โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถึงเวลาที่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอีเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสร้างทางรอดฝ่าวิกฤตโควิด-19

สยามรัฐ

อัพเดต 04 เม.ย. 2563 เวลา 10.07 น. • เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 10.07 น. • สยามรัฐออนไลน์
ถึงเวลาที่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอีเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสร้างทางรอดฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ นายกสมาคมสวนสนุก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก ผู้บริหารสวนน้ำและสวนสนุกสวนสยาม กล่าวว่า ในสภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ ต้องการได้เงินเข้ามาพยุงธุรกิจ เพื่อรักษาลูกจ้างเอาไว้ เพราะฉะนั้นถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยให้ระบบตรงนี้ดำเนินไปได้อย่างทันท่วงที ก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบธุรกิจท่องเที่ยว ทางธนาคารพาณิชย์ก็ควรจะอนุมัติเงินกู้ได้ทันที โดยมีสมาคมด้านการท่องเที่ยว เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจทัวร์ สปา พร้อมที่จะให้การรับรองกับเอสเอ็มอีดังกล่าว

ทั้งนี้ในธุรกิจผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่มักจะเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย และมีต้นทุนประมาณหลักแสนบาทต่อเดือน เพราะฉะนั้นการให้วงเงินกู้จนถึงสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย ซึ่งแต่ละรายสามารถชี้แจงค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้ ดังนั้นทางรัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยเหลือให้กู้ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการรักษาแรงงานไม่ให้ตกงานได้นับล้านคน

ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้ประเมินไว้ว่า โควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 18 ล้านคน หรือประมาณ 54.6% และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวม ก่อนสถานการณ์จะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

อย่างไรก็ตามทาง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้ประเมินสถานการณ์ ความอยู่รอดของกลุ่มเอสเอ็มอี ไว้ว่า ภาคธุรกิจดังกล่าวจะต้องใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ 1.การหารายได้ทดแทนด้วยการปรับรูปแบบธุรกิจ หรือการหาตลาดและช่องทางการขายใหม่ สร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตขึ้นในระยะยาวอีกด้วย 2.วิเคราะห์ต้นทุนเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการเงินของตัวธุรกิจ

สำหรับช่องทางออนไลน์เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการ ดังนั้นเอสเอ็มอี จึงควรมองหาทุก ๆ แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ และใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้อย่างเต็มที่ ทั้งทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือมาร์เก็ตเพลส นอกจากนี้ เมื่อการออกมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนอกบ้านถือเป็นความเสี่ยง การนำเสนอสินค้าแบบการส่งสินค้าตรงไปถึงบ้านของลูกค้า เป็นโอกาสที่เอสเอ็มอีสามารถเพิ่มยอดขายได้

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีธุรกิจหลายรูปแบบที่ปรับตัวและพลิกฟื้นจากสถานการณ์ดังกล่าว อย่าง ธุรกิจร้านอาหารใช้โอกาสนี้ในการทำการตลาดออนไลน์ เปลี่ยนเมนูที่ใช้วัตถุดิบหายากเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการเก็บ เปลี่ยนพนักงานเสิร์ฟเป็นพนักงานส่งอาหาร และให้บริการแบบส่งอาหารตรงถึงบ้าน ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศเกาหลีใต้ เปลี่ยนการให้บริการโดยการเช่าลานจอดรถกว้างและให้บริการฉายภาพยนตร์จอยักษ์แบบ drive through หรือธุรกิจการไหว้เคารพสุสานบรรพบุรุษของจีน หรือเช็งเม้ง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการได้ โดยการรับจัดหาอาหาร และไลฟ์การไหว้บรรพบุรุษให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ การทำการตลาดแบบเจาะพื้นที่น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับธุรกิจที่อยู่ในระดับท้องถิ่นที่มีหน้าร้าน และสามารถให้บริการหรือส่งสินค้าถึงบ้านผู้บริโภคได้

ขณะที่การลดรายจ่าย ควรทำบัญชีรายรับและรายจ่าย และพูดคุยกับพนักงานโดยตรงเพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญ และสามารถนำมาดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะความต้องการในตลาดที่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งสำคัญ คือ การใช้เวลาในการฟื้นตัวที่มากกว่า 6 เดือนหลังจากพ้นวิกฤตนี้ เป็นช่วงเวลาที่เอสเอ็มอีต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้มีเพียงพอต่อการเอาชนะวิกฤตโควิด-19 นี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0