โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทักษะสำคัญของคนยุคใหม่ที่เมื่อทำอาหารได้ อะไรๆ ก็ดี

HealthyLiving

อัพเดต 12 ก.ค. 2562 เวลา 09.43 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
Healthitude_600x600 (1).jpg

เมื่อก่อนเวลาพูดถึงการทำอาหาร เราคงคิดว่าเป็นเรื่องของแม่บ้าน ของคุณแม่ คุณยาย แต่กับยุคนี้สมัยนี้ การทำอาหารกลายเป็นทักษะของยุคสมัยไปแล้วนะคะ ด้วยความที่คนยุคนี้สนใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีความรู้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บการพฤติกรรมการกินเข้าไปด้วย คนก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เรากินอยู่ข้างนอกบ้านมันเป็นยังไง เราเริ่มหันมาสนใจที่มาของอาหาร เพราะว่าเรากินอะไรเราก็จะได้อย่างนั้น ในเมื่อบางร้านใส่ผงชูรสบ้าง บางร้านปรุงรสมากเกินไปบ้าง บางร้านสะอาดไหมก็ไม่รู้ บางร้านเราก็อยากรู้ว่าเขาใช้วัตถุดิบจากไหน ก็เลยกลายเป็นว่าคนต้องหันมาทำอาหารกินเองไปโดยปริยาย เพราะเราสามารถเลือกวัตถุดิบได้เอง ปรุงรสได้เอง และกำหนดปริมาณได้เองด้วย แต่กับหลายๆ คนที่ไม่ได้ถูกสอนให้เข้าครัวตั้งแต่เด็กๆ เหมือนคนยุคเก่า ชีวิตประจำวันก็ถนัดกินข้าวนอกบ้านมากกว่า จึงอาจจะมองว่าการทำอาหารเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้คิดว่าในยุคนี้เรามีทางลัดมากมาย ทั้งสูตรอาหารเยอะแยะในโลกออนไลน์ คลิปสอนทำอาหารให้ดูกันได้จนอิ่ม หรือคำแนะนำเกี่ยวกับกินเพื่อสุขภาพหรือควบคุมน้ำหนักก็ยังมี เพราะฉะนั้น ขอยืนยันว่าไม่ยากเกินความพยายามค่ะ ยิ่งถ้าเข้าใจเคล็ดลับที่จะเล่าต่อไปนี้ ยิ่งง่ายเข้าไปอีกเยอะ!

เริ่มต้นที่เมนูง่ายๆ โอกาสไปต่อยิ่งสูง ขอแนะนำให้เริ่มต้นจากเมนูที่ง่ายที่สุดก่อนค่ะ เพราะเมื่อเราทำได้ เราก็จะ เฮ้! ทำได้นะ! แล้วค่อยไต่ระดับไปเรื่อยๆ อย่างตัวป๋วยเอง ป๋วยเริ่มจากทำอะไรที่ง่ายๆ ก่อนเลย ตอนไปเรียนเมืองนอก ป๋วยเตรียมอาหารกล่องไปกินเอง ช่วงแรกๆ ก็ทำไข่เจียว ไข่ต้ม แล้วก็ผัดผัก หรือบางวันก็เป็นเมนูเส้นเพราะไม่ต้องหุงข้าว แต่ก็ต้องมีผักเพิ่มเข้ามานะ แค่ต้องรู้ว่าในมื้อหนึ่งเราควรมีข้าว มีโปรตีน มีผัก ทุกประเทศทั่วโลกมีสูตรเดียวกันค่ะ คือ 2:1:1 ผักสองส่วนหรือครึ่งหนึ่งของจาน คาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน โปรตีนอีก 1 ส่วน ส่วนเบสิกของการทำอาหาร เชฟคนหนึ่งชื่อ Samin Nosrat สรุปไว้ดีมากค่ะ เขาบอกว่าหลักการทำอาหารมีอยู่แค่ 4 เรื่องนี้แหละ salt fat acid heat หนึ่งก็คือ salt ปริมาณเกลือหรือความเค็มที่ใส่จะทำหน้าที่ชูรสชาติของอาหารในหนึ่งจานได้ สอง fat คือถ้ามีไขมันก็จะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้น และในแง่ของโภชนาการ ไขมันจะช่วยในการดูดซึมวิตามินบางตัวได้ด้วย อย่างบางคนที่ไม่กินไขมันเลยก็อาจจะมีปัญหาเรื่องขาดวิตามินบางตัวได้ สามคือ acid กรดหรือรสเปรี้ยวที่มาบาลานซ์ salt กับ fat และสุดท้ายคือ heat ความร้อนที่ใช้ ถ้าเราควบคุมความร้อนที่ใช้ได้ มันก็จะออกมาโอเคหมดทุกจานค่ะ ถ้าเราลองทำอะไรเบสิกๆ ดูเพื่อให้เข้าใจหลักการนี้ เราก็จะทำอาหารได้และดีขึ้นค่ะ 

