โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ต้องเช็กอินแล้ว ! 5 ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ตามเชื้อสายจีนดั้งเดิม ขอพรก็ได้ ถ่ายรูปก็สวย

LINE TODAY

เผยแพร่ 09 ก.พ. 2564 เวลา 19.36 น. • nuchthawat_p

ไม่ว่าคุณจะเป็น "จีน" ไหน จะมีเชื้อสายใด จะแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ฮกเกี้ยน หรือไหหลำ ช่วงปีใหม่จีนนี้ลองไปกราบไหว้ขอพรเทพเจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลตามศาลเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นโดยต้นตระกูลจีนดั้งเดิมที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ตลอดจนสถาปัตยกรรมของชุมชนชาวจีนที่เป็นบรรพบุรุษเชื้อสายเดียวกับเราจาก 5 ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ต่อไปนี้… 

ที่ไหว้ขอพรก็ได้ หรือจะถ่ายรูปก็สวยเก๋เพลินตาแท้

1. ศาลเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋ว: ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง  

สันนิษฐานว่าก่อสร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยอ้างอิงหลักฐานจากตัวอักษรภาษาจีนบนระฆังเก่าแก่ในศาลเจ้า ทว่าอาคารหลังปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในสมัยรัชกาลที่ ๘  

ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้า "ตั่วเหล่าเอี้ย" หรือที่รู้จักกันในนาม เฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ ที่คนไทยรู้จักในนามเจ้าพ่อเสือ ถือเป็นเทพเจ้าประจำทิศเหนือตามความเชื่อของชาวจีน ลักษณะเป็นรูปเคารพแต่งชุดทหารจีนโบราณ ที่พระบาทมีงูและเต่า ถือเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนแต้จิ๋วให้ความเคารพอย่างมาก

หากจะไปศาลเจ้าแห่งนี้ ระวังเวลาเสิร์ชชื่อเพื่อหาพิกัดบนมือถือให้ดี เลือกศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงที่ขึ้นบนจอว่าอยู่ตรงถนนทรงวาด ซึ่งด้านในต้องมีโรงเรียนเผยอิงตั้งอยู่เคียงข้าง เตือนแล้วนะ! 

พิกัด: เลขที่ 833 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ >> https://goo.gl/maps/ZDFtv2gdp4Gb8UV37

2. ศาลเจ้าของชาวจีนกวางตุ้ง: ศาลเจ้ากวางตุ้ง

หรือ "ศาลเจ้ากว๋องสิว" ยืนหนึ่งเป็นศาลเจ้าของชาวจีนกวางตุ้งเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ อยู่ติดกับ I'm Chinatown โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเยาวราช เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2423 ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากหลักฐานแผ่นหินจารึกบนกำแพงรอบศาลเจ้า 

ปัจจุบันได้มีการอัญเชิญพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือพระเจ้าอมิตาภะ พระศากยมุนี และ พระไภษัชยคุรุ ตามคติทางพุทธมหายานเป็นเทพองค์ประธาน

ศาลเจ้ากวางตุ้งเป็นศาสนสถานที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง เนื่องจากภายในยังเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลกว๋องสิว เปิดรักษาโรคต่าง ๆ ให้กับชาวกวางตุ้งและประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ที่สำคัญ ศาลเจ้าแห่งนี้ยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรแล้วด้วย

พิกัด: เลขที่ 511 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ >> https://goo.gl/maps/a4wcWQaKckSDwCS77

3. ศาลเจ้าของชาวจีนฮกเกี้ยน: ศาลเจ้าเกียนอันเกง 

ใครกำลังตามหาความสงบสุขต้องมาที่นี่ค่ะ เพราะศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือ เกียนอันเตง นั้นซ่อนตัวอยู่ในย่านชุมชนกุฎีจีน ซอยเดียวกับวัดกัลยาณมิตร เวลาเดินเข้าไปกันหลายคนก็ทำตัวสงบเสงี่ยมนิดนึงนะคะ อย่าเอะอะมะเทิ่งเกินควร ประเดี๋ยวจะกลายเป็นรบกวนชาวบ้านที่อยู่กันอย่างหนาแน่นในละแวกนั้น

