โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ถล่มยับพัฒนา”สุวรรณภูมิ เฟส2″ บิ๊กทอท.รู้ทัน แจ้งเลิกร่วมวงเสวนา

Money2Know

เผยแพร่ 18 ต.ค. 2561 เวลา 08.26 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ถล่มยับพัฒนา”สุวรรณภูมิ เฟส2″  บิ๊กทอท.รู้ทัน แจ้งเลิกร่วมวงเสวนา
วงเสวนารุมถล่ม "สุวรรณภูมิเฟส2" ชี้เป็นแค่ฝันติด "1 ใน 3"ของโลก  เรียกร้องให้รื้อระบบบริหารจัดการ พร้อมเปิดเผยข้อมูล ขณะที่ "นิตินัย"แจ้งยกเลิกเข้าร่วมวงเสวนา

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงานเสวนา หัวข้อ “สุวรรณภูมิ สนามบิน 1 ใน 3 ของโลก…ฝัน หรือ เป็นได้จริง ?” มองสนามสุวรรณภูมิไม่มีทางเป็น 1 ใน 3 ของโลกได้ หากยังบริหารจัดการแบบเดิม พร้อมแนะให้พัฒนาการบริการด้วยการเปิดเผยข้อมูลองค์กร เพิ่มการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ และแก้ปัญหาที่จุดด้อยอย่างตรงจุด

หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีที่โครงการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่  2 สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าหลายหมื่นล้าน ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลอกเลียนแบบอาคาร เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประมูล รวมถึงการลอกแนวทางพัฒนาจากแผนแม่บทเดิม ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความโปร่งใส และผลประโยชน์ของประเทศ

การเสวนาในครั้งนี้ นายนิตินัย  ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หนึ่งในรายชื่อผู้เข้าร่วมเสวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้เนื่องจากไม่สะดวก โดยมีการแจ้งทีมงานในช่วงเย็นก่อนวันสัมมนา แต่ไม่มีการส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามการเสวนาดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทุกฝ่ายต่างเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหา และตอบโจทย์ที่ว่า สุวรรณภูมิมีโอกาสเป็นสนามบินที่ดีที่สุดติด 1 ใน 3 ของโลกได้หรือไม่

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก

ต้องบริการลงลึกถึงรายละเอียด

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในมุมมองผู้ใช้บริการท่าอากาศยานว่าการตั้งโจทย์ในการพัฒนาท่าอากาศยาน จะต้องมองในหลายมิติ และเอาความต้องการของนักเดินทางเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ความต้องการของผู้ให้บริการเป็นหลัก รวมถึงการปรับเปลี่ยนความคิดจากการบริการแบบเดิมเป็นสิ่งสำคัญ

โดยยกตัวอย่างสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่มีโรงภาพยนตร์บริการ 24 ชั่วโมง ห้องเล่นเกมสาธารณะ สวนผีเสื้อธรรมชาติ สวนดอกไม้ สระว่ายน้ำ อินเทอร์เน็ต บริการนำเที่ยวเป็นซิตี้ทัวร์ฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวที่รอเครื่องนาน ฯลฯ เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมจากความคาดหมายของนักท่องเที่ยว

เมื่อเทียบสนามบินในประเทศไทยยังใช้วิธีการเดิม ไม่ลงลึกในรายละเอียด ซึ่งมองว่าปัจจัยนี้มีส่วนทำให้สุวรรณภูมิไม่ติด 1 ใน 3 ของโลกตามที่คาดหวังได้

โดยแนวทางในการให้บริการที่ควรปรับเปรียบตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอนาคต เนื่องจากการเดินทางทางอากาศจะเปลี่ยนไป ปัจจุบันผู้โดยสารเช็คอินได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ ซึ่งในอนาคตขั้นตอนการใช้บริการใช้บริการหน้าเคาท์เตอร์จะลดลงมาก ทำให้มีคนให้บริการน้อยลง ใช้ระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ต่าง ๆ หุ่นยนต์ที่สามารถตอบคำถามได้ทุกภาษาเข้ามาช่วยทำหน้าที่ให้บริการ ตั้งแต่เช็คอิน จนถึงจุดหมาย ซึ่งเป็นความสะดวกในท่าอากาศยาน

“นอกจากนี้ เราทุกคนต้องมีส่วนในการข่วยกันตื่นรู้และเป็นหูเป็นตา และยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง” นายอิทธิฤทธิ์ กล่าว

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิถูกจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกขึ้นลงอยู่ระหว่าง อันดับที่ 36-48 โดยเคยร่วงลงไปถึงอันดับที่ 48 และค่อย ๆ กลับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 36 ในปี 2560 สะท้อนในการพัฒนาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เมื่อรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ พบว่า คุณภาพของสนามบินตามหมวด (Skytrax rating) จัดอันดับสุวรรณภูมิเป็น 3 ดาว ซึ่งเมื่อดึงตัวที่ต่ำกว่า 3 ใน 5 ออกมา ปรากฏว่าตัวที่ได้รับคะแนนต่ำที่สุดคือ