วางแผนดี มีอิ่มไปกว่าครึ่งสำหรับป๋วย สิ่งสำคัญมากๆ คือการวางแผนค่ะ ถ้าแพลนไว้ ทุกอย่างจะง่ายหมด ป๋วยใช้เวลาสัก 10 นาทีก่อนไปซื้อของวันอาทิตย์ ดูว่าในหนึ่งสัปดาห์เราจะกินอะไรบ้าง ต้องซื้ออะไรบ้างที่หมุนเวียนใช้หลายๆ เมนูให้ไม่ซ้ำได้ แล้วก็เก็บแยกใส่กล่องแบ่งไว้ให้ดี อย่างป๋วยซื้อผักมาก็จะล้างให้สะอาด ห่อทิชชู่แล้วใช้ฟ๊อกกี้ฉีดให้ชุ่มๆ  หน่อยแล้วใส่กล่องไว้ มันก็จะไม่เหี่ยวเร็ว เมื่อเราเตรียมวัตถุดิบไว้พร้อมแล้ว กลับบ้านมาก็โยนผักลงกระทะ ข้าวเราก็หุงไว้อยู่แล้วทุกเช้า ไข่เจียวง่ายๆ หรือเราอาจจะทำน้ำซุปเตรียมไว้ทำแกงจืด ก็ได้ออกมาเป็นหนึ่งมื้อแล้ว แรกๆ เราอาจไม่ชินว่าทำไมต้องมานั่งคิดเรื่องการกินล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ด้วย วันๆ ก็มีเรื่องให้คิดมากแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ พอวางแผนได้ กลายเป็นว่าเราตัดเรื่องที่เราต้องกังวลว่าวันนี้จะกินอะไรดีไปแล้วเรื่องหนึ่ง และความที่บางครั้งเราก็ต้องออกไปสังสรรค์ ไปกินข้าวข้างนอกกับเพื่อนๆ บ้าง ก็ไม่ต้องแพลนให้ครบเจ็ดวัน ถือว่าให้รางวัลตัวเองนิดๆ หน่อยๆ บ้างก็ได้ค่ะ

วัตถุดิบดี = อร่อยถ้าเราเลือกวัตถุดิบที่ดี ยังไงอาหารก็ออกมาดีค่ะ บางวันป๋วยไปเดินตลาดกรีนแล้วได้ปลาสดๆ มา แค่โรยพริกไทยนิดหน่อยแล้วเอาไปทอดก็อร่อยแล้ว หรือผักที่สดจริง ๆ เอาลงกระทะแป๊บเดียว เหยาะซีอิ๊วนิดหน่อย ขึ้นมาก็อร่อยเลย หลักๆ ป๋วยจะซื้อของที่โซนตลาดอินทรีย์ใน อตก. ค่ะ บางทีก็ช้อปเลมอนฟาร์มและตลาดกรีนที่จัดเวียนๆ กันในเมืองบ้าง และเลือกผักผลไม้อินทรีย์ไว้ก่อนค่ะ นอกจากอร่อยกว่า ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างมากกว่า อีกอย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือผักอินทรีย์จะเก็บได้นานกว่าผักเคมีปกติ เคยถามพี่ๆ เกษตรกรอินทรีย์ เขาบอกว่าพวกปุ๋ยเคมีจะทำให้สิ่งมีชีวิตย่อยสลายเร็วกว่า ผักก็เลยจะเหี่ยวหรือเน่าเร็วกว่าค่ะ การซื้อผักผลไม้อินทรีย์ตุนไว้ทำอาหารในหนึ่งสัปดาห์จึงโอเคและคุ้มกว่าแน่นอน 

