โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ต้นสายปลายเหตุ จุดจบ ‘โรงแรมลอยฟ้า’ เอ380

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 16 ก.พ. 2562 เวลา 06.39 น. • The Bangkok Insight
ต้นสายปลายเหตุ จุดจบ ