โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถูกสั่งเป็นผู้ทิ้งงาน:เพราะก่อสร้างไม่เสร็จไม่มีเหตุอันสมควร

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 01.08 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น.

มีอำนาจพิจารณาออกคำสั่งให้คู่สัญญาในสัญญาทางปกครองเป็นผู้ทิ้งงานได้นั้น ต้องเข้าหลักเกณฑ์สองประการ คือ ประการแรก คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญา และประการที่สอง การไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวไม่มีเหตุผลอันสมควร…

อ่านข่าวนี้… รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุเพราะเศษมันสำปะหลังตกหล่น

ซึ่งคำสั่งให้เป็น"ผู้ทิ้งงาน" มีสถานะเป็น "คำสั่งทางปกครอง" ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ฉะนั้นหากผู้ประกอบกิจการที่ได้รับคำสั่งเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องการที่จะใช้สิทธิทางศาล ก็จะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

ขึ้นชื่อว่า…ถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ตลอดจนโอกาสในการเข้ารับงานกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ เนื่องจากผลของการถูกสั่งลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานนั้น ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ทิ้งงานที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานและได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว เว้นแต่จะได้มีการเพิกถอน

การเป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว เรียกได้ว่า หากถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานก็จะหมดโอกาสในการรับงานของหน่วยงานของรัฐนั่นเองครับ

ดังเช่น…ข้อพิพาทที่ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ที่นายปกครองจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้

โดยมีมูลเหตุมาจาก…การที่ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ (ผู้ฟ้องคดี) ทำการก่อสร้างสวนสมุนไพรเพื่อการศึกษา ณ สถาบันวิจัยฯ ดังกล่าว ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างนั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ ได้อ้างว่าบริเวณพื้นที่จริงมีบ่อน้ำ จำนวน 3 ถึง 4 แห่ง ซึ่งไม่มีอยู่ในแบบก่อสร้างและไม่มีรายการให้ผู้รับจ้างต้องถมบ่อน้ำในตารางปริมาณงาน เป็นเหตุให้ปริมาณดินในการถมพื้นที่ไม่เพียงพอและมีค่างานจ้างเพิ่มขึ้น อันเป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้าง จึงขอหยุดงานก่อสร้างจนกว่าจะได้รับการพิจารณาแนวทางแก้ไข ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด พ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและมีคำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานด้วย !

คดีนี้…ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัย โดยสรุปได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสวนสมุนไพรเพื่อการศึกษาให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานได้ตามสัญญานั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามสัญญา ส่วนข้อที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า พื้นที่ก่อสร้างจริงมีบ่อน้ำหลายแห่ง ซึ่งไม่มีอยู่ในแบบก่อสร้างและไม่มีรายการให้ผู้รับจ้างต้องถมบ่อน้ำในตารางปริมาณงาน จึงเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างจะต้องเพิ่มปริมาณดินในการถมพื้นที่ และมีค่างานเพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่า เป็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วแต่เดิมในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีได้ตรวจดูสถานที่ก่อสร้าง พร้อมกับตรวจสอบและทำความเข้าใจในแบบรูปและรายการก่อสร้าง โดยละเอียดถี่ถ้วนก่อนการเสนอราคา ผู้ฟ้องคดีย่อมตรวจพบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าถมพื้นที่ที่เป็นบ่อดังกล่าว รวมทั้งได้คำนวณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในการเสนอราคาต่อผู้ถูกฟ้องคดี

การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามสัญญา เนื่องจากพบว่ามีรายการถมดินเพิ่มขึ้นตามสภาพความเป็นจริงภายหลังจากได้ทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ทั้งปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำงานเพิ่มขึ้น ไม่ถึงขนาดที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญาจ้างได้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อหยุดการก่อสร้างได้ การที่ผู้ฟ้องคดีทำงานไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นความบกพร่องในการเข้าเสนอราคาของผู้ฟ้องคดีเองที่ไม่ตรวจดูสถานที่และไม่ได้ตรวจสอบหรือทำความเข้าใจในแบบก่อสร้างก่อน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

เมื่อข้อ 129 วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2536 กำหนดให้ผู้ว่าการฯ มีอำนาจพิจารณาให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้เป็นผู้ทิ้งงานได้ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงาน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.558/2562)

สรุปได้ว่า…ข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ข้างต้น กำหนดให้การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน ต้องเข้าหลักเกณฑ์สองประการ คือ ประการแรก คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญา และประการที่สอง การไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวไม่มีเหตุผลอันสมควร

นอกจากนี้…คดีดังกล่าวยังเป็นอุทาหรณ์สำหรับเอกชนที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับฝ่ายปกครองด้วยว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมประกวดราคา ต้องตรวจดูสถานที่จริงที่จะดำเนินการ รวมทั้งตรวจสอบและทำความเข้าใจในแบบรูป รายการก่อสร้าง รายละเอียดของงาน และข้อตกลงในสัญญาให้รอบคอบ และคำนวณค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วนก่อนการเสนอราคา

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0