โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ถอดปฏิบัติการแฉ ยูฟ่า-แมนฯซิตี้ เลี่ยงแฟร์เพลย์การเงิน

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2561 เวลา 13.35 น.
dlf05151161p1
ถ้าจะบอกว่าแวดวงลูกหนังเงียบเหงาจากข่าวใหญ่โตไปพักใหญ่แล้ว ประโยคนี้อาจใช้ได้เมื่อหลายเดือนก่อน จนกระทั่งต้นเดือนพฤศจิกายนที่ “แดร์ สปีเกิล” (Der Spiegel) สื่อจากเยอรมนีเผยแพร่รายงานอ้างอิง “ฟุตบอลลีกส์” (football leaks) แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่เปรียบได้กับ “วิกิลีกส์” เวอร์ชั่นวงการลูกหนังซึ่งเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึก (และลับ) ขณะที่การแฉครั้งล่าสุดก็เรียกความสนใจจากแฟนบอลได้มากทีเดียว

ช่วงต้นเดือน “สปีเกิล” หยิบข้อมูลจากเอกสารของ “ฟุตบอลลีกส์” ที่แฉบุคคลและสโมสรดังในลูกหนังยุโรป โดยอ้างอิงเนื้อหาในอีเมล์ที่ระบุว่า เขียนโดยจานนี อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ส่งถึงผู้บริหารระดับสูงของแมนเชสเตอร์ซิตี้เมื่อปี 2014 ซึ่งสมัยนั้นอินฟานติโน่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า เนื้อหาในอีเมล์สื่อถึงการเจรจากรอบข้อตกลงยุติปัญหากรณีที่แมนฯซิตี้เป็นอีกหนึ่งทีมซึ่งเสี่ยงถูกยูฟ่าลงโทษเนื่องจากมีแนวโน้มละเมิดกฎแฟร์เพลย์ทางการเงิน

กฎแฟร์เพลย์ทางการเงินเริ่มต้นใช้เมื่อฤดูกาล 2011 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมสมดุลทางการเงินของสโมสรในลีกยุโรปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสนามยุคที่กลุ่มทุน-เศรษฐีเข้ามาลงทุนกับทีมฟุตบอลด้วยเม็ดเงินมหาศาล โดยกำหนดเพดานว่าแต่ละสโมสร (ที่จะมีสิทธิแข่งในฟุตบอลถ้วยยุโรป) ต้องไม่ขาดทุนเกินอัตราที่กำหนดไว้ (2 ปีแรกที่ใช้กฎห้ามเกิน 45 ล้านยูโร หลังจากนั้น ห้ามเกิน 30 ล้านยูโร)

กฎนี้ยังบังคับให้สโมสรต้องถูกตรวจสอบสัญญาสปอนเซอร์ที่ทำกับบริษัทหรือองค์กรใดก็ตามที่เชื่อมโยงกับเจ้าของสโมสรเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 เพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรรับเม็ดเงินรายได้จากสัญญาเกินมูลค่าตามจริงในตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขรายได้ในผลประกอบการของสโมสร ทำให้มีเม็ดเงินไปเป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมายูฟ่าสอบสวนการเงินของสโมสรต้องสงสัย 9 แห่ง ในลิสต์นั้นมีชื่อแมนฯซิตี้ และปารีส แซงต์ แชร์กแมง จากฝรั่งเศส สำหรับแมนฯซิตี้มีกลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2008 ส่วนเปแอสเชมีเจ้าของจากกาตาร์เข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อปี 2011

ทั้ง 2 ทีมข้างต้นทำสัญญาสปอนเซอร์กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของทีม และผลการสอบสวนพบว่าสัญญาที่ทำนั้นมีมูลค่าสูงเกินจริง ขณะที่รายได้เชิงพาณิชย์ประเภทอื่น ๆ ของแมนฯซิตี้ราวร้อยละ 84 ก็มาจากกลุ่มทุนในเมืองหลวงของยูเออี

พฤติกรรมทางการเงินนี้ผิดกฎยูฟ่า โทษสูงสุดคือถูกตัดสิทธิจากการแข่งในรายการสโมสรยุโรป แต่องค์กรของยูฟ่าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎไม่เคยตั้งข้อหาทีมที่ทำผิดกฎ ยูฟ่าสามารถหา “ข้อตกลง” ร่วมกับสโมสรได้เมื่อปี 2014

แต่ข้อมูลจากเอกสารที่ฟุตบอลลีกส์เผยนั้น อ้างอิงเนื้อหาในอีเมล์จากผู้บริหารระดับสูงของยูฟ่าถึงผู้บริหารแมนฯซิตี้ที่บ่งชี้ว่า เบื้องหลังของข้อตกลงนี้มาจากการเจรจาลับระหว่างยูฟ่าและสโมสรดัง นำไปสู่ทางออกด้วยการจ่ายค่าปรับให้ยูฟ่าทีมละ 20 ล้านยูโร

ข้อกล่าวหาเก่ายังไม่ทันจบ สื่อจอมแสบก็แพร่รายงานแฉแมนฯซิตี้อีกว่าละเมิดกฎแฟร์เพลย์ทางการเงินอีกข้อหา โดยอ้างว่าทีมเรือใบสีฟ้าตั้งบริษัทบังหน้าแห่งหนึ่งสำหรับจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ด้านภาพลักษณ์ของนักฟุตบอลในทีม ทำให้สโมสรปกปิดรายจ่ายได้ ขณะที่บริษัทแห่งนี้ก็ได้รับเงินอุดหนุนจากเจ้าของสโมสรประมาณ 12 ล้านยูโรต่อปี หลังรายงานล่าสุดเผยแพร่ออกมา สื่อกระแสหลักหลายแห่งพยายามค้นหาหลักฐานที่แดร์ สปีเกิล ใช้อ้างอิงในข้อกล่าวหานี้ แต่ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนพอจะยืนยันน้ำหนักของข้อกล่าวหานี้

เวลาใกล้เคียงกัน ยังมีข้อหาที่โจมตีเจ้าของสโมสรว่าโยกย้ายการจ่ายเงินให้สโมสรโดยจ่ายผ่านบริษัทที่ทำสัญญาสปอนเซอร์ที่มีมูลค่าสูงเกินปกติกับแมนฯซิตี้แทน เช่น บริษัทของชีค มานซูร์ ที่เป็นเจ้าของถือสิทธิบริหารสโมสรแมนฯซิตี้ด้วย เป็นฝ่ายจ่ายเงินค่าสัญญาที่สายการบินเอทิฮัดเซ็นเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนทีมเป็นเงิน 59.5 ล้านปอนด์ แต่เงินของสายการบินที่มาจ่ายค่าสัญญานี้เองมีแค่ 8 ล้านปอนด์

สายการบินออกแถลงการณ์โต้ตอบและปฏิเสธข้อกล่าวหานี้แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงให้ยูฟ่าเปิดเคสสอบสวนอีกครั้ง เสียงเรียกร้องครั้งนี้ ก็มาจากลีกใหญ่คู่แข่งของลีกต้นทางที่สโมสรดังลงแข่งอยู่ด้วย

เอาเข้าจริงแล้วทุกอย่างแทบจะเชื่อมโยงกับเรื่องผลประโยชน์ทั้งหมด ยูฟ่าเองก็ถูกโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหากมองความสัมพันธ์กับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านถ่ายทอดสดกีฬา ซึ่งจ่ายเงินหลายพันล้านยูโรให้ยูฟ่าแลกกับสิทธิการถ่ายทอดสดฟุตบอลถ้วยสโมสรยุโรปและอีกหลายรายการ ถึงจะเป็นดีลทางธุรกิจ แต่บริษัทนี้ก็มีผู้มีอำนาจในกาตาร์เป็นเจ้าของ เรียกได้ว่าถ้ามองในภาพกว้างก็เป็นเรื่องผลประโยชน์พัวพันอีรุงตุงนังกันหลายตลบ…

หรือจะเป็นเรื่องทางการเมืองโจมตีดิสเครดิตขั้วอำนาจอีกฝ่ายด้วยข้อมูลที่ยังไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ก็พอเห็นเค้าลางบางอย่างได้บ้าง ถ้าให้สรุปโดยง่ายที่สุดคงต้องย้อนกลับไปที่เคยว่ากล่าวไปแล้วว่าองค์กรลูกหนังเป็นภาคส่วนที่มีผลประโยชน์วนเวียนมหาศาล แต่การควบคุมดูแลตรวจสอบยังมีเครื่องหมายคำถามและข้อวิจารณ์มากมายมาตลอด อยู่ที่ว่ายุคใคร และใครคือผู้กุมอำนาจเดินเกม ผลักดันนโยบายอะไรก็ตามออกมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0