โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ถอด 5 กลยุทธ์ “เวนดิ้ง พลัส” ขอเป็นผู้นำ Vending Machine ล้มแชมป์ “ซันร้อยแปด” เครือสหพัฒน์

Brandbuffet

อัพเดต 15 ธ.ค. 2561 เวลา 23.47 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2561 เวลา 23.46 น. • Brand Move !!

ช่องทางการจำหน่ายสินค้า (Place)  เป็น 1 ใน 4P พื้นฐานสำคัญทางการตลาด เพื่อกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจ แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การกระจายสินค้าจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ร้านค้าทั่วไปเท่านั้น  แต่มีเครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆ ออกมาช่วยมากขึ้น  และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ Vending Machine ก็เป็นหนึ่งช่องทางซึ่งถูกพัฒนามาจากเทคโนโลยี  เพื่อการกระจายสินค้าให้เข้าถึงลูกค้า และทำให้ลูกค้าสะดวกสบายในการซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง  แบบไม่ต้องมีวันปิดร้านด้วยหรือต้องจ้างลูกจ้างมานั่งขายด้วย 

SUN108 เจ้าตลาด Vending Machine

คนที่เข้ามาบุกตลาด Vending Machine เป็นเจ้าแรกและก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน คือ เครือสหพัฒน์  ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของไทย  ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจด้วยการให้บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) นำเข้า Vending Machine  แบรนด์  “ฟูจิ อิเลคทริค” มาจำหน่ายสินค้าตั้งแต่ปี 2535 โดยมี 3 รูปแบบ คือ 1. เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มชนิดผสม เช่น น้ำอัดลม กาแฟร้อน กาแฟเย็น และชาร้อน เป็นต้น โดยเครื่องจะผสมเครื่องดื่มต่าง ๆ ตามที่ผู้ซื้อเลือก 2.เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์เรียบร้อย เช่น น้ำผลไม้กระป๋อง และน้ำอัดลมกระป๋อง  และ 3.เครื่องจำหน่ายขนมขบเคี้ยว

บริษัท ไอ.ซี.ซี.ฯ ดำเนินธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  กลายเป็นผู้นำตลาดแบบไร้คู่แข่ง  แต่เมื่อมีโอกาสทางการตลาดก็ย่อมมีคู่แข่งรายใหม่  เข้ามาขอส่วนแบ่งด้วยเช่นกัน  ผู้เล่นจึงเพิ่มมากขึ้น  และในช่วงปี 2543 เครือสหพัฒน์ได้มีการปรับโครงสร้างภายใน มุ่งเน้นให้บริษัท ไอ.ซี.ซี.ฯ ทำธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นผ่านช่องทางค้าปลีกเป็นหลัก  จึงทำการโอนธุรกิจ Vending Machine  มาให้บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด รับผิดชอบดูแล เนื่องจากมองว่าบริษัท ซันร้อยแปด ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ บริหารคลังสินค้าและการจัดส่ง  ซึ่งเป็นธุรกิจสอดคล้องกับ Vending Machine ที่ต้องมีระบบการหารจัดส่งสินค้าและเติมสินค้าในตู้จึงจะเหมาะสมกว่า

ปัจจุบันบริษัท ซันร้อยแปดฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติแบรนด์ "SUN108" บริหารงานโดยคุณเวทิต โชควัฒนา ในตำแหน่งกรรมการ  ซึ่งขณะนี้มีตู้จำหน่ายสินค้าอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 ตู้ ในปีนี้มีแผนการขยายตู้ให้ได้ปีละ 1,000 ตู้  แต่อาจจะดำเนินการได้จริงประมาณ​ 600 เครื่องต่อปี ซึ่งได้ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทในด้านการผลิตและปรับปรุงตู้เดิม จากโรงงานที่บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา  ทำเลติดตั้งเครื่องเน้นทำเลที่มีคนจำนวนมาก แต่คู่แข่งน้อย ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งธุรกิจเดียวกัน หรือธุรกิจอื่น เช่น พ่อค้าแม่ค้าขายเครื่องดื่มรถเข็น

"เวนดิ้งพลัส" วางเป้าแซงหน้าเจ้าตลาด

ภาพรวมตลาดVending Machine  ปัจจุบันน่าจะมีจำนวนอยู่กว่า 15,000 ตู้ ผู้นำตลาดคือ แบรนด์ ซันร้อยแปด ตามมาด้วย ทีจีเวนดิ้ง ของเครื่องดื่มกระทิงแดง และอันดับ 3 คือ เวนดิ้งพลัส ของบริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเพิ่งทำตลาดมาได้ 2 ปี  ปัจจุบันมี Vending Machine จำนวน 1,400 ตู้ โดย เวนดิ้งพลัส ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2563 จะขอขึ้นเป็นผู้นำตลาด  เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและโอกาสทางการตลาด รวมถึงความพร้อมภายในองค์กรที่สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้

คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ Vending Machine  แบรนด์เวนดิ้งพลัส เล่าว่า ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะขึ้นเป็นผู้นำตลาด Vending Machine ภายในปี 2563 โดยได้เตรียมกลยุทธ์ทางการตลาด และแผนงานเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

1.การขยายจำนวนเครื่องเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ้นปีนี้จะมีจำนวน 1,600 ตู้ ปีหน้าจะเพิ่มตู้เป็น 4,000 ตู้ และภายในปี 2563 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนให้ได้มากกว่า 10,000 ตู้ การเติบโตดังกล่าวถือว่ามีสปีดที่เร็วกว่าคู่แข่ง ที่ปัจจุบันมีอัตราการเพิ่มเพียงปีละ 1,000 ตู้เท่านั้น