ครบทุกสี มีทุกรสชาติด้วยความที่ชอบทำอาหาร ป๋วยจะคิดถึงความอร่อยและความสนุกในการกินด้วย อย่างอาหารจานผักของเรา ก็ควรจะมีให้ครบทั้งผักสด ผสมกับผัดผัก ผสมกับผักดอง ให้มีครบทุกรสชาติ ครบทุกเท็กซ์เจอร์ และนอกจากเราจะดีไซน์ให้ครบหมู่แล้ว เราจะดีไซน์ให้ครบสี ครบรสชาติก็ได้ด้วยเหมือนกันค่ะ สำหรับป๋วย ถ้าใช้วิธีนี้ก็ไม่ต้องมากังวลเลยว่าเรากินวิตามินครบทุกตัวในหนึ่งมื้อหรือยัง เพราะเราได้สารพฤกษเคมีครบจากผักสีขาว แดง เหลือง เขียว ม่วง เรียบร้อยแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือป๋วยชอบกินสลัด ก็จะดีไซน์ให้สลัดเป็นจานอิ่มไปเลย คือมีเนื้อสัตว์เป็นของร้อนอยู่ในจาน เพิ่มถั่วที่มันกรุบๆ หน่อย ตัดด้วยของดองให้มีมิติของรสชาติ บางทีก็เพิ่มผลไม้ตามฤดูกาลเข้าไปด้วย ให้มีความสนุกสนานในการกิน มีหลายรสสัมผัส ทำให้การกินสลัดไม่น่าเบื่อด้วยนะคะ

รสนัวของตัวเองนอกจากเครื่องปรุงรสที่เราหาซื้อได้ตามท้องตลาดแล้ว ความสนุกอย่างหนึ่งของป๋วยคือการสร้างรสชาติของตัวเองค่ะ สมมติถ้าเรามีสมุนไพรเหลือๆ ก็แค่ตั้งน้ำมันบนเตาให้พอร้อนแล้วใส่สมุนไพรลงไป ยกออกทิ้งไว้ข้ามคืน เราก็จะได้น้ำมันรสนั้นๆ มาใช้ทำอาหารให้อร่อยขึ้น พิเศษขึ้น ป๋วยใช้น้ำมันรำข้าวสำหรับไว้ทำอาหาร ส่วนน้ำมันมะกอกจะไว้ใช้ทำสลัด เราจะใช้ใบไทม์ หอมแดง พริกแห้ง กระเทียม มะแขว่น อะไรก็ได้เลยค่ะ หรืออยากได้น้ำมันกุ้ง ก็เอาเปลือกกุ้งอินทรีย์ที่เราแกะแล้วมาคั่วน้ำมัน แล้วกรองเปลือกทิ้งไปก็จะได้น้ำมันกลิ่นกุ้งเหมาะกับเมนูซีฟู้ดแล้วค่ะ 

อิ่มท้อง อิ่มอก อิ่มใจข้อดีการทำอาหารกินเองคือการที่เราได้รู้ว่าสิ่งที่เรากินเข้าไปมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เพราะเราทำเอง ใส่เอง บางคนปลูกเองยิ่งเลิศเข้าไปใหญ่เลยค่ะ แล้วเราก็สามารถกำหนดรสชาติ กำหนดปริมาณ ตามความชอบของเราได้เลย เรียกว่าชอบกินอะไรก็ใส่ลงไป ไม่ต้องไปสั่งไปลุ้นที่ร้านให้เหนื่อย ที่สำคัญ ป๋วยรู้สึกว่าการเข้าครัวคือการผ่อนคลาย เป็นการใช้สมาธิอย่างหนึ่ง เราอาจจะเคยได้ยินเรื่อง mindful eating จริงๆ แล้วก็ยังมีเรื่อง mindful cooking ด้วยเหมือนกันนะคะ เพราะการทำอาหารเป็นเรื่องการฝึกสติ ฝึกสมาธิ และฝึกให้เรารู้สึกนึกคิดเรื่องการกินมากขึ้น มีสติกับการกินมากขึ้น เพราะเราอยู่กับมันทั้งกระบวนการตั้งแต่เลือกวัตถุดิบ ปรุง และกลายเป็นอาหารตรงหน้า มันคือผลงานที่เราสัมผัสได้ครบทุกรส ได้กลิ่นตอนทำ ได้ยินเสียง ได้เห็นด้วยตา แล้วก็ได้ชิม ยิ่งทำให้คนอื่นกินแล้วเขาเอนจอยไปด้วย สำหรับป๋วย มันเป็นความรู้สึกที่ฟินมากนะคะ 

ป๋วย อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ดีกรีปริญญาโทด้านการกำหนดอาหารจากสหรัฐอเมริกา และเจ้าของคาเฟ่โฮมเมด little sunshine cafe ผู้เชื่อว่าอาหารสุขภาพก็อร่อยได้ และสนุกได้มากกว่าที่เราคุ้นเคย   

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0