โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ถอดบทเรียนจากพริกยำ...กับการลงทุนไปหลักแสน แต่รายรับแค่หลัก 1,000 !!

รักบ้านเกิด

อัพเดต 02 เม.ย. 2563 เวลา 08.06 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. 2563 เวลา 08.06 น. • รักบ้านเกิด.คอม

พริก หนึ่งพืชที่กำลังเป็นกระแสความนิยมของเกษตรกรทั้งมือเก่าและมือใหม่ ผมก็เป็นหนึ่งคนที่อยู่ในกระแสอันเชี่ยวกราดของพริกที่สุดแสนจะเผ็ดร้อน ประสบการณ์ตรงกับบทเรียนการปลูกพริกเจ๊งของผมเกิดขึ้นบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ จากเงินลงทุนไปกว่าแสนบาท แต่ผมขายพริกได้เพียง 1,000 บาท เท่านั้น!!

Plant/10124_img_5039_1.jpg
Plant/10124_img_5039_1.jpg

ผลผลิตพริกยำ ที่เก็บได้จากบทเรียนราคาแพงแสน

พริกพืชคู่ครัวไทยที่หลายคนบอกว่าปลูกไม่ยาก แต่จากประสบการณ์ที่ผมคลุกคลีอยู่ในวงการพริกมานานทำให้ผมรู้ว่า "พริกเจ๊งก็มากรวยก็มี" สาเหตุที่พริกเป็นพืชที่ทำให้คนปลูกเป็นได้ทั้งเศรษฐี และเกษตรกรล้มละลายนั่นก็เพราะว่า พริกเป็นพืชที่มีความแปรปรวนทั้งการผลิตและการตลาด ในด้านการผลิตนั้นพริกขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งพืชที่มีสารพัดโรคและสารพัดแมลง เกษตรกรที่จะปลูกพริกยำเป็น จะต้องมีความรู้เรื่องโรคและแมลงเป็นอย่างดี พร้อมทั้งต้องมีเคล็ดวิชาในการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่น หากเกษตรกรปลูกพริกในช่วงฤดูฝน เกษตรกรจะพบกับสารพัดโรคทั้ง รากเน่า โคนเน่า ใบจุด ยอดเน่า กุ้งแห้ง และไวรัสซึ่งสามารถระบาดได้แบบไม่เลือกฤดูกาล
พอปลูกในช่วงฤดูแล้งก็ต้องเผชิญกับสารพัดแมลง ทั้ง เพลี้ยไฟ ไร หนอน และโรค อย่างไวรัส ซันเบิร์น ซึ่งการจะจัดการให้อยู่หมัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการปลูกพริกนั้นต้องพิถีพิถันเอาใจใส่ในทุกๆ ขั้นตอน ดังประสบการณ์ตรงของผมที่เกิดกับพริกยำ หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ พริกชี้ฟ้า ที่ว่ากันว่าพริกชี้ฟ้าราคาดีช่วงแล้ง ผมก็เลยลองดูบ้าง เพราะเราเคยทำพริกฮอทอยู่แล้ว พริกยำเม็ดโตๆ จึงไม่น่าจะยาก ผมจึงตัดสินใจลงทะเบียนเรียนรู้การปลูกพริกยำครั้งแรกในชีวิตไป 10 ไร่!

