โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต "เลิกจ้าง"

TNN ช่อง16

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 01.44 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 01.44 น. • TNN Thailand
ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต
ผลพวงของสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกไทยดิ่งหนัก กระทบผู้ประกอบการสู้ไม่ไหว ต้องปิดโรงงานเลิกจ้างกันถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนวิกฤติ “ว่างงาน” กลับมาอีกครั้ง!

วันนี้เราจะเห็นได้ว่าการปิดโรงงานเริ่มเห็นกันถี่ขึ้นๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ จากผลพวงของสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกไทยดิ่งหนัก จนกระทบต่อการจ้างงานตามมา แล้วอะไรควรเป็นแนวทางที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือแรงงาน ก่อนจะเกิดวิกฤต "เลิกจ้าง" โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่สาหัสมากกว่าปีนี้

การหั่นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อสัปดาห์ก่อน ลงสู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเทียบเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก่อนจะลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในยามนี้ได้เป็นอย่างดี 

และท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อมาเป็นแรมปี ได้ส่งผลกระทบต่อกระทบต่อภาคธุรกิจ และ "จ้างงาน" ในไทยหนักหน่วงมากขึ้น และแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์การ "ว่างงาน" จะไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งมีจำนวนคนไทย "ตกว่าง" พุ่งขึ้นแตะ 1 ล้านคน และอาจสูงถึง 1.3 ล้านคน

แต่นี่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าวิกฤติ "ว่างงาน" อาจกลับมาอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปีจำนวนของธุรกิจและโรงงานที่ปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ข่าวคราวการปิดโรงงานและลอยแพพนักงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เช่น เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) ซึ่งประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์ ที่ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 

จากนั้นก็มีหลายบริษัทเลิกจ้างพนักงานบางส่วน หรือหยุดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากกออเดอร์ลดลง เช่น บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ GM ที่เลิกจ้างพนักงานบางส่วน 300 คน ,บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ประกาศหยุดการผลิตบางส่วนเป็นเวลา 2 เดือน เป็นต้น 

แต่ก่อนหน้านี้ที่จะมีการเลิกจ้างและปิดกิจการจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อเดือนก.ค.62  "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ได้ทำการสำรวจสถานการณ์การจ้างงานพบว่า เริ่มมีสัญญาณการเลิกจ้าง และการลดเวลาในการทำ OT ของพนักงานเพื่อประหยัดงบประมาณบริษัท ขณะที่การชะลอรับพนักงานใหม่ในเดือนก.ค.62 มีอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือนเม.ย.62

นอกจากนี้ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ยังได้ทำการสำรวจสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร/บริษัท/หน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของกิจการในเดือนต.ค.62 พบว่า 8.5% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชี้ว่าสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรของตนมีการส่งสัญญาณการเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดือนก.ค.62 ที่อยู่ที่ 3.8% 

สัญญาณการเลิกจ้างดังกล่าว ยังสอดคล้องกับผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในเดือนต.ค.62 ที่เพิ่งออกมาล่าสุดพบว่า จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37 ล้านคน ลดลง 6 แสนคน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 หรือลดลง 1.59% แบ่งเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรที่ลดลง 3 แสนคน และแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 3 แสนคน 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มีงานทำในเดือน ต.ค.62 จะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำหดตัว 1.5% นั้นเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนก.ค.ที่ผู้มีงานทำหดตัว 2.6% เดือนส.ค.หดตัว 1.7% เดือนก.ย.ที่หดตัว 1.5% อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มีงานทำที่ลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสาเหตุการลาออกจากงานหรือหยุดทำงานครั้งสุดท้ายของผู้ว่างงานที่เคยทำงาน ซึ่งมีจำนวน 1.85 แสนคน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ลาออกจากงานเอง แต่ยังไม่มีงานใหม่ ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 1.22 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5,000 คน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 ที่มีจำนวน 1.17 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 9.89% 

ขณะที่แรงงานที่เคยมีงานทำแต่ตกงาน เพราะถูกนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ มีจำนวน 2.61 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 1.76 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 ที่มีจำนวน 8,500 คน หรือเพิ่มขึ้น 207% และแรงงานที่ตกงาน เพราะหมดสัญญาจ้างและไม่มีการต่อสัญญาใหม่ มีจำนวน 2.37 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 1.04 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 ที่มีจำนวน 1.33 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 78.1%

