โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถ้าโลกนี้ไม่มี “เงิน” ทุกคนจะเท่าเทียมกัน...จริงหรือ!

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 10 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.

ถ้าโลกนี้ไม่มี “เงิน” ทุกคนจะเท่าเทียมกัน…จริงหรือ! 

เงิน เงิน เงิน! เงินเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถึงแม้ใครจะอยากพูดเท่ๆว่า  “เงินนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต”  แต่ก็ยังคงต้องยอมรับว่ามัน “สำคัญ” และมีบทบาทอย่างมากกับชีวิตคนเรา และในโลกปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่ายิ่งคนเรามีเงินมากเท่าไหร่ ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่แปลกที่คนเรามักจะดิ้นรนไขว่คว้าหาเงินทอง เพราะต้องการ ชีวิตดีดีกันทั้งนั้น 

ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณสุขที่ดีกว่าเมื่อยามเจ็บป่วย ชีวิตที่ปลอดภัยกว่า แม้กระทั่งว่าคำพูดที่ว่า “คนรวย…ทำอะไรก็ไม่ผิด”  ยังคงเป็นคำพูดที่มีให้ได้ยินกันทุกยุคทุกสมัย ชีวิตของคนมีเงินมากจึงเป็นอะไรที่หลายคนใฝ่ฝันถึง จนมีคนบางกลุ่มที่ออกมาพูดว่า 

“หากโลกนี้ไม่มีเงินเราทุกคนก็คงจะเท่าเทียมกันมากกว่านี้” 

อันที่จริงแล้ว แนวความคิดเรื่องความเท่าเทียมกัน และการใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีเงินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่…แนวคิดที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกันและการใช้ชีวิตโดยไม่มีเงินนั้นเป็นสารตั้งต้นของแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์(Communism)”  ที่อาจฟังดูน่ากลัว เพราะมีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่การสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นถือเป็นอาชญากรรม เพราะคอมมิวนิสต์นั้นถูกเอาไปเชื่อมโยงกับลัทธิ “เผด็จการ” แต่จริงๆแล้ว หากมองในเชิงรัฐศาสตร์…คอมมิวนิสต์เป็นเพียงอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากความไม่พอใจในความไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ยุคโบราณ ตั้งแต่ในยุคเจ้าขุนมูลนายมา ผู้ที่มีศักดินามากกว่าก็จะมีเงินทองและอำนาจกดขี่ผู้ที่อยู่เบื้องล่าง เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ธุรกิจและการค้าเฟื่องฟูจนเกิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) ขึ้นมาซึ่งอำนาจและศักดินาจากที่เคยอยู่ในมือของเจ้าขุนมูลนายก็ถูกถ่ายโอนย้ายมาอยู่ในมือของ “คนรวย” นั่นเอง 

กลับกลายเป็นว่าคนจนก็ยิ่งจนลง และคนรวยก็กลับยิ่งรวยขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบนี้นี่เองทำให้มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ขึ้นมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเสนอว่า “ไม่ควรให้ใครมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นส่วนตัว ของทุกอย่างนั้นถือเป็นของรัฐ และนำมาแจกจ่ายให้ทุกๆคนอย่างเท่าเทียมกัน” และ “ไม่มีการใช้เงินในการแลกเปลี่ยน แต่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าแทน"  ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง แต่แน่นอน ในความเป็นจริงจะพบได้ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์เองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะประเทศคอมมิวนิสต์ก็ยังคงต้องติดต่อค้าขายกับประเทศเสรีประชาธิปไตยเพื่อความอยู่รอด และในประเทศคอมมิวนิสต์เองก็ยังมีผู้ที่ได้ส่วนแบ่งมากกว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูง ดังนั้นการเป็นคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความเท่าเทียมดั่งที่นักปรัชญาทางการเมืองเคยวาดฝันเอาไว้ 

นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่าการค้าขายต่างๆ หากไม่มีเงินเป็นตัวแปรแล้วก็จะเกิดความยากในการประเมินมูลค่า คิดง่ายๆว่าหากเราจะเอาถั่วไปแลกกับข้าว เราก็อาจต้องคำนวนว่าต้องใช้ถั่วกี่เม็ดในการแลกข้าวหนึ่งกระสอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยาก 

การนำ “เงินออกไปจากระบบจริงๆจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก 

อย่างไรก็ตามความเท่าเทียมนั้น แท้จริงจึงไม่ได้เกี่ยวกับเงิน แต่เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานที่พลเมืองควรได้รับ หากประเทศเรามีสวัสดิการที่ดีที่เข้าถึงคนทุกชนชั้น มีความปลอดภัยที่สูง มีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ศาลที่ไม่ว่าจะรวยหรือคนจนจะฟ้องกันก็ตัดสินเป็นไปอย่างยุติธรรม การมีเงินที่ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการก็จะไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไปนัก 

แต่การที่ เงินยังถูกเชื่อมโยงว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด ความไม่เท่าเทียมก็อาจเพราะว่าเรากำลังอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มี “หลักประกัน” ว่าเราจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของเราอย่างเท่าเทียม เราอาจจะกำลังอยู่ในที่ที่เราไม่สามารถแน่ใจว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองจะได้รับ “ความยุติธรรม” อย่างเต็มที่ อาจเพราะเราอยู่ในที่ที่คดีหลายๆคดียังคงเป็นปริศนา และคนที่ทำผิดที่มีเงินมากก็ยังคงได้รับการเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคม ทำให้เรารู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและเข้าใจว่าหากโลกนี้ไม่มีเงิน…ทุกคนก็จะเท่าเทียมกัน

ซึ่งแท้จริงนั้นอาจสรุปได้ว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมแต่เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เราเห็นความไม่เท่าเทียมได้ชัดเจนขึ้นต่างหาก 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0