"เกียนอันเกง" มีความหมายว่า อารามสร้างสงบสุข มีพระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นเทพองค์ประธาน โดยมีเจ้าแม่หม่าโจ้วและเจ้าพ่อกวนอูประดิษฐานอยู่เคียงข้าง คนโดยทั่วไปนิยมบูชาและบนบานเจ้าแม่หม่าโจ้วเพื่อขอให้เรื่องที่ตนปรารถนาประสบผลสัมฤทธิ์

ภายในศาลเจ้ามีป้ายติดไว้ชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ ลำพังแค่ด้านหน้าศาลเจ้าและประตูสีแดงบานเก่าคร่ำคร่าก็เก๋ไก๋ให้คุณถ่ายรูปสวย ๆ เพียงพอแล้ว หากเดินออกไปตรงทางเข้าจะเป็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศดีเชียวค่ะ น่าไปยืนตากลมชิลล์ ๆ พลางร้องเพลง หวง (You're mine) ของน้องเอิ๊ต ภัทรวี "แค่ห้ามน่ารักกับใครแบบนั้น เว้นให้ฉันคนเดียวได้ไหม…" 

พิกัด: เลขที่ 582 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ >> https://goo.gl/maps/RkCvBHquwzqqfYEs7

4. ศาลเจ้าของชาวจีนแคะ: ศาลเจ้าซำไนเก็ง

จัดเป็นศาลเจ้าของชาวจีนแคะที่เก่าแก่ที่สุดในย่านฝั่งธนบุรี มีอายุกว่า 172 ปี ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนท่าดินแดง ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย 

เทพเจ้าสำคัญของที่นี่เป็นเทพเจ้า 3 สตรี เรียกว่า "ซำไนเซียนเนี้ย" สอดคล้องกับชื่อ ซำไนเก็ง ที่หมายถึง วังหรือตำหนักแห่งเทพสตรีทั้งสาม โดยทั่วไปประชาชนมักนิยมกราบไหว้เทพเจ้าซำไนเพื่อขอพรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง การเสริมบารมี และให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า    

เป็นที่น่าสังเกตว่าการนับถือกลุ่มเทพเจ้าสตรีในลักษณะนี้จะปรากฏเฉพาะที่ศาลเจ้าของชาวจีนแคะเท่านั้น 

พิกัด: เลขที่ 405 ถนนท่าดินแดง แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ >> https://goo.gl/maps/DbBc64SwxL2dCcdF8

5. ศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ: ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว

ท่ามกลางความวุ่นวายของท่ารถสองแถวแดง สายไฟฟ้าระเกะระกะรกตา ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว ยืนสงบนิ่งถ่อมตนอยู่บริเวณด้านข้างสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างโดยแกนนำชาวจีนไหหลำที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เมื่อราว พ.ศ. 2414  

สำหรับศาลเจ้าหลังปัจจุบันเป็นศาลเจ้าที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่เมื่อครั้งมีการก่อสร้างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินราว พ.ศ. 2522 ภายในเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้า 108 พี่น้องที่ชาวจีนไหหลำยกย่องเป็นเสมือนเทพเจ้าเฝ้าท้องทะเล เชื่อว่าใครที่มากราบไหว้ขอพรจะช่วยให้เดินทางปลอดภัย การค้าขายเจริญรุ่งเรือง 

พ่อค้าแม่ขายไอจีต้องลองมาไหว้สักครั้ง เผลอ ๆ กลับไปยอดพรีออเดอร์พุ่งกระฉูด อินบ็อกซ์แตกกระจายรับทรัพย์แบบไม่ทันตั้งตัว

พิกัด: เลขที่ 240 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ >> https://goo.gl/maps/kUhfL5LYLw7iREWs5

อ้างอิง

สำนักผังเมือง. 2559. ศาลเจ้าศรัทธาสถานแห่งบางกอก. กรุงเทพฯ.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0