  • ที่พักสำหรับผู้โดยสารแบบ Dayroom ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยอาจจะไม่เคยใช้ แต่ถ้าได้เคยใช้จะรู้ว่าแย่มาก จนบัดนี้ยังไม่มีการปรับปรุง เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน แม้จะรับรู้ถึงปัญหา แต่มองว่าไม่จำเป็นต้องรีบแก้ไข 
  • การเข้าถึงแหล่งพลังงาน บริการชาร์จแบตเตอรี่ ฯลฯ ที่มีจุดให้บริการน้อย
  • ไม่มีเก้าอี้นั่งใกล้จุดเช็คอิน
  • เครื่องให้บริการข้อมูลอัตโนมัติที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปัญหาด้านการใช้ภาษาของผู้ให้บริการในหลายส่วน เช่น จุดสายพานกระเป๋า เช็คสัมภาระ เป็นต้น รวมไปถึงทัศนคติของผู้ให้บริการ ที่เป็นปัญหามาโดยตลอด ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุง 

ทั้งนี้ ได้นำข้อมูลของ ทอท.ในส่วนของ กำไรจากการดำเนินงานที่อยู่ในรูปของเงินสด หรือ EBITDA มาเปิดเผย โดยปรากฏชัดเจนว่ามีการเติบโตของ EBITDA มากขึ้นทุกปี สวนทางกับการบริหารที่ไม่มีการพัฒนา

ดร.เดือนเด่น อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อวิเคราะห์ลักษณะการดำเนินธุรกิจของ ทอท. แล้ว ไม่ได้อยู่ในสถานะของรัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชน เนื่องจากไม่ได้มีแข่งขันเชิงพาณิชย์ในประเทศ เพราะมีเพียงเจ้าเดียว มีเพียงแข่งกับต่างประเทศแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ทำให้ EBITDA เติบโตได้ดี ซึ่งไม่ได้สะท้อนการบริหารงานที่ดี แต่เป็นอานิสงค์ของการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ต้องมีองค์กรกำกับดูแลอย่าง การบริหารสุวรรณภูมิเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ปัญหาของสุวรรณภูมิสะท้อนปัญหาทั้งระบบของประเทศไทย ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เป็นปัญหาของท่าอากาศยานไทยเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล นั่นคือสำนักงานการบินพลเรือน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลท่าอากาศยาน ซึ่งตั้งออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ

หน่วยงานเหล่านี้ควรมีบทบาท เสมือนองค์กรในต่างประเทศ พบว่าในต่างประเทศจะมีหน่วยงานกำกับดูแลสนามบินให้บริหารจัดการตามมาตรฐานไม่สามารถดำเนินการได้ตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ คณะกรรมการของท่าอากาศยาน มาจากหน่วยงานของรัฐที่หลากหลาย อาทิ จากกระทรวงการคลัง ตัวแทนศาลยุติธรรม อดีตสภาพัฒน์ฯ และอีกหลายหน่วยงานต้องช่วยกันดูแล

"ต้องช่วยกันคิดว่าทำยังไงให้สุวรรณภูมิตื่นตัวเรื่องคุณภาพของการบริการ ถ้ากระทรวงการคลังเอาจริงสามารถจัดการได้"

ที่ต้องนำไปปรับปรุงต่อคือระบบการจ่ายโบนัส จำเป็นต้องผูกโยงกับการประเมินความพอใจของผู้ใช้สายการบินและผู้ใช้บริการจริง และเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่การประเมินรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง พร้อมทั้งสำนักงานการบินพลเรือนต้องออกหลักเกณฑ์ในการควบคุมราคาและการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

"ถ้าสิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้ สุวรรณภูมิที่จะได้ 1 ใน 3 ของโลกก็คงเป็นแค่ความฝัน” ดร.เดือนเด่น กล่าว

ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
ดร.ต่อตระกูล ยมนาค

ส่วนดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) กล่าวว่า "จากที่ฟังข้อมูลโอกาสที่สุวรรณภูมิเป็น 1 ใน 3 ของโลกเป็นศูนย์ ถ้า 1 ใน 10 นับว่าเป็นบุญถ้ายังบริหารจัดการในลักษณะนี้อยู่"

การสร้างเทอมินอล  จากข้อมูลต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าผลที่ออกมาไม่มีประโยชน์ส่วนรวม โดยมองว่า 1.4 แสนล้านบาทถือว่าไม่แพงเกินไปสำหรับการสร้างเทอมินอล แต่จะแพงมากหากทำไปแล้วเกิด "กลียุคในสนามบิน" 

