โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถอดบทเรียนวงการ K-POP ภาระอันหนักอึ้ง ที่เหล่าไอดอลต้องแบกรับ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 13.24 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 13.24 น.
จงฮยอน 1-tile

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา วงการ K-pop สูญเสียบุคลากรคนบันเทิงทั้งนักแสดงและศิลปินไอดอลจากการฆ่าตัวตายไปหลายคนด้วยกัน ล่าสุดกับการเสียชีวิตของ “ซอลลี่” หรือ ชเว จิน-รี ไอดอลสาวจากวง f (X) เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังแห่งค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ SM Entertainment เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายหลังการเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงถึงสาเหตุการจากไปของซอลลี่ในครั้งนี้ว่า เธอมีอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง

การจากไปของซอลลี่นับเป็นคลื่นระลอกใหญ่อีกครั้งที่ทำให้หลายฝ่ายต้องตระหนักและเฝ้าระวังถึงอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ยิ่งไปกว่านั้นแฟนคลับซอลลี่บางส่วนยังออกมาคาดการณ์-แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียถึงการจากไปของไอดอลสาวด้วยว่า การตัดสินใจฆ่าตัวตายครั้งนี้น่าจะเป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากการโจมตีของแอนตี้แฟนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมาตลอดระยะเวลาหลายปี ซอลลี่ได้รับการโจมตีผ่านข้อความทางอินเทอร์เน็ตอย่างหนักมาตลอด ตั้งแต่ประเด็นการลาออกจากวง บทบาทของซอลลี่ในฐานะนักแสดง ไปจนถึงบทบาทนักเคลื่อนไหวรณรงค์แนวเฟมินิสต์ ซึ่งประเด็นหลังสุดทำให้เธอตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้หนักหนาเอาการเลยก็ว่าได้

สถานการณ์ของวงการ K-pop

เมื่อช่วงต้นปี 2558 โซจิน ศิลปินฝึกหัดจากค่าย DSP Entertainment จบชีวิตในวัย 23 ปีด้วยการกระโดดตึกฆ่าตัวตายจากชั้น 10 บนอพาร์ตเมนต์ของเธอเอง การเสียชีวิตของโซจินเป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะเธอถือเป็นตัวเต็งเด็กสาวอนาคตไกลที่ได้ร่วมแข่งขันในรายการ Kara Project เพื่อเฟ้นหาสมาชิกคนใหม่ที่จะได้ร่วมเดบิวต์เป็นเมมเบอร์ของเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง “Kara” หลังผลการชันสูตรออกมาตำรวจแถลงว่า โซจินป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเช่นนี้

18 ธันวาคม 2560 ข่าวช็อกวงการบันเทิงเกาหลีด้วยสาเหตุการฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นอีกครั้งกับไอดอลชื่อดังระดับเอเชีย “คิม จงฮยอน” เมน โวคอลแห่งวง SHINee ที่เลือกจบชีวิตด้วยการรมควันภายในห้องพัก การจากไปของจงฮยอนเป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากภาวะความเครียด และอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าที่สะสมมาหลายปี ซึ่งทางสื่อเกาหลีใต้มีการรายงานคำบอกเล่าของเพื่อนสนิทจงฮยอนด้วยว่า จงฮยอนมีความเครียดสะสมจากการทำงานเพลง หลายครั้งเขามักบ่นว่า งานที่ทำออกมายังไม่ดีพอ แหล่งข่าวคนสนิทดังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จงฮยอนเคยไปพบแพทย์มาแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ทำให้เขาต้องพึ่งยานอนหลับเป็นตัวช่วยในการพักผ่อนอยู่ตลอด

แม้จะมีไอดอลหลายคนที่ไม่ได้เลือกจบชีวิตแบบโซจิน หรือจงฮยอน แต่ศิลปินไอดอลชื่อดังบางส่วนก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงความกดดันในวงการบันเทิงที่เคยเผชิญมาด้วย อย่าง IU (ไอยู) นักร้อง-นักแสดงมากความสามารถเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอเคยป่วยเป็นโรคบูลิเมีย หรือโรคล้วงคอ ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับการรับประทานมากเกินปกติ แต่เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคนี้จะล้วงคออาเจียนอาหารออกมาหลังจากรับประทานแล้ว ซึ่งสาเหตุที่ไอยูป่วยเป็นโรคบูลิเมียเนื่องจากตัวเธอมีความกังวล-ความกดดันถึงศักยภาพในการเป็นนักร้อง

