โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถอดถอน  ศิลปินแห่งชาติ การมุ้งหรือการเมือง

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 15.54 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 15.45 น.

++
          กรณี“ถอดถอนศิลปินแห่งชาติ” กลายเป็นประเด็นร้อนในสื่อโซเชียลในกลุ่มนักร้องและกลุ่มนักเขียน หลังจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบ เพื่อให้มีการถอดถอนศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม และบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ที่มีความประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสม ไม่เป็นตัวอย่างอันดี 

อ่านข่าว… เปิด4เหตุผล  "อ.เนาวรัตน์" ค้านถอดถอนศิลปินแห่งชาติ

          อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีวัฒนธรรม ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี เมื่อต้น พ.ค.2563 ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวง ซึ่งได้ให้มีการแก้ไขคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติและกำหนดให้มีการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อปรากฏว่ามีพฤติกรรมเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกได้

 

 

 

          พลันที่มีการประกาศในราชกิจจาฯ ได้ก่อให้เกิดปฏิริยาในวงการนักเพลง และวงการนักเขียน

          สำหรับวงการเพลง นักร้อง นักแต่งเพลงโจษขานกันมานานแล้ว เนื่องจากมีศิลปินแห่งชาติคนหนึ่งประพฤติตัวไม่เหมาะสม ตกเป็นข่าวฉาว ทำเอาลูกศิษย์กระอักกระอ่วนใจ ไม่อยากกราบไหว้

          เมื่อได้ราชกิจจาฯ เรื่องถอดถอนศิลปินแห่งชาติ หลายคนเลยพุ่งเป้าไปที่ศิลปินแห่งชาติคนดังกล่าว แต่ก็มี บางกระแสตอบโต้ว่า ต้องแยกเรื่องส่วนตัวกับผลงานของศิลปินออกจากกัน 

          ศิลปินแห่งชาติบางคนอาจมีปัญหาภายในครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากผลงานของศิลปิน เรื่องการฟ้องร้องก็ต้องพิสูจน์ให้ถึงที่สุด สังคมไม่ควรพิพากษาไปก่อนศาลสถิตยุติธรรม

         ด้านวงการนักเขียน ก็มีวิเคราะห์วิจารณ์ทำนองว่า การชงถอดถอนศิลปินแห่งชาติ น่าจะเกี่ยวพันกับศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง ที่แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการ และยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย

 

 

          เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2563 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ และ ส.ว. ได้โพสต์เฟซบุ๊กแจกแจงจุดยืน “ไม่เห็นด้วย” กับแนวคิดถอดถอนศิลปินแห่งชาติ พร้อมอ้างเหตุผล 4 ข้อ

          1.เป็นเกียรติคุณที่มีพระราชวงศ์ทรงเป็นองค์พระราชทานโดยเฉพาะ การถอดถอนภายหลังจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระองค์ท่านด้วยโดยปริยาย

          2.การกำหนดมาตรการถอดถอนหลังการประกาศยกย่องในทุกเกียรติคุณ เป็นการหลู่เกียรติตำแหน่งนั้นๆ เสียแต่ต้น สร้างความไม่แน่นอนมั่นคงให้กับตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งไม่เคยมีกติกาทำนองนี้กับการยกย่องเกียรติคุณใดๆ มาก่อน

          3.ความผิดพลาด บกพร่องของศิลปินแห่งชาติ หรือผู้ได้รับยกย่องเกียรติคุณใดๆ ย่อมถือเป็นกรณีส่วนตัวโดยเฉพาะ หาใช่หน่วยงานหรือสถาบันผู้มอบเกียรติคุณนั้นไม่ กล่าวคือเป็นความผิดต่อภายหลังซึ่งย่อมเป็นไปตามเฉพาะกรณีแห่งความผิดนั้นๆ เอง เช่น สังคมจะประณามเป็นส่วนตัว หรือ ตามกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อการกระทำนั้นๆ

          4.มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้

 

 

++

          ด้านศิลปินแห่งชาติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กทำนองตั้งคำถามถึง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ว่าทำไมถึงเพิ่งจะออกมาท้วงติงว่า การถอดถอนไม่เหมาะสม ทั้งๆที่เป็น 1 ใน 15 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ของกระทรวงวัฒนธรรม

          ถ้ามีความเห็นว่าการแก้ไขกฏกระทรวงว่าไม่เหมาะสม ทำไมไม่ออก “เสียงคัดค้าน” ตั้งแต่ต้น และวิจารณ์ว่า “เหมือนรู้สึกช้ามาตลอดในอีกหลายเรื่องนั่นแหละ” 

          สุชาติยังบอกอีกว่า ถ้าหากคัดค้านไม่สำเร็จ ตามมารยาทแล้วก็ควรลาออกจากบอร์ดของกระทรวงวัฒนธรรมเสีย

          จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังการชงเรื่อง “ถอดถอน” ศิลปินแห่งชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาตินั้น มีที่มาจากเรื่อง “การมุ้ง” หรือ “การเมือง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0