โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถึงผู้ชอบอ่าน...ตัวท่านเล่น "หนังสือ" อะไร?

ศิลปวัฒนธรรม

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 08.01 น.
Book01

เล่นหนังสืออะไร? มักเป็นคำถามแรกที่เจ้าของร้านขายหนังสือเก่าเอ่ยขึ้นกับลูกค้า ซึ่งหากเป็นขาประจำคงไม่ต้องถาม–ตอบให้มากความ แต่สำหรับลูกค้าใหม่หรือผู้เริ่มสนใจจะฉงนว่า ทำไมเรียกว่าเล่น มีวิธีเล่นอย่างไร และเล่นแล้วสนุกไหม บทความนี้จะช่วยไขความสงสัยเพื่อเข้ามาเล่นได้อย่างเบิกบาน

ทำไมถึงเล่นหนังสือ

โดยทั่วไปการเล่นเป็นความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และผ่อนคลายกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อสิ่งนั้นคือหนังสือ การเล่นจึงได้รับความรู้เพิ่มขึ้น การเรียกว่าเล่นหนังสือนี้เป็นคำที่สื่อให้เข้าใจง่ายๆ ความจริงแล้วมีการใช้คำว่าสะสมเป็นทางการ

นักสะสมเล่นหนังสือก็เพราะความอยาก  ดังนั้นจึงสนองความอยากด้วยการยืม แลกเปลี่ยน หรือซื้อหนังสือที่ต้องการ ซึ่งหากเป็นหนังสือใหม่คงไม่ยากในการค้นหา แต่ถ้าเป็นหนังสือเก่า ความเก่ายิ่งมากเท่าไหร่ร้านหนังสือทั่วไปคงไม่สามารถตอบสนองได้ เหตุนี้จึงมีร้านขายหนังสือเก่ารวบรวมสารพัดหนังสือที่เคยถูกพิมพ์ตั้งแต่ปีก่อน

เล่นหนังสืออะไร?

การเล่นหนังสือไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพอใจของนักสะสม  แต่โดยภาพรวมแล้วสามารถสรุปได้ว่า นักสะสมนิยมเล่นหนังสือดังนี้

  1. หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก
  2. หนังสือที่มีการจัดพิมพ์น้อย
  3. หนังสือหายาก
  4. หนังสือที่แต่งโดยผู้มีชื่อเสียง
  5. หนังสืออัตชีวประวัติ
  6. หนังสือที่มีภาพและแผนที่ประกอบ
  7. หนังสือจากต่างประเทศ
  8. หนังสือที่มีบุ๊กเพลต(bookplate)
  9. หนังสือพิมพ์และนิตยสาร

สิ่งสำคัญในการเล่นหนังสือ

การเล่นหนังสือไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ถึงแม้วิธีเล่นก็แตกต่างกันได้ แต่กระนั้นยังมีเรื่องสำคัญที่นักสะสมมักเห็นคล้อยกัน ได้แก่

๑. คติในการเล่นหนังสือ นักสะสมต้องคำนึงถึงคติในการเล่น ๓ ประการ คือ ห้ามใจร้อน เพราะถ้าไม่ใช้สติพิจารณาหนังสืออาจได้หนังสือสภาพไม่ดีหรือสภาพดีแต่ราคาเกินตัว ถัดมาต้องไม่โลภ หากมีความโลภเกิดขึ้นนักสะสมจะเก็บได้แต่ปริมาณหนังสือจนไม่เคยอ่านเนื้อหา และสุดท้ายอย่าสะสมแบบเห็นช้างขี้แล้วขี้ตามช้าง เนื่องจากการสะสมเช่นนี้จะทำให้นักสะสมไม่มีหลักในการเก็บและไม่เข้าในคุณค่าของหนังสือ

๒. วิธีการเก็บรักษาหนังสือ วิธีการเก็บรักษาหนังสือมีหลักง่ายๆ คือ เมื่อนำหนังสือขึ้นชั้นควรระวังอย่าให้ชั้นหรือบริเวณใกล้เคียงมีความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อรา อย่าให้แสงแดดหรือแสงจากหลอดไฟส่องหนังสือมากจนเกินไป เพราะจะทำให้กระดาษเหลือง กรอบ และห่อตัว ต่อมาต้องระวังสัตว์ที่คอยกัดกินหนังสือ

นักสะสมหนังสือเก่ามักเลี่ยงการมีชั้นหรือตู้หนังสือที่ทำจากไม้และนำหนังสือไปอบฆ่าแมลงด้วยพริกไทย การบูรDDPV (เคมีชนิดหนึ่ง) และด่างทับทิมผสมฟอร์มาลิน ถัดมาระวังอย่าให้หนังสือเปรอะเปื้อนฝุ่นละออง เขม่าควัน และคราบเหงื่อ สุดท้ายนักสะสมควรทราบวิธีหยิบหนังสือจากชั้น การเปิดอ่าน การคั่นหน้า และห้ามขีดเขียนลงในหนังสือ

๓. การต่ออายุหนังสือ หนังสือที่มีอายุการใช้งาน และหนังสือเก่า–หนังสือหายากนั้น มีความจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนควรพิจารณาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ตามต้นฉบับเดิม เพราะไม่เพียงเป็นการเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่อง ยังทำให้หนังสือที่กำลังเสื่อมสภาพได้มีบทบาทขึ้นอีกครั้ง

การเล่นหนังสือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้สนใจเริ่มต้นจนได้เป็นนักสะสมหนังสือในที่สุด ซึ่งเพียงแค่เริ่มต้นความสนุกควบคู่ความรู้ก็จะตามมา และนอกจากนั้นยังได้ประโยชน์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน โบราณท่านว่า *สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ และสิบมือคลำไม่เท่าลงมือทำ คุณล่ะ…เล่นหนังสืออะไร? *

สวัสดี

(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “เล่นหนังสืออะไร” เขียนโดย ธานินทร์ ทิพยางค์* ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม* ธันวาคม 2551)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0