โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ถึงเวลาแก้ปัญหายางพารา-ปาล์ม ตกต่ำให้ถูกทาง ก่อนเกิด ‘คนจน’ เพิ่ม

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 09.54 น. • The Bangkok Insight
ถึงเวลาแก้ปัญหายางพารา-ปาล์ม ตกต่ำให้ถูกทาง ก่อนเกิด ‘คนจน’ เพิ่ม

เห็นข่าวนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ออกมาชื่นชมถึงความสำเร็จว่า สามารถดึงราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มให้ขยับขึ้นไปที่ 2.50 บาท จาก 2.30 บาท พร้อมสารพัดมาตรการที่จะแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ รัฐบาลจะเด้งรับออกมาแก้ปัญหารวดเร็วเป็นพิเศษ สะกิดใจว่าเป็นเพราะเกี่ยวพันกับทุนใหญ่ใช่หรือไม่ จึงมีการออกมาตรการแก้ปัญหาอย่างทันอก ทันใจ

ในขณะที่ปัญหาราคายางพารา และปาล์มตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อข้อเสนอ ทั้งจากเกษตรกร และอดีตส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหา จนทำให้ราคาสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิด ตกต่ำพร้อมๆ กับชีวิตเกษตรกรที่ดำดิ่งลงเหว ทนทุกข์กับรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่าย จนกำลังจะกลายเป็นคนจนกลุ่มใหม่ในประเทศไทยไปแล้ว

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหายางพารากลับไม่เคยได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการเอา 5 เสือส่งออกมาตั้งกองทุนหนุนราคายาง ซึ่งถูกท้วงติงมาตั้งแต่แรกว่าเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากบริษัทย่อมคำนึงถึงแต่กำไร เป็นเรื่องยากที่จะให้บริษัทเอกชนมาดูแลราคายางพาราให้สูงขึ้นเพื่อกำไรของเกษตรกร

ตอนนั้นฝ่ายรัฐบาลก็คุยโวว่า แนวทางนี้จะดันราคายางพาราให้เข้าสู่เสถียรภาพได้ในกรอบ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านมาเกือบ 2 ปี ราคายางพาราเหลือ 3 โล 100 บาท รัฐบาลทำได้เพียงแค่อนุมัติงบประมาณช่วยเกษตรกรไร่ละ 1,500 บาท

แต่ฝนก็ตกไม่ทั่วฟ้า เพราะไปกำหนดว่าเกษตรกรที่จะได้รับเงินดังกล่าว ต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท.ซึ่งมีเพียง 1.3 ล้านรายเท่านั้น แต่เกษตรกรอีก 7 ล้านรายที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำเช่นเดียวกัน หมดสิทธิที่จะได้รับเงินบรรเทาความเดือดร้อนนี้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ และไม่ได้ลงทะเบียนกับ กยท.

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องที่รัฐบาลคุยโวไว้ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศใหม่ ๆ ว่าจะผลักดันให้หน่วยงานราชการนำยางพารามาใช้จำนวน 1 แสนตัน แต่จนถึงขณะนี้ทำได้จริงเพียงแค่ 1,129 ตันเท่านั้น โดยรัฐบาลไม่ได้จัดการกับหน่วยงานราชการที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายแต่อย่างใด ปล่อยให้ราคายางพาราร่วงกราวรูดมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่แตกต่างจากกรณีของราคาปาล์ม ที่อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอสารพัดแนวทางแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ แถมล่าสุดยังคิดแก้ปัญหาแบบไม่สมเหตุสมผล ด้วยการนำไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงและราชบุรี จำนวน 1.6 แสนตัน เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้เกิดคำถามว่ามีโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่พร้อมเดินเครื่องอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าขนส่งที่จะกลายเป็นงบสูญเปล่าราว 160 ล้านบาท เหตุใดจึงไม่ทำ

