โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทอม วูลฟ์ : บิดาแห่ง GS Trophy ผู้ตกหลุมรักการขี่มอเตอร์ไซค์ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ

Manager Online

อัพเดต 15 ธ.ค. 2561 เวลา 09.08 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2561 เวลา 09.08 น. • MGR Online

“คุณน่าจะเป็นนักข่าวคนแรกของโลก ที่ได้นั่งคุยกับลุงทอมอย่างใกล้ชิดและนานขนาดนี้” ครูไก๋-ปฏิมา กองเพชร เจ้าบ้านเอ็นดูโร่ พาร์ค ไทยแลนด์ เอ่ยขึ้นหลังจากผมกดปุ่มสิ้นสุดการบันทึกเสียง

ลุงทอมหรือฝรั่งผมสีดอกเลาตรงหน้า แกมีชื่อว่า ทอม วูลฟ์ (Tomm Wolf) เจ้าของฉายา มิสเตอร์ จีเอส โทรฟี่ อันมีที่มาที่ไปเข้าใจง่ายมากๆ เนื่องจากเป็นผู้คิดค้นและให้กำเนิดกิจกรรมชื่อก้องโลกอย่าง จีเอส โทรฟี่ (GS Trophy) อีเว้นต์ยักษ์ใหญ่สุดหฤโหด แต่อุดมไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ทำให้เหล่าแฟนคลับค่ายใบพัดสีฟ้าทั่วโลกต่างคลั่งไคล้

กิจกรรมนี้มันน่าสนใจขนาดนั้นเลยหรือ?

ผมเก็บความสงสัยไว้ในใจ ตั้งเป้าหลังจบคอร์สเรียนกับแก จะขอรบกวนเวลาสักครู่เพื่อถามข้อมูลทำความรู้จักเกี่ยวกับกิจกรรมที่ว่าให้มากขึ้นหน่อยได้ไหม แม้ไม่ใช่สาวกบีเอ็มดับเบิลยู แค่ในฐานะคนชอบขี่มอเตอร์ไซค์ก็ยังดี

และนี่คือเสียงสนทนาระหว่างเรา

-จุดเริ่มต้นของกิจกรรม จีเอส โทรฟี่ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ผมเริ่มทำงานที่บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด เอจี (ที่ประเทศเยอรมณี) มาตั้งแต่ปี 1990 คลุกคลีกับการขับขี่มอเตอร์ไซค์สายแอดเวนเจอร์มาโดยตลอด จนวันหนึ่งทางบีเอ็มฯ ให้โจทย์มาว่า ต้องการจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าผู้ใช้รถตระกูล จีเอส ซึ่งว่ากันตามตรง มันก็คือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาดอย่างหนึ่ง

ทีนี้ตัวผมและทีมก็ประชุมกัน หารือถกเถียงกัน จนในที่สุดตกผนึกเป็นอีเว้นต์นี้ขึ้นมา นี่คืองานที่จัดขึ้นเพื่อคนขี่จีเอส มีโอกาสเพียงครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้มาสัมผัสประสบการณ์ร่วมกัน

-ปีแรกที่ทำฟีดแบ็กเป็นไงบ้าง

เราออกสตาร์ทเมื่อปี 2008 เริ่มต้นด้วยทีมที่เข้าร่วมกิจกรรม 5 ทีม ได้แก่ ตัวแทนจากเยอรมณี, ญี่ปุ่น, สเปน, อิตาลี และอเมริกา ต่อมาครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2010 คราวนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น นับเป็นการพัฒนาที่ดี เพราะมีทีมแข่งขันเพิ่มเท่าตัว จาก 5 เป็น 10 ทีม

ส่วนในปีล่าสุด 2018 มีจำนวน 19 ทีม และอนาคตปี 2020 ผมคาดหวังตัวเลขอยากให้มีถึง 24 ทีม (ทีมหญิงล้วน 3 ทีม ที่คาดหวังให้มี)

-ทำไมต้องเว้นความถี่ 2 ปีครั้ง ทำไมไม่จัดปีละครั้ง

เหตุผลตรงส่วนนี้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ เพราะในแต่ละทีมหรือแต่ละประเทศ ต้องมีการคัดเลือกผู้เป็นตัวแทนในรอบควอลิฟายก่อน รวมถึงทางผมและทีมมาร์แชลเองก็ต้องสำรวจเส้นทางกันก่อนด้วยเช่นกัน ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ มันต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนอีกเหตุผลก็คือ ในแต่ละปี บีเอ็มฯ มีกิจกรรมใหญ่ๆ อยู่แล้ว เช่น บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด เดย์ เป็นต้น

-เสน่ห์ของกิจกรรม จีเอส โทรฟี่ คืออะไร ใช่ถ้วยรางวัล เงินทอง ชื่อเสียง หรืออะไรในเชิงผลตอบแทนหรือเปล่า

“มันไม่ใช่การแข่งขัน” (It's not a race คือ ประโยคที่ลุงทอมย้ำเสมอเมื่อมีคนถามถึง จีเอส โทรฟี่)

ในแต่ละที่ ในแต่ละประเทศที่เราไปจัดกิจกรรม ทั้งหมดล้วนเป็นสถานที่พิเศษ ไม่ใช่รางวัล ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มันเป็นโอกาสเพียงครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผู้ขับขี่บีเอ็มดับเบิลยูจะได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ตรงนี้