ด้านนักแสดงสาว พัค จินฮี เคยเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า 40% ของศิลปินไอดอลชาวเกาหลีใต้เคยคิดถึงการฆ่าตัวตายมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง สาเหตุจากการถูกกลั่นแกล้งบนสื่อโซเชียลมีเดีย (ไซเบอร์บูลลี่) การขาดความเป็นส่วนตัว รวมถึงความกดดันในบทบาทที่ได้รับจากต้นสังกัด

ปัจจัยความเครียดและสิ่งที่ต้องเผชิญ

ภายใต้หน้าฉากแสนเปอร์เฟ็กต์ ใบหน้าสวยหล่อ ท่าเต้นเป๊ะปั๋ง เสียงร้องอันทรงพลังของศิลปินไอดอลหลายร้อยหลายพันชีวิตในวงการ K-pop ใครเลยจะรู้ว่า กว่าจะออกมาเป็นสเตอันสมบูรณ์แบบ ไอดอลเหล่านี้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคอะไรกันมาบ้าง เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวเดบิวต์เพื่อเป็นศิลปินในค่าย หรือที่เรียกกันว่า “เด็กฝึก”

เด็กฝึกเหล่านี้ต้องเข้ารับการเทรน-ฝึกซ้อม-กินนอนภายใต้ความดูแลของค่ายเพลงตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเฉลี่ยแล้วต้องเข้ารับการฝึกฝนตั้งแต่อายุราว ๆ 12-13 ปี ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการฝึกซ้อมหลังเลิกเรียนวันละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่เด็ก ๆ ที่ได้รับคัดเลือกและตัดสินใจเซ็นสัญญากับทางค่ายแล้วจะต้องลาออกจากโรงเรียน มีตารางเวลาในการฝึกซ้อมราว 7-8 ชั่วโมงต่อวัน การกลับบ้านไปหาครอบครัวจะถูกจำกัดกรอบระยะเวลา ทำให้เด็กฝึกไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กเที่ยวเล่น-เรียนหนังสือ-กลับบ้านเหมือนกับเด็กทั่วไปดังที่ควรจะเป็น

ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นเด็กฝึกยังไม่ได้การันตีด้วยว่า หลังจากผ่านระยะเวลาไป 4-5 ปีแล้ว พวกเขาจะได้รับเลือกเดบิวต์เป็นศิลปินตัวจริงของค่าย บางคนหากถึงเวลาคัดเลือก-แข่งขันแล้วไม่ได้ตามมาตรฐานอย่างที่ค่ายต้องการก็มีอันต้องเก็บกระเป๋าออกจากที่พักโดยที่ไม่ได้เป็นศิลปินเลยก็มี นี่จึงยิ่งเป็นความกดดันมากขึ้นไปอีกสำหรับเด็ก ๆ วัยมัธยมต้นกับความคาดหวัง และแรงกดดันจากทั้งตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง

อีกกรณีหนึ่งแม้ว่าเด็กฝึกจะได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินตัวจริง ได้รับการเดบิวต์-ออกซิงเกิลแล้ว แต่นั่นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเด็กฝึกจะประสบความสำเร็จในเส้นทางการเป็นไอดอล ในทางกลับกันการเดบิวต์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในวงการบันเทิงเสียมากกว่า เพราะในแต่ละปีเด็กฝึกที่ได้รับการเดบิวต์มีมากกว่าร้อยชีวิต ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ตัวเองได้รับการพูดถึง และเป็นที่นิยมของแฟน ๆ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ความนิยมที่ว่าสามารถวัดได้ด้วยรางวัลจากการขึ้นสเตจแข่งขันในแต่ละครั้ง อธิบายคร่าว ๆ ให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ ในวงการไอดอลเกาหลีจะมีรายการแข่งขันชิงถ้วยแชมป์มากมาย การแข่งขันนี้จะเกิดขึ้นเมื่อศิลปินออกเพลงหรือซิงเกิลใหม่ ศิลปินจะต้องแสดงทั้งการร้อง การเต้น และเอ็นเตอร์เทนคนดูในรายการ ซึ่งผู้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ชมสามารถชี้วัดได้จากยอดซื้ออัลบั้ม ยอดสตรีมมิ่งบนเครือข่ายออนไลน์ และยอดโหวตผ่านรายการโดยตรง ศิลปินที่ประสบความสำเร็จจึงต้องเป็นศิลปินที่สามารถคว้าถ้วยได้หลายรายการ กลุ่มศิลปินที่ได้รับความนิยมมาก ๆ เคยทำสถิติได้สูงถึง 14 ถ้วยแชมป์ต่อการออกซิงเกิล 1 ครั้ง

นอกจากนี้ หากศิลปินคนใดในกรุ๊ปมีผลงานที่โดดเด่น มีฐานแฟนเพลงที่สามารถต่อยอดได้ ค่ายจะผลักดันให้ออก “โซโล” นัยหนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นโอกาสให้ศิลปินมีการเติบโต ได้ทำเพลงที่ตัวเองชื่นชอบมากกว่าการทำเพลงร่วมกับวง แต่อีกแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า หากการโซโลเดี่ยวไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คาดการณ์ไว้ การออกโซโลครั้งต่อไปก็คงจะไม่เกิดขึ้น และนั่นก็จะยิ่งเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งต่อตัวของศิลปินเองด้วย

เยียวยาแผลใจ : จากแฟนคลับถึงศิลปิน

ไอดอลหลายคนเลือกใช้วิธีสื่อสารกับแฟนคลับด้วยการเปิดเผยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียส่วนตัวว่า เขาและเธอเหล่านั้นกำลังเผชิญกับภาวะเครียดไปจนถึงภาวะซึมเศร้าอยู่ ที่เป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง คือ กรณีของ แทยอน ลีดเดอร์คนสวยแห่งเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังติดลมบนอย่าง Girl’s Generation แทยอนพูดคุยถาม-ตอบผ่านฟีเจอร์ Q&A บนอินสตาแกรมของเธอ และเปิดเผยว่า เธอกำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าอยู่ ซึ่งเธอเองก็ได้ให้กำลังใจแฟนคลับที่ป่วยด้วยโรคนี้อยู่เช่นกัน

ผลจากการเปิดเผยครั้งนั้นทำให้มีแฟนคลับจำนวนมากเข้าไปให้กำลังใจแทยอนด้วยการคอมเมนต์บนอินสตาแกรม รวมถึงแฮชแท็กให้กำลังใจเธอยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในวันเดียวกันด้วย ซึ่งเนื้อหาทวิตเตอร์ในแฮชแท็กดังกล่าวยังเต็มไปด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และยังชี้เฉพาะไปถึงสภาวะที่เหล่าไอดอลต้องเผชิญกับความกดดัน ความเครียด การแข่งขัน และการได้รับคอมเมนต์ด้านลบเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาอยู่ตลอดเวลา

ภาระอันหนักอึ้งเหล่านี้แม้จะไม่ใช่ไอดอลทุกคนที่ออกมาพูดต่อสาธารณะ แต่ก็ยังทยอยมีให้เห็นอยู่เป็นระลอก ๆ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะขยับตัวทำอะไรก็กลายเป็นประเด็นไปเสียหมด อย่าง ยองแจ GOT7 ก็เคยถูกชาวเน็ตวิจารณ์เรื่องน้ำหนักของเขาผ่านไลฟ์สดทางอินสตาแกรม ซึ่งยองแจก็เลือกตอบกลับว่า ตนกำลังพยายามลดน้ำหนักอยู่ และตบท้ายว่า “คุณทำตัวคุณเองให้ดีเถอะ” หลังจากนั้น ก็มีแฟนคลับเข้ามาให้กำลังใจยองแจจำนวนมากการเข้ามาเป็นศิลปินในวงการที่ว่ายากแล้ว แต่การจะอยู่ได้อย่างสง่างามและมีความสุขคงยากยิ่งกว่า ลำพังตัวศิลปินที่ต้องปรับตัวอยู่ทางเดียวคงไม่สามารถเยียวยา

สถานการณ์ที่ว่ามาได้ทั้งหมด แต่ฝั่งของแฟนคลับและสังคมรอบข้างก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ด้วยว่า บุคคลที่อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ไม่ใช่คนสาธารณะที่เราจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างสนุกปาก เพราะไอดอลก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิด หากทั้งหมดสะสมกลายเป็นปมปัญหาใหญ่ เมื่อถึงวันนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับซอลลี่, จงฮยอน หรือโซจิน ก็อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0