2.การเลือกไพร์ม โลเกชั่น ซึ่งเป็นแหล่งที่มีทราฟฟิกของลูกค้าหน้าแน่น  ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเท่านั้น  แต่ขยายไปยังโลเกชั่นที่มีศัยกภาพมีทราฟฟิกหนาแน่นตลอด 24 ชั่วโมง เช่น สถานีขนส่งหมอชิต โรงงานอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่การติดตั้งที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัล  เทสโก้โลตัส  และกำลังจะดำเนินการติดตั้งที่บิ๊กซีซุเปอร์สโตร์เพิ่มด้วย

3.ชูความหลากหลายของสินค้าและราคาที่ถูกกว่าร้านสะดวกซื้อ  คอนเซปต์ของเวนดิ้งพลัส คือ“10 บาทก็สดชื่นได้” เป็นการแก้ปัญหาลูกค้าส่วนใหญ่ที่รู้สึกว่า  ของที่ขายใน Vending Machine มีราคาแพง และบางช่วงบริษัทมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้สินค้ามีราคาถูกหรือใกล้เคียงกับร้าน 7-11  เช่น เครื่องดื่มกระทิงแดง ฝาดำขวดละ 9 บาท ถูกกว่าร้าน 7-11  นอกนี้  สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายยังมีความหลากหลาย โดยเครื่องบรรจุสินค้าได้ตั้งแต่ 500-800 ชิ้นต่อตู้  เป็นการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะ Vending Machine ที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะสินค้าของบริษัทนั้นๆ  ซึ่งทุกวันนี้ธุรกิจ Vending Machine  แข่งกันที่วาไรตี้ของสินค้า ราคา และโปรโมชั่น

4.การนำระบบ Payment System มาติดตั้งทั้งเครื่องใหม่และเครื่องเดิม รับชำระได้หลากหลายระบบ โดยเฉพาะระบบ QR Code ของทุกธนาคาร และยังรองรับระบบ Payment จากพันธมิตรอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ไลน์เพย์ อารีเพย์ ทรูมันนี่ เป็นต้น เป็นการแก้ปัญหาบางครั้งเครื่องไม่ทอนเงินจากการชำระด้วยเงินสด เพราะตู้ที่ใช้ระบบจอแอลอีดีแสดงรายการสินค้านั้น  ไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของบ้านเรา บางครั้งเครื่องแฮงค์จากการทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนเครื่องจำหน่ายของบริษัทใช้ระบบแมนนวล  ซึ่งรับชำระได้หลากหลายทั้งเหรียญ แบงก์  ส่วนตู้ของคู่แข่งมักจะรับเฉพาะเหรียญไม่รับแบงก์  เวนดิ้งพลัสที่นำมาใช้เป็นการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น  มีความทนทานต่อสภาพอากาศเป็นเครื่องชนิดเดียวกับที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการติดตั้งกว่า 3 ล้านเครื่อง

“ระบบที่จะพัฒนาในเวนดิ้งพลัส จะเป็นวอลเลตที่ร่วมกับธนนาคารแห่งหนึ่ง  สามารถเก็บข้อมูล เป็นบิ๊กเดต้า ทำให้รู้ได้ว่าใครมาซื้ออะไร จำนวนเท่าไร เมื่อวันไหน ทำให้เจ้าของสินค้าสามารถรู้พฤติกรรม และนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำโปรโมชั่นได้ ต่อไปตลาดจะเปลี่ยนไม่ใช่แค่เราทำธุรกิจกับลูกค้าทั่วไป  แต่จะเป็นเราทำกับแบรนด์สินค้าต่างๆ”

5.การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภายในปี 2563 โดยจะเริ่มยื่นไฟลิ่งในช่วงต้นปีหน้านี้  เพื่อระดมทุนนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะ Vending Machine ตามเป้าหมาย เนื่องจากมองว่าตลาดยังมีโอกาสติดตั้งเครื่องได้อีกจำนวนมาก จากจำนวนประชากรไทยและต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศรวมกว่า 80 ล้านคน แต่ยังมีเครื่องให้บริการไม่มาก เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากร 160 ล้านคน และมีจำนวนเครื่องถึง 3 ล้านเครื่อง

คุณชูเกียรติ  เล่าเพิ่มเติมว่า  โอกาสทางการตลาดในการขยายธุรกิจของ Vending Machine ยังมีโอกาสจาเทรนด์ค่าแรงขั้นต่ำมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท  แต่ตู้เวนดิ้ง แมชชีน คิดค่าเสื่อมของตู้วันละ 30 บาทเท่านั้น  เมื่อคิดเรื่องค่าเช่าพื้นที่ขายสินค้าที่เท่ากัน  การให้เครื่องมาขายสินค้าแทนคนจะคุ้มค่ากว่า  สุดท้าย เครื่องจะมาแทนคนเพราะงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะเครื่องจะมาแทนคน  และเครื่องนับวันจะมีราคาถูกลง แต่ค่าแรงมีแต่เพิ่มขึ้น

“ร้านค้าจดทะเบียนในระบบมีจำนวน 500,000 ร้าน ทุกแห่งมีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มทั้งหมด  สามารถนำ Vending Machine ไปติดตั้งได้หลายแสนแห่ง แต่ปัจจุบันยังไปไม่ครอบคลุม  ตัวไดร์ฟความสำเร็จของธุรกิจนี้ คือ เทคโนโลยี และลูกค้า ถ้าลูกค้าไม่กลัวเทคโนโลยีและสามารถมาใช้เทคโนโลยีได้ จะทำให้ตลาดเติบโต”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0