหว่างแอตต้าและสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ว่า สถานการณ์การตลาดและแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงให้ต้องติดตามอีกหลายเรื่อง ทั้งค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพราะถ้าปีนี้อยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็พอใจแล้ว แต่ถ้า 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะขอบคุณ แต่ถ้า 28-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ตัวใครตัวมัน เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า เงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่เหลือกำไร ส่งผลให้รัฐบาลก็เก็บภาษีไม่ได้ไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจการท่องเที่ยว จึงคาดว่าในปีนี้คงไม่ต้องหวังว่าประเทศไทยจะมีตัวเลขจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตเป็นหลัก 10% เหมือนกับหลายๆปีที่ผ่านมา โดยตลอดปีนี้ แอตต้า ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวไทยประมาณ 41-42 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 3-5% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 1-2 ล้านคน ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจแล้ว

“ปีนี้ภาคเอกชนยังเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวจะยังเติบโต แต่คงไม่ขยายตัวเหมือนหลายๆปีที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทย 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.89% เมื่อเทียบกับปี 2561 เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 11 ล้านคน ดังนั้น ในปีนี้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น 11.5 ล้านคน ซึ่งแอตต้ามองว่า ประเทศไทยยังสามารถจับลูกค้าตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆที่ต้องเข้าไปทำการตลาด เช่น กลุ่มชนชั้นกลางของจีนที่มีประมาณ 400 ล้านคน เพราะคนกลุ่มนี้เคยมาเที่ยวในไทยเพียง 100 ล้านคน ยังเหลือลูกค้าอีก 200-300 ล้านคน ที่ไทยสามารถหาช่องทางไปดึงมาเที่ยวในไทยได้ รวมไปถึงอินเดียที่เป็นตลาดที่กำลังเติบโต”

ขณะเดียวกัน ปีนี้ภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน หากรัฐบาลรีบพิจารณาประกาศขยายระยะเวลาของมาตรการ ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าออนอาร์ไรวัล หรือค่าวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองออกไปจากที่สิ้นสุดในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อวางแผนจัดขายแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้า

สำหรับปัญหาในระยะสั้น เช่นกรณีของการระบาดของไวรัสโคโรนาในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน ก็ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด แต่มั่นใจว่าจีนจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยล่าสุดจีนประกาศห้ามคนเมืองนี้เดินทางข้ามมณฑลและห้ามออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดไว้ก่อน จึงไม่น่าส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวมากนัก โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากอู่ฮั่นที่เดินทางมาไทยคิดเป็นเพียง 1% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า การเข้าพักของนักท่องเที่ยวปีนี้อาจดีขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยทีเอชเอจะพยายามทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในไทยอยู่ที่ 80% ของจำนวนห้องพัก เหมือนกับปี 2561 จากที่ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 75%

คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มกลับมาดีขึ้นในเดือน ม.ค.นี้ เพราะอยู่ในเทศกาลตรุษจีน ทำให้มีการเข้าพักเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมก็แข่งกันลดราคาเพื่อดึงลูกค้าเข้าพักมากขึ้น ทำให้ปีนี้การแข่งขันด้านราคาห้องพักจะมีความรุนแรงต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นเรื่องที่กระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในสาขาอื่นๆอย่างมาก หลายปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งสะสมในอัตราที่สูง แต่ก็ยังดีที่เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้าง โดยในเดือน ม.ค.นี้ อ่อนค่าสะสมที่ 2.2% ถือเป็นทิศทางที่น่าจะคลายความกังวลได้ แต่ในภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลก็ควรหาเครื่องมือต่างๆมาช่วยส่งเสริมให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0