แล้วทำไมจึงตัดตอนทำแค่ 1.6 แสนตัน ทั้ง ๆ ที่มีปาล์มล้นสต็อกอยู่สูงถึง 4.4 แสนตัน

อดีตส.ส.ใต้พรรคประชาธิปัตย์ นำทีมโดยอดีตนายกอภิสิทธิ์ เสนอแนวทางง่าย ๆ ที่หยุดวิกฤติที่เป็นผลจากการละเลยการดูแลดุลยภาพของปาล์มน้ำมันได้ และเห็นผลจริงคือ การนำปาล์มมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ปริมาณ 3 แสนตัน เป็นเวลา 6 เดือน ก็จะช่วยกำจัดปริมาณปาล์มที่ล้นสต็อกออกจากระบบ ส่งผลให้ราคาปาล์มขยับขึ้นทันที โดยใช้เงินงบประมาณราว 3,000 ล้านบาท ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับค่าเอฟที

จากนั้นกลไกตลาดก็จะทำงานตามปกติ และยังมีผลพลอยได้จากการที่ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าจะได้ค่าชดเชยจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้าด้วย

แต่ตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเพราะล่าสุด กฟผ.เพิ่งถอดเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์มออกไปติดตั้งที่โรงไฟฟ้าบางปะกงกับราชบุรีตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะต้องใช้เวลากว่าจะเดินเครื่องได้ก็ปาเข้าไปต้นปีหน้า ทำให้พ่อค้าประเมินได้ทันทีว่าการกำจัดสต็อกที่ล้นอยู่จะไม่สามารถดำเนินการได้จริง จนเกิดการกดราคากับเกษตรกร จากราคาที่ดิ่งเหวอยู่แล้วที่ตัวเลข 2.80 บาท ลดลงเหลือแค่ 2.20 บาทในปัจจุบัน

เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ความทุกข์ที่สะสมของเกษตรกรยางพาราและปาล์ม กำลังระเบิดกลายเป็นการออกมาชุมนุมประท้วง ทั้งจากความเดือดร้อนของชาวสวนยางพาราและชาวสวนปาล์ม อีกทั้งยังมีความตึงเครียดระหว่างชาวสวนปาล์ม กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จากกรณีถอดเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์มออกไป จนอาจเป็นเหตุให้เกิดม็อบล้อมโรงไฟฟ้าด้วย

ความไม่รู้และขาดความเข้าใจในการแก้ปัญหา รวมถึงไม่มีความกล้าหาญที่จะคิดนอกกรอบจากที่ราชการวางแนวให้เดิน ทำให้รัฐบาลคสช.ติดกับดักว่า จะผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มที่โรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ได้ เพราะต้องใช้น้ำมันเตามาเป็นวัตถุดิบร่วมด้วย ทำให้ราคาสูงไม่คุ้มค่า

แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลสามารถปรับให้เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม 100 % โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเตาได้ เพื่อแก้วิกฤติน้ำมันปาล์มได้ทันท่วงที

ข้อเสนอที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามสื่อสารถึงรัฐบาล คสช.ให้แก้ปัญหาราคายางพาราและปาล์มตกต่ำครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งผ่านการทำหนังสือถึงรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และการให้สัมภาษณ์เสนอแนวทางแก้ปัญหาผ่านสื่อมวลชน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ จึงอยากให้รัฐบาลมองที่ปัญหาของประชาชน แทนที่จะโยงเป็นเรื่องการเมือง จนลืมความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ในแต่ละเดือนรัฐบาลใช้งบประมาณราว 700 ล้านบาทไปกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งทำนายอนาคตได้เลยว่าคนจนจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากรัฐบาลยังไม่แก้ปัญหาเรื่องรายได้เกษตรกรให้มีความมั่นคง

จะดีกว่าไหมที่รัฐบาลแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือทำให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงก่อนที่เขาจะกลายเป็น “คนจน” แทนที่จะมาแก้ปัญหาปลายเหตุด้วยการแจกเงินเมื่อเขากลายเป็น “คนจน” ไปแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0