โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถอด7บทเรียนการตาย 'มาเรียม' บทพิสูจน์ความรัก 'คนไทยกับท้องทะเล'

TNN ช่อง16

อัพเดต 17 ส.ค. 2562 เวลา 03.58 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 03.58 น. • TNN Thailand
ถอด7บทเรียนการตาย 'มาเรียม' บทพิสูจน์ความรัก 'คนไทยกับท้องทะเล'
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถอดบทเรียนการตายของพะยูนน้อย “มาเรียม” หลังผลการชันสูตรพบเศษถุงพลาสติกในท้อง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก 'Thon Thamrongnawasawat' อุทาหรณ์การเสียชีวิตของพะยูนน้อย "มาเรียม" หลังจากผลการชันสูตรพบเศษถุงพลาสติกในท้อง

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า มาเรียมจากไปแล้ว ผลการชันสูตรพบเศษถุงพลาสติกในท้อง การจากไปของเธอบอกอะไรเราได้บ้าง #เจ็ดข้อที่มาเรียมฝากไว้

1.นับจากต้นปี มาเรียมเป็นสัตว์สงวนรายที่สองที่ตายและพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก่อน พบเต่ามะเฟืองตายที่ระยอง โดยมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน

2.นับจากต้นปี มีสัตว์หายากที่ตาย/บาดเจ็บโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับขยะทะเล ทั้งภายนอกและภายใน จำนวนนับร้อยตัว (มีรายงานเต่าทะเลติดขยะ/กินขยะแทบทุกวัน)

3.เมื่อพลาสติกเข้าไปในตัวสัตว์ทะเล โอกาสที่จะช่วยเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้มาเรียมจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายก็จากไป

การหวังให้สัตว์ที่กินขยะทะเลเข้าไปแล้วเราช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องดังฝัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ไม่มีขยะทะเล เพื่อสัตว์ทะเลจะได้ไม่กิน/ติด

4.มาเรียมทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ จะเข้าคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในวันจันทร์

ในแผนมีหลายเรื่องสำคัญ ทั้งด้านการอนุรักษ์พะยูน จัดการพื้นที่ร่วมกัน มาตรการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากทะเล ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนหวังว่า เมื่อทำออกมาแล้ว จะช่วยเพื่อนๆ ของมาเรียมได้

ทว่า…มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีแผนใดสามารถทำได้ หากปราศจากความร่วมมือของทุกคนในชาติ คือปัญหาจากขยะทะเล แม้แผนพะยูนแห่งชาติจะประสบความสำเร็จ แต่ตราบใดที่ในทะเลยังมีขยะ พะยูนทุกชีวิตก็ยังคงเสี่ยงต่อไป

5.ข้อมูลการเก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 ปีของอุทยานอ่าวพังงา ต้นทางของขยะทะเลในกระบี่และตรัง ที่อาศัยของน้องมาเรียมและฝูงพะยูน แสดงให้เห็นว่า ขยะทะเลไม่ได้ลดลงเลย อันที่จริง เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ใน 10 เดือนแรกของปี 61 เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตัน ใน 10 เดือนแรกของปี 62 เก็บได้ 95.28 ตัน (ปีงบประมาณ)

เจ้าหน้าที่กลุ่มเดิม พื้นที่เก็บขยะที่เดิม เก็บทุกวัน ข้อมูลนี้จึงเชื่อได้ว่า ปัญหาเรื่องขยะทะเลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รายละเอียดอยู่ในโพสต์ก่อนของผมครับ) มาเรียมเป็นเสมือนเด็กน้อยในสงคราม ระหว่างมนุษย์กับขยะทะเล สงครามกับความรับผิดชอบของพวกเราเอง สงครามที่พวกเรากำลังจะพ่ายแพ้…

6.การจากไปของน้องมาเรียม คงช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล/ขยะพลาสติกได้อีกครั้ง แต่เท่านั้นจะพอหรือ ?

ความตายของสัตว์ทะเลต่างๆ ในอดีต รวมทั้งวาฬนำร่องที่สงขลา เต่ามะเฟืองที่ระยอง ทำให้เราตระหนักครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ข้อมูลขยะทะเลจากอ่าวพังงา แสดงให้เห็นชัดว่า แค่ตระหนักยังไม่พอ แค่เลิกใช้ 2-3 วันจากนั้นก็กลับมาใช้ต่อ "มันเป็นเพียงกระแสชั่ววูบ"

7.หากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่าตระหนัก

เราต้องไปให้ถึงมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง ตามโรดแมปแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่กำหนดไว้ในปี 65 (ถุงก๊อบแก็บ หลอด แก้วใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ) เคราะห์ดีที่ท่านผู้บริหารระดับสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งท่านรัฐมนตรี ท่านปลัดคนใหม่ (อธิบดีกรมทะเล) ฯลฯ ล้วนเคยลงไปเยี่ยมน้องมาเรียม

การจากไปของมาเรียม อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการเร่งรัดโรดแมปที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความจริงก่อนปี 65 เพราะยิ่งรอ สัตว์ทะเลก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งทรมาน ยิ่งตาย

ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ผมจะเสนอประเด็นเร่งรัดมาตรการแบนพลาสติกเข้าที่ประชุมแน่นอน ที่เหลือ ก็คงต้องฝากไว้กับความรักระหว่างคนกับน้องมาเรียม มันเหมือนเป็นบทพิสูจน์ความรักความจริงใจของคนไทยกับท้องทะเล…

สุดท้าย หากมาเรียมพูดได้ เธอคงอยากบอกคนไทยว่า เธอไม่โกรธคนไทยหรอก เพราะคนที่ใช้ถุงใบนั้น คงไม่รู้หรอกว่า นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอป่วย แต่เธอไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก กับเพื่อนๆ ของเธอ พะยูน เต่า โลมา วาฬ ฯลฯ 

ในช่วงชีวิตของมาเรียม เธอคงฝันถึงทะเลที่สวยสะอาด ทะเลที่เธอสามารถโลดแล่นไปได้ตามใจปรารถนา สามารถกินหญ้าทะเลได้อย่างไร้กังวล ทะเลที่ปราศจากขยะแปลกปลอมของมนุษย์ วันนี้ เธอคงอยู่ในทะเลแห่งนั้นแล้ว…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0