ที่ผ่านมา ทอท. ไม่สามารถตอบคำถาม หรือให้ข้อมูลได้เลย ตัวเลขที่บอกว่า 30 ล้านมาจากไหนไม่รู้ มีพื้นที่พลาซ่าใหญ่โตมโหฬาร โดยเชื่อว่าจัดทำมาเพื่อขายของทำกำไรเท่านั้น

โครงการนี้ทำให้คนไทยตื่นรู้ และสู้ในสิ่งที่จะทำให่สูญเสียผลประโยชน์ของประเทศชาติ เก็บข้อมูลต่าง ๆ มาเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบ 

โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) สังเกตการณ์ในอย่างอิสระ และติดตามมาไปทุกเวที หากมีความผิดเกิดขึ้นจริง ผู้สังเกตการณ์จะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อแสดงความจริงต่อไป

ดร.ต่อตระกูล เล่าว่า เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เคยไปตรวจสอบ 2 โครงการที่สุวรรณภูมิ โดยใช้ระบบการดูแลความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ ตามแบบของประเทศอังกฤษเพื่อตรวจสอบการดำเนินงาน

โดย โครงการสนามบินสุวรรณภูมิเป็นหนึ่งในโครงการที่ไม่ให้ความร่วมมือ โดยอ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพราะเป็นความลับ ซึ่ง ดร.ต่อตระกูล มองว่าโครงการเหล่านี้จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานท่าอากาศยานเอง ถ้ามีคนพิจารณ์จะได้ปรับตัวได้ 

ทั้งยังกล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทอท. ก็ไม่มีการเปิดเผยถึงงบประมาณในการสร้างเทอมินอล 2 จำนวน 42,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรี ถือว่ายังไม่ใช่โครงการทางการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องมีการเสนอข้อมูลสาธารณะเป็นผลประโยชน์ของประเทศต้องเปิดเผยได้ เพราะไม่ใช่ความลับทางการค้า

พร้อมแนะนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศต้องรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของเศรษฐกิจไทย เป็นเหมือนประตูเข้าประเทศ ซึ่งธุรกิจได้เงินมหาศาล

"มองว่าเป็นวิกฤตของประเทศ ถ้าหากสนามบินสุวรรณยังป็นแบบนี้ วิธีแก้อาจเหมือนที่อังกฤษเคยขายฮีทโทรว์กับบริษัทสเปน สุวรรณภูมิคงไม่ต้องให้ต่างชาติซื้อ คงไม่ต้องบอกว่าจะให้ใครซื้อ" ดร.ต่อตระกูล กล่าว

พล.อ.ต. ม.ล. ประกิตติ เกษมสันต์
พล.อ.ต. ม.ล. ประกิตติ เกษมสันต์

พล.อ.ต. ม.ล. ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวถึงปัญหาที่เกิดข้อขัดแย้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การออกมาเปิดเผยข้อมูลของสภาสถาปนิก ต้องการช่วยตรวจสอบดูแลในการออกแบบเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ได้ต้องการเป็นฝ่ายค้าน

ที่ผ่านมามีข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคเชิงลึกไหลเข้ามาที่สภาสถาปนิกจากทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลมีความน่าสนใจ จึงทำให้มีการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ และตรวจสอบว่าข้อมูลนี้ได้รับมาเบื้องต้นเป็นความจริงหรือไม่

โดยประเด็นที่น่าติดตาม ได้แก่

1. Master Plan เรื่องผลลัพธ์ที่มีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากกระบวนการที่มีปัญหา ที่มาจากการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน มีปัญหาทางยุทธศาสตร์ เรากำลังต้องการผลลัพธ์คุณภาพแต่กระบวนการไม่เอื้อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด และมีคนยื่นข้อเสนอแค่ 4 ราย ซึ่งผิดปกติ นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า  ผลตอบแทน สิ่งที่องค์กรได้รับจากโครงการเหล่านี้ ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์จากการสร้างเทอมินอล 2 จริงหรือไม่

2. กระบวนการศึกษาโครงการ จัดทำโปรแกรมมิ่ง ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาวิ่งเข้ามาหาสภาสถาปนิก เนื่องจาก TOR ที่ทำมาเป็นอัตราที่ขาดทุน คือไม่สามารถจ้างได้ เพราะใน TOR กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าดูแลทุกเรื่องของการออกแบบ แค่ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 40 อัตราที่ต้องทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งประเมินได้ว่า 300 กว่าล้านน่าจะหมดไปในส่วนนี้

3. การตัดสินใจดำเนินโครงการ

4. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกณฑ์คุณภาพ ที่มองว่าควรใช้กติกาจัดซื้อจัดจ้างที่พัฒนาขึ้นใหม่ รวมถึงค่าบริการในการจัดซื้อจัดจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานไปมาก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพอย่างแน่นอน ซึ่งข้อกังวลนี้ออกมาเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0