โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ถ้าเป็นแต่ก่อน...เขาตัดหัวมึงเจ็ดชั่วโคตร” รัชกาลที่ 6 ทรงแกล้งขู่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในวัยเด็ก?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 15 ส.ค. 2565 เวลา 06.49 น. • เผยแพร่ 12 ส.ค. 2565 เวลา 13.35 น.
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก คึกฤทธิ์ 2528)

ในสังคมเก่าเจ้านายหลายพระองค์ ทรงให้การอุปการะเด็กชาย ให้ได้เรียนรู้หนังสือ และฝึกงานต่างๆ เพื่อเป็นมหาดเล็ก, ข้าราชสำนัก, ทหาร ฯลฯ ในสังกัดของเจ้านายพระองค์นั้นๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กไว้หลายสิบคน ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

เด็กๆ เหล่านี้ ข้าในกรมเรียกว่า “หม่อมเข้าและบุตรข้าราชการ” เด็กๆ ในพระอุปการะทั้งหมดได้รับพระราชทานทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค การศึกษา และยังพระราชทานเงินค่าขนมเป็นรายเดือน อาหารที่พระราชทานนั้นวันละ 3 เวลา

สำหรับ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวัยเด็กก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในหนังสือ “คึกฤทธิ์ 2528” โดย สละ ลิขิตกุล และกองบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน เล่าถึงประสบการณ์วัยเด็กของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้ดังนี้

เมื่อตอน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เกิดนั้น มีเรื่องในครอบครัวท่านว่า ก่อนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะเกิด พระบิดาของท่านต้องย้ายตำแหน่งราชการจากมณฑลนครสวรรค์ไปอยู่มณฑลพิษณุโลกได้ประมาณ 4 เดือน ต่อมามีข่าวว่าสมเด็จพระพันปีหลวง จะเสด็จประพาสมณฑลพิษณุโลก มีการเตรียมการถวายการต้อนรับเป็นการใหญ่

พระองค์เจ้าคำรบก็ให้หม่อมแดงซึ่งอยู่ทางกรุงเทพฯ ขึ้นไปเฝ้าด้วย หม่อมแดงกำลังตั้งครรภ์อยู่ใกล้จะคลอดมากแล้ว เดินทางโดยทางเรือขึ้นไปพิษณุโลก ครั้นถึงตำบลบ้านม้า อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรีท่านก็คลอดบุตรในเรือ เมื่อวันพฤหัสที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2455 เวลา 07.20 น. จากนั้นก็เดินทางต่อโดยรถไฟไปพิษณุโลก

หลังจากที่หม่อมแดงเดินทางถึงพิษณุโลกแล้ว ขบวนเสด็จของสมเด็จพระพันปีหลวง ก็เสด็จถึงพิษณุโลก พระบิดาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตอนนั้นเป็นแม่ทัพ 2 ได้ปลูกพลับพลารับเสด็จ และเชิญนายทหารผู้ใหญ่ในมณฑลนั้นเข้าเฝ้า และได้ทรงอุ้ม ม.ร.ว.ผู้บุตรเข้าเฝ้าด้วย

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรับมาอุ้ม และรับสั่งกับเด็กว่า “เจ้าชื่อคึกฤทธิ์แล้ว เอ้า จงทําท่าคึกไป” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็เต้นอยู่ในวงพระกร จนสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเหนื่อย จึงเรียกให้พ่อมารับไป และพระราชทานนามว่า “คึกฤทธิ์” และรับสั่งให้คึกอีกที เด็กก็เต้นตามรับสั่งต่อหน้าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นอันมาก ในพลับพลาที่ปลูกกลางสนามในการรับเสด็จ

และหลังจากเสด็จกลับจากภาคเหนือแล้ว ก็พระราชทานจดหมายฉบับหนึ่ง โดยทรงรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นทายาทของพระองค์ท่าน ในลายพระหัตถ์นั้นว่า “ข้าพเจ้าขอรับ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหลานบุญธรรม ถ้าข้าพเจ้าสิ้นชีวิตลงไป ก็ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าทุกคนจงรับทราบโดยทั่วกันว่าข้าพเจ้ารับคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหลานย่าของข้าพเจ้า ถ้าคึกฤทธิ์ยากจนลงเมื่อข้าพเจ้าหาชีวิตไม่แล้ว ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าทุกคน จงให้ส่วนแบ่งแก่คึกฤทธิ์ เท่าหลานย่าของข้าพเจ้าทุกคนด้วยเทอญ…ลงพระนามาภิไธย”

เนื่องจากสมเด็จพระพันปีหลวง พระราชทานชื่อและทรงอุปการะตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ชีวิตตอนเป็นเด็กเล็กๆ จึงวิ่งเล่นอยู่ในวังพญาไทในตอนกลางวัน พอค่ำก็กลับไปนอนบ้าน ระหว่างนั้นถ้าหม่อมแดงเข้าวังหลวง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ตามแม่เข้าไปด้วย ไปเข้าเฝ้าเจ้านายตามตําหนักต่างๆ และจดจํามาเขียนนวนิยายสี่แผ่นดิน ได้อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม

พอโตขึ้นหน่อยก็เข้าพระราชสํานักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งหนึ่งขณะที่วิ่งเล่นอยู่ในพระราชสํานักนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เกือบจะไปชนพระองค์ท่านล้ม พระองค์ทรงเอาธารพระกรคล้องหัวแล้วถามชื่อตัว ชื่อพ่อ ชื่อแม่ แล้วก็รับสั่งว่า

“มึงรู้ไหม ถ้าเป็นแต่ก่อน มึงชนกูตกกระไดตายนี้ เขาตัดหัวมึงเจ็ดชั่วโคตร”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กลัวเต็มที่ หมอบกราบอยู่ เสร็จแล้วพระองค์ท่านก็ไม่ทรงว่าอะไร ยื่นธารพระกรให้ตรัสว่า “เอ้า ถือไม้เท้ากูไป” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เลยเชิญธารพระกรท่านไปส่งถึงที่รถพระที่นั่ง ข้าราชสํานักเห็นเข้าก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทรงรับสั่งถามถึงชีวิตในบ้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่า “พ่อมึงมีเมียกี่คนวะ” ก่อนที่จะรับสั่งถาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ด้วยคําถามนี้นั้น ท่านทรงถามเด็กคนอื่นๆ ก่อนแล้ว เพื่อนๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตอบกันว่า มี 5 คนบ้าง, 6 คนบ้าง, บางคนมีถึง 7 คน ดังนั้นพอถึงคราวที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทูลตอบ ท่านกลัวจะน้อยหน้าเพื่อนๆ ก็เลยกราบบังคมทูลว่ามี 3 คน

ต่อมาท่านพ่อของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีโอกาสร่วมโต๊ะเสวย ในหลวงก็มีพระราชดํารัสถามว่า “นั่นลูกมันบอกว่ามีเมีย 3 คนหรือ” พอท่านพ่อกลับมาบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เลยถูกเตะคว่ำด้วยความโมโห

ข้อมูลจาก :

สละ ลิขิตกุล และ กองบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน. คึกฤทธิ์ 2528, (ไม่ได้ระบุสำนักพิมพ์)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0