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากยอดการปิดโรงงาน พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.62) จำนวนกิจการโรงงานที่แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน และจำหน่ายทะเบียนโรงงาน มีจำนวน 1,989 แห่ง เทียบกับ 10 เดือนของปี 61 (ม.ค.-ต.ค.62) ที่มีการปิดโรงงาน 1,290 แห่ง เพิ่มขึ้น 699 โรงงาน  หรือเพิ่มขึ้น 54% 

ส่วนจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานอยู่ที่ 49,157 คน เทียบกับ 10 เดือนของปี 61 ที่มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 33,507 คน เพิ่มขึ้น 15,650 คน หรือเพิ่มขึ้น 47%

แน่นอนว่าสถานการณ์การปิดกิจการและการเลิกจ้างแรงงาน น่าจะยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จากประเด็นสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่จะยังไม่ยุติได้โดยง่าย และน่าจะลากยาวไปจนกระทั่งผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 63 ไปแล้ว ซึ่งจะส่งให้การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รวมไปถึงการลดเวลาการทำงานของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อรองรับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แต่ดูเหมือนว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผ่านไปยังแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือเรียกว่าแรงงานนอกภาคเกษตรมากนัก

เนื่องจากที่ผ่านมาเม็ดเงินที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเกษตรกร ที่ได้รับการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับผู้ปลูกข้าว รวมถึงการช่วยเหลือผ่านโครงการประกันรายได้ชาวนา ชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์ม และผู้ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น 

ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของประชาชนผ่านโครงการ "ชิมช้อปใช้" ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการมาแล้วในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 13 ล้านคน และภาครัฐจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น วันนี้โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดำเนินการ นั่นก็คือการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มแรงงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออก ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆที่เกิดจากการผลิตและการส่งออกที่ชะลอตัว ก่อนที่สถานการณ์การเลิกจ้างจะลุกลามรุนแรงมากกว่า 

และแม้ว่าก่อนหน้านี้ "ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะสั่งการให้กรมจัดหางานเตรียมตำแหน่งงานว่าง 7.92 หมื่นตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งงานในด้านการผลิต งานขาย ตำแหน่งเสมียน พนักงานทั่วไป พนักงานธุรการ  พนักงานบริการลูกค้า เป็นต้น เพื่อรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงาน แต่นั่นก็ถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ 

อีกทั้งตำแหน่งงานว่างดังกล่าวอาจไม่เป็นที่สนใจของแรงงานที่ตกงานมากนัก โดยเฉพาะหากเป็นสายงานที่ไม่ถนัด หรือทำให้ต้องย้ายที่อยู่ใหม่ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูในอดีตเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการเงินโลก ซึ่งที่ส่งผลกระทบการส่งออกและเศรษฐกิจไทย และทำให้เกิดวิกฤติ "เลิกจ้าง" เมื่อ 10 ปีก่อน ผลปรากฎว่ารัฐบาลในสมัยนั้นได้เข็นมาตรการรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐจากภายนอก โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการช่วยเหลือแรงงานก่อนที่จะถูก "เลิกจ้าง"

เช่น การดำเนินการโครงการสินเชื่อ "ชะลอเลิกจ้าง" วงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก แต่มีเงื่อนไขให้รักษาการจ้างงาน โดยตั้งเป้ารักษาสภาพการจ้างงานให้แรงงานในระบบประกันสังคม 6 หมื่นคน

โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานฯ โดยเปิดอบรมหลักสูตรต่างๆให้แก่ผู้ว่างงาน หรือถูกเลิกจ้าง รวมถึงบัณฑิตใหม่ตกงาน เป็นคอร์สสั้นๆ 1 เดือน โดยภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนการอบรมรายละไม่เกิน 5,000 บาท และได้รับเงินอุดหนุนเพื่อประกอบกอบอาชีพ 4,800 บาท/เดือนเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมโครงการ 5 แสนคนใช้งบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท ให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่มีเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งใช้งบ 1.5 หมื่นล้านบาท มีผู้ได้ประโยชน์ 7.5 ล้านคน

จากนี้คงต้องติดตามกันว่า เศรษฐกิจปีหน้าที่มีทีท่าจะเข้าสู่สถานการณ์ "สาหัส" ยิ่งกว่าปีนี้ รัฐบาลจะเข้าไปจัดการอย่างไร โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤติ "เลิกจ้าง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้เลย  

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0