Plant/10124_img_5035_2.jpg
Plant/10124_img_5035_2.jpg

สภาพแปลงปลูกพริกหลังกู้ชีพให้ผ่านอากาศร้อนมาได้

นึกย้อนกลับไปถึงวันที่ลงมือทดลองปลูกพริกยำฤดูแล้ง 10 ไร่เมื่อไหร่ ก็ให้รู้สึกโมโหตัวเองเมื่อนั้น หากมอง-ย้อนกลับไป ถือว่าเป็นการลงมือทำเกษตรที่ประมาทและบ้าคลั่งมาก เพราะพริกยำเป็นพริกที่ยังไม่เคยมีใครนำมาปลูกในพื้นถิ่นอีสาน แดนดิน ของ จ.ศรีสะเกษ นี้เลย ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียหาย เนื่องจากเราขาดข้อมูลพริกชนิดนี้ในพื้นที่ของเรา และที่จัดว่าสำคัญมากก็คือ นี่เป็น การปลูกพริกยำนอกฤดู ที่แม้แต่เกษตรกรในพื้นที่หลักอย่าง จ.ตาก,จ.สุโขทัย,จ.แพร่,จ.น่านและ จ.เชียงใหม่ ที่นิยมปลูกพริกชนิดนี้กันมาก ก็ยังไม่นิยมทำนอกฤดู ด้วยสภาพอากาศในพื้นที่ปลูก เขต อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ บ้านผม ณ จังหวะเวลานี้ร้อนแล้งมาก ซึ่งขัดกับนิสัยของพริกยำ ที่ชอบอากาศค่อนข้างเย็น เมื่อลงมือปลูกผมจึงได้เจอกับบทเรียนที่สำคัญมากๆ เลยทีเดียว
ด่านแรกที่เจอนั่นคือ อากาศที่ร้อนสุดๆ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ทำให้พริกที่ย้ายกล้าลงปลูกใหม่ทะยอยตายเป็นจำนวนมาก ผมพยายามปลูกซ่อมด้วยต้นกล้าที่เหลืออยู่ไม่มากนัก อากาศร้อน แดดแรงทำให้ดินร้อนมากในช่วงกลางวัน ความชื้นในดินหายไปอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิบนผิวดินก็สูงมากจนทำให้รากพริกเจริญได้น้อย ต้นพริกโตช้ามาก จนต้องพยายามเพิ่มความชื้นวันละสองรอบและให้อาหารเสริมทางดินทุกๆ 3 วัน จนช่วยให้พริกตั้งตัวได้ เริ่มมียอดและใบใหม่ออกมาให้เห็น แต่ก็ได้ชื่นใจอยู่ไม่นาน เมื่อต่อมาก็พบว่า มีกองทัพเพลี้ยไฟบุกเข้ามาทำลายพริกที่พึ่งฟื้นตัวใหม่ๆ ซ้ำอีก และ สิ่งที่ผมใช้รับมือกับกองทัพเพลี้ยไฟ ก็คือการพยายามปรับสูตรการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและเพิ่มความถี่ในการพ่นให้มากขึ้น จนสามารถกอบกู้แปลงพริกกลับคืนมาจากเพลี้ยไฟได้สำเร็จ

Plant/10124_img_5036_3.jpg
Plant/10124_img_5036_3.jpg

การปักไม้ค้ำยันต้นพริกขณะให้ผลผลิต

เมื่อพริกอายุได้ 40 กว่าวันจะเริ่มมีผลให้เห็นประปราย ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูกสำหรับผลพริกยำง่ามแรกๆ ที่ได้เห็น แต่ก็ยังกังวลใจกับบรรดาหญ้าที่กำลังงามแข่งกับต้นพริกขึ้นมาทุกทีๆ เพราะพริกโตช้ามาก พอพริกต้นเล็กหญ้าจึงได้โอกาสโตเอาๆ ในช่วงนี้ จึงเริ่มมีปัญหากับหญ้าวัชพืชเอามากๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนักใจตามมาก็คือ ต้นพริกที่ติดผลเริ่มมีน้ำหนักมาก เสี่ยงต่อกิ่งฉีกขาด จำต้องใช้ไม้ค้ำพริก ซึ่งไม้ค้ำพริกก็ต้องใช้เงินลงทุนไปอีกหลายหมื่นบาท สำหรับการสั่งซื้อไม้หลักจาก จ.สุโขทัย เพื่อมาใช้ค้ำพริกนับหมื่นๆ ต้น เพราะพริกยำนั้นผลจะโตมากหากไม่มีการค้ำกิ่งไว้ให้ดี กิ่งที่เปราะง่าย จะฉีกขาดทำให้ผลผลิตเสียหายได้ง่าย ๆ
การตัดสินใจปลูกพริกยำของผมในครั้งนี้ จึงเริ่มส่อแววว่าเป็นการลงทุนแบบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะนอกจากจะต้องซื้อไม้ค้ำหมดไปหลายหมื่นบาทแล้ว ผมยังต้องเสียเงินค้าจ้างแรงงาน มาช่วยปักไม้ค้ำพริกพร้อมทั้งมัดต้นพริกเข้ากับไม้ค้ำให้มั่นคงอีกด้วย ซึ่งคนงานผมไม่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อนจึงทำได้ช้ามาก ผมจำต้องใช้คนวันละ 5 คน มาจัดการเรื่องการปักไม้ค้ำพริก อยู่หนึ่งอาทิตย์เต็ม ๆ รวมแล้วหมดค่าแรงไปหมื่นกว่าบาท แต่ก็ใช่ว่าจะจบงานปักไม้ค้ำลงได้เพียงเท่านี้นะครับ เพราะไม้ที่สั่งมารอบแรกมีเพียงสองหมื่นห้าพันท่อนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่พอต่อจำนวนต้นพริกที่ผมปลูกไว้ในพื้นที่ 10ไร่ ที่มีทั้งหมดเกือบห้าหมื่นต้น

