โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทรานส์ในอินเดีย

The Momentum

อัพเดต 25 ก.ค. 2561 เวลา 07.19 น. • เผยแพร่ 25 ก.ค. 2561 เวลา 07.19 น. • โตมร ศุขปรีชา

In focus

  • ชุมชนคนข้ามเพศในอินเดียถูกเหยียดและถูกผลักไสให้ไปอยู่ตรงชายขอบ เมื่อเข้าถึงการศึกษาไม่ได้ ก็ส่งผลต่อเรื่องงานอาชีพ และทำให้สังคมมองว่าเป็นภาระของสังคมไป โดยไม่ได้ย้อนกลับไปดูว่าตัว ‘โครงสร้าง’ เป็นผู้สร้างปัญหานี้ขึ้นมาเอง
  • คนข้ามเพศ (ซึ่งคนอินเดียเรียกว่า Hijras) เพิ่งจะได้รับสิทธิให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในฐานะ ‘เพศที่สาม’ เมื่อปี 1994 นี้เอง
  • รัฐอย่างเคราลา (Kerala) ทางใต้ของอินเดีย เพิ่งประกาศ ‘การดูแล’ คนข้ามเพศ (หรือ Transgender) ขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา

หลายคนคงพอรู้ว่า ชีวิตของ ‘คนข้ามเพศ’ ในอินเดียไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย เพราะอินเดียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ ซ้อนทับอยู่ด้วยความคิดความเชื่อหลากหลาย แค่เรื่องของชาติพันธุ์วรรณะก็เต็มไปด้วยการแบ่งแยกมากมายซับซ้อนแล้ว จึงแทบไม่ต้องพูดถึงเรื่องเพศ ว่าเพศที่ต่างไปจาก Norm ของสังคม จะต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันกดข่มมากแค่ไหน

เคยมีการสำรวจประชากรอินเดียในปี 2011 และมีตัวเลขคนข้ามเพศที่ลงทะเบียนกับรัฐในอินเดียมากถึง 480,000 คน (นี่หมายถึงเฉพาะคนที่เปิดเผยและแจ้งกับทางการว่าตัวเองเป็นคนข้ามเพศนะครับ แต่น่าจะมีอีกมากมายที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง) แต่การเลือกปฏิบัติและการเหยียดคนข้ามเพศในอินเดียนั้นฝังรากลึกมาก ทำให้อาชญากรรมที่เกิดกับคนข้ามเพศ ทั้งอาชญากรรมทางร่างกายและการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อคนข้ามเพศสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็มีอยู่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ รัฐอย่างเคราลา (Kerala) ซึ่งเป็นรัฐทางใต้ของอินเดีย ก็เพิ่งประกาศ ‘การดูแล’ คนข้ามเพศ (หรือ Transgender) ขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อให้กระบวนการ ‘ตอกตรึง’ (Stigmatization) คนข้ามเพศเอาไว้ในกรอบกรงของสังคมนั้น มีความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

ชุมชนคนข้ามเพศในอินเดียคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกเหยียดและถูกผลักไสให้ไปอยู่ตรงชายขอบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง การเหยียดที่ว่าเป็นการเหยียดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการผลักคนเหล่านี้ออกไปจากระบบการศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย เพราะเมื่อเข้าถึงการศึกษาไม่ได้ ก็ส่งผลต่อเรื่องงานอาชีพ และทำให้สังคมมองว่าคนเหล่านี้เป็นภาระของสังคมไปโดยไม่ได้ย้อนกลับไปดูว่าตัว ‘โครงสร้าง’ เป็นผู้สร้างปัญหานี้ขึ้นมาเองตั้งแต่ทีแรกอย่างไร

รัฐเคราลาจึงพยายามเปิดที่ทางให้คนข้ามเพศมากขึ้น ด้วยการออกกฎให้ทุกมหาวิทยาลัยของรัฐต้องเพิ่มที่นั่งสำหรับคนข้ามเพศในทุกชั้นเรียน ชั้นละสองที่นั่ง ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากชุมชนคนข้ามเพศในอินเดียเป็นอย่างดี แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้านก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามจะชดเชยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

สังคมมองว่าคนเหล่านี้เป็นภาระของสังคมไปโดยไม่ได้ย้อนกลับไปดูว่าตัว ‘โครงสร้าง’ เป็นผู้สร้างปัญหานี้ขึ้นมาเองตั้งแต่ทีแรกอย่างไร

ในอินเดีย เด็กที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนข้ามเพศ มักประสบปัญหาชีวิตมากมาย ตั้งแต่ถูกไล่ออกจากบ้านเพราะพ่อแม่รับไม่ได้ที่ลูกเป็นแบบนี้ หรือถ้าไม่ถูกไล่ก็อาจต้องหนีออกจากบ้านด้วยตัวเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนข้ามเพศมักจะถูก ‘กีดกัน’ (Exclude) ออกจากสังคมไปเลย แต่ความพยายามของรัฐเคราลา คือการหวนกลับมา ‘นับรวม’ (Include) คนเหล่านี้อีกครั้ง