ใครก็ตามที่เคยเข้าร่วมแล้ว (ยกเว้นทีมงาน) จะไม่สามารถเข้าร่วมได้อีก มันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตเท่านั้นจริงๆ จบแล้วจบเลย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ตาม ได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต

-ฟังดูลึกลับมาก ถ้าไม่ผ่านการคัดเลือก สามารถซื้อบัตรไปดูแทนได้มั้ย

โนเวย์ ไม่มีขาย เพราะเราบริหารจัดการทุกอย่างเพื่อดูแลคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้เท่านั้น เช่น อาหาร ที่พัก หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุหากเกิดกับผู้เข้าชม เราไม่ได้วางแผนเพื่อรองรับคนอื่นๆ มีแค่ผู้เข้าแข่งขันเท่านั้น นี่คือกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าผู้ใช้จีเอสทั่วโลกอย่างแท้จริง

ก่อนนี้เคยมีคนยอมจ่าย เพื่อขอเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย แต่ทางบีเอ็มฯ ไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาด

-งั้นเล่าหน่อยสิ ว่าคุณพาพวกเขาไปทำอะไรกัน ไปแข่งอะไรกัน

สรุปง่ายๆ แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ 5 อย่าง ในระหว่างวันก็จะแตกต่างกันออกไป หนึ่ง-เริ่มจากการขับขี่ ต้องทำตามโจทย์ที่ได้รับ ขี่เร็วใช่ว่าจะชนะ เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข บางทีช้าก็ชนะได้

สอง-การทดสอบพละกำลัง เช่น ตั้งโจทย์ให้ช่วยกันจูงรถข้ามภูเขา สาม-ใช้ระบบนำทางเนวิเกเตอร์ของบีเอ็มฯ หาจุดหมายที่กำหนดไว้ สี่-ทดสอบความรู้ทางเทคนิคช่างเพื่อเอาตัวรอด เช่น สั่งให้ถอดล้อเมื่อรถมีปัญหา หรือแก้ปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับตัวรถ และทีมสามารถไปต่อได้

และสุดท้าย ห้า-การมีส่วนร่วมกับพื้นที่ คราวที่แล้ว(ปี 2018) จัดที่มองโกเลีย เราก็ให้พวกเขาแข่งยิงธนู หรือตอนมาจัดในไทย(ปี 2016) ก็มีคำถามง่ายๆ ที่คนคาดไม่ถึง อย่างให้บอกว่าจุดที่พวกเขายืนอยู่ สูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ หรือกระทั่งหันหลังไปแล้วหันกลับมา ให้ตอบว่ากอไผ่ที่เห็นมีกี่ต้น

(ก่อนคำถามถัดไป ผมบอกลุงทอมว่า ผมสรุปแบบนี้ได้มั้ย นี่คืออีเว้นต์ใหญ่ที่เอาลูกค้าจีเอสมาเอ็นจอยกับรถ มาเรียนรู้เข้าถึงเทคโนโลยีตัวรถ มาทำกิจกรรมร่วมกัน มาซึมซับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ด้วยกัน หรือชัดๆ เลย มาสนุกกัน พูดจบประโยคปุ๊ป ครูไก๋-ผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลพยักหน้าตอบรับ)

-จีเอส โทรฟี่ 6 ครั้งที่ผ่านมา(ระหว่างปี 2008-2018) คุณประทับใจการจัดงานที่ประเทศไหนมากที่สุด

ถามแบบนี้เหมือนถามคนเป็นแม่ว่า ถ้ามีลูก 6 คน รักคนไหนมากที่สุด มันยากที่จะให้คำตอบ ทุกครั้งในแต่ละพื้นที่มันมีเสน่ห์แตกต่างกันไป(แกตอบด้วยรอยยิ้ม พร้อมแววตาฉายภาพลูกๆ ที่รักทั้ง 6 คน)

-ไม่อยากรบกวนเวลาคุณมาก ความสงสัยอีกอย่างตลอดการสอนวันนี้ ดูคุณมีความเชี่ยวชาญคล่องแคล่ว แถมยังดูมีความสุขมากกับการขับขี่ เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

ปีนี้ผมอายุ 60 แล้ว ผมขี่ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ผมได้รับมอเตอร์ไซค์เป็นของขวัญครั้งแรกตอนนั้น และตั้งแต่นั้นมามอเตอร์ไซค์ก็คือของเล่นเพียงอย่างเดียวของผม ถ้านับคร่าวๆ มีประสบการณ์มานานกว่า 45 ปีแล้ว

ไม่รู้จะตอบอย่างไร ถ้าคุณรักบางสิ่ง คุณจะทำมันเป็นอัตโนมัติ ผมรักในการขี่ ทุกครั้งที่ได้ขี่คือความสุข ไม่ว่าใกล้หรือไกล และผมรักที่จะสอนผู้คนขี่มอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์คือทั้งชีวิตของผม

-สำหรับคนรักมอเตอร์ไซค์ ชีวิตคุณน่าอิจฉามาก หลังจากนี้ คุณตั้งเป้าหมายอย่างไร

ก็คงทำงานที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์ต่อไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นอีก 25 ปี (ส่งยิ้มไปหาภรรยาที่นั่งอยู่ใกล้ๆ) คงถึงเวลาไปขี่รถเที่ยวรอบโลกกับคนพิเศษของผม.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0