Plant/10124_img_5037_4.jpg
Plant/10124_img_5037_4.jpg

ต้นพริกเริ่มมีอาการของโรคใบจุดแบคทีเรีย

ไม้ล็อตที่สองยังไม่ทันจะได้สั่งมาฝนก็เริ่มตกช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ดูเหมือนจะดีต่อพริกเพราะช่วงที่ผ่านมาร้อนและแล้งมากจริงๆ แต่แล้วก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อพริกอย่างที่ผมคิด เพราะฝนตกเกือบทุกวันในช่วงนั้น จนผมเริ่มหวั่นใจกับพริกยำที่แสนจะบอบบางนี้แล้วว่า ช่วงฝนตกแบบนี้จำต้องเปลี่ยนแผนการพ่นยามาพ่นช่วงเช้าที่ฝนมักไม่ค่อยตกแทน เพื่อป้องกันความเสียหายจากโรคแมลงที่จะตามมาทำลายในสภาพอากาศแบบนี้ เพราะหากเป็นช่วงบ่ายอย่างที่ทำปกติละก็ ไม่มีทางจะทำได้แน่นอน เนื่องจากฝนจะตกช่วงบ่ายๆ ยันเย็นเกือบทุกวัน ผมได้พยายามวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่พริกจะเกิดโรคเมื่อเจอฝนหนัก ๆ แบบนี้ จึงทำการพ่นสารเคมีป้องกันทั้งโรคจากเชื้อราและแบคทีเรียไว้เสมอ
แต่แล้วโรคที่ผมกลัวมากที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้ นั่นก็คือ โรคใบจุดแบคทีเรีย ซึ่งเป็นโรคที่จัดการยากมากเพราะมักจะมากับฝนและแพร่กระจายไปกับฝน โดยโรคนี้จะมีลักษณะคล้ายๆ ใบจุดตากบที่เกิดจากเชื้อรา แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ จะมีจุดช้ำน้ำเกิดร่วมกับรอยจุดสีเหลืองหรือน้ำตาล โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีสารเคมีไม่กี่ชนิดที่อนุญาตให้ใช้ได้ การจัดการโรคนี้ให้อยู่หมัดจึงยากมาก ถึงแม้ผมจะหมั่นพ่นสารเคมีแค่ไหนก็ดูเหมือนจะไม่สามารถจัดการโรคที่แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วได้ เพียงไม่นานพริกเกือบทั้งแปลงจึงอยู่ในสภาพใบเหลืองร่วง โดยที่บางต้นติดเม็ดดกเต็มต้น ซึ่งดูเหมือนจะมีความหวัง….แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหวังอะไรได้
 

Plant/10124_123_5.jpg
Plant/10124_123_5.jpg

สภาพแปลงปลูกที่โดนทั้งโรคและกองทัพหญ้ารุมเล่นงาน

สุดท้ายผมจึงยุติกิจกรรมทุกอย่างในแปลงลง และทำใจว่านี่คงเป็นการลงทะเบียนเรียนอีกหนึ่งวิชาที่แพงแสนแพง เพราะสภาพพริกในวันนั้นไม่ต่างอะไรกับดงหญ้าที่มีต้นพริกแซมอยู่ประปราย บางต้นแทบจะไม่มีใบติดอยู่สักใบ บางต้นก็มีผลดกอยู่เต็มต้น แต่จำนวนต้นที่มีผลพริกนั้นดูจะน้อยเกินกว่าจะเก็บขายให้กับลูกค้ารายใหญ่ที่ผมติดต่อไว้ได้ ผมจึงได้เพียงแต่เก็บขายให้กับแม่ค้าในตลาดท้องถิ่น ในราคาเพียงกิโลกรัมมละ 20 บาท และเก็บไปแจกจ่ายญาติมิตรได้เอาไปตำน้ำพริกทานกัน ถึงแม้ว่าพริกจะพ่นสารเคมีบ่อยแต่ก็เป็นสารเคมีที่ปลอดภัย ผมจึงกล้าแจกจ่ายคนไปกิน รวมๆ แล้วพริกที่ผมขายไปได้ในรอบการปลูกนี้ มีประมาณ 50 กิโลกรัม รวมเป็นเงิน 1,000 บาท

Plant/10124_img_5040_6.jpg
Plant/10124_img_5040_6.jpg

ผลพริกยำที่เหลือรอดมาจำหน่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง

บทเรียนครั้งนี้ จึงกลายเป็นราคาที่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนที่แพงแสน และจัดเป็นบทเรียนที่ผมเรียนได้เกรดแย่ที่สุดสำหรับการลงทุนที่ลงไปเป็นแสน แต่มีรายรับกลับมาเพียงแค่หลัก 1,000 !!
เรื่อง/ภาพโดย :คนสวน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0