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของอินเดีย หลายคนอาจประหลาดใจที่ได้รู้ว่า คนข้ามเพศ (ซึ่งคนอินเดียเรียกว่า Hijras) เพิ่งจะได้รับสิทธิให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในฐานะ ‘เพศที่สาม’ เมื่อปี 1994 นี้เอง แต่กระนั้น ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการทางการแพทย์ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2014 ศาลสูงของอินเดียก็มีคำสั่งให้รัฐต้องดูแลคนข้ามเพศให้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งก็หมายถึงการสร้างที่ทางทั้งด้านการศึกษาและงานให้กับคนข้ามเพศ เพราะถือว่าคนข้ามเพศก็มีสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเพศสภาวะของตัวเอง

คำสั่งของศาลส่งผลให้เกิดการร่างกฎหมายชื่อ Rights of Transgender Persons Bill ขึ้นมา เพื่อรับประกันสิทธิของคนข้ามเพศ แต่ร่างแรกของกฎหมายนี้ถูกประท้วงในหลายด้าน กฎหมายนี้รัฐบาลเป็นผู้ร่างขึ้นในปี 2014 เป็นกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติและการบังคับใช้แรงงาน รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อคนข้ามเพศในกรณีต่างๆ แต่ร่างแรกออกมาแล้วไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มคนข้ามเพศ เพราะร่างขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ เช่น การให้นิยามของการล่วงละเมิดทางเพศที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน โทษที่ตราไว้ในกฎหมายยังไม่มากพอ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือนิยามของคำว่าคนข้ามเพศหรือ Transgender อันเป็นนิยามที่ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้

เรื่องสำคัญหนึ่งที่คนลุกขึ้นมาประท้วงก็คือการลงโทษผู้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศคนข้ามเพศ ซึ่งในกฎหมายให้มีโทษสูงสุดคือการจำคุกนานสองปี แต่กลุ่มคนข้ามเพศเห็นว่าน้อยไป โทษที่น้อยแบบนี้ แทนที่จะไปลดอาชญากรรม อาจกลายเป็นการเร่งให้เกิดอาชญากรรมในด้านนี้มากขึ้นก็ได้ เพราะโทษสูงสุดไม่ได้มากมายอะไรนัก เช่นถ้าคนข้ามเพศถูกข่มขืน อย่างมากที่สุดคนร้ายก็จะติดคุกนานสองปี ในขณะที่อาชญากรรมลักษณะเดียวกันถ้าเกิดกับผู้หญิงที่เป็นผู้เยาว์ โทษนั้นสูงถึงระดับประหารชีวิต หรือการข่มขืนผู้หญิงที่โตแล้ว ก็อาจต้องติดคุกตลอดชีวิต ทำให้กลุ่มคนข้ามเพศรู้สึกว่า แม้รัฐจะเริ่มเข้ามาดูแลพวกเขา แต่ก็ยังไม่เสมอภาคทัดเทียมกับคนเพศอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับ และประกาศว่าจะแก้ไขร่างกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว

ถ้าคนข้ามเพศถูกข่มขืน อย่างมากที่สุดคนร้ายก็จะติดคุกนานสองปี ในขณะที่อาชญากรรมลักษณะเดียวกันถ้าเกิดกับผู้หญิงที่โตแล้ว ก็อาจต้องติดคุกตลอดชีวิต

ไม่ใช่แค่เคราลาเท่านั้นที่เริ่มกำจัดการเลือกปฏิบัตินี้ แต่อีกรัฐหนึ่งที่มีกฎหมายเพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ก็คือทมิฬนาดู (Tamil Nadu) สองรัฐนี้ถือว่าเป็นหัวหอกในเรื่องนโยบายสวัสดิการสำหรับคนข้ามเพศ ตัวอย่างเช่น คนข้ามเพศสามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ (Sex Reassignment Surgery) ในโรงพยาบาลของรัฐได้ฟรี (แต่เฉพาะแปลงเพศจากชายเป็นหญิงเท่านั้น) รวมไปถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ

นโยบายเหล่านี้ทำให้รัฐอื่นริเริ่มทำตาม เช่นรัฐโอดิสสา (Odisha) ที่เริ่มมีสวัสดิการคล้ายคลึงกัน หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับสาธารณสุข ก็แนะนำรัฐต่างๆ ให้ออกกฎอนุญาตให้คนข้ามเพศสามารถเลือกเข้าห้องน้ำได้ตามการเลือกของตัวเอง คือไม่ต้องถูกบังคับให้ไปเข้าห้องน้ำตามเพศกำเนิดเสมอไป

อย่างไรก็ตาม รัฐที่ถือว่าก้าวหน้าที่สุดในเรื่องนี้ก็ยังเป็นเคราลาอยู่ดี เรื่องของระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องเดียวที่เคราลาพยายามทำ เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้ว เมื่อปีที่แล้ว ทางการก็ยังประกาศรับคนข้ามเพศเข้าทำงานในองค์กรเกี่ยวกับการเดินรถไฟของรัฐด้วย รวมทั้งมีการวางแผนสวัสดิการสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ซึ่งต้องการแผนสวัสดิการแตกต่างไปจากคนที่มีครอบครัวทั่วไปอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์คนข้ามเพศในอินเดียนั้นดีขึ้นมาก แต่ ‘ราก’ ทางสังคมและวัฒนธรรมนานนับพันๆ ปี ก็ยังฝังลึก ทำให้นักต่อสู้ในเรื่องเพศของอินเดียยังต้อง ‘ทำงาน’ สร้างความเข้าใจต่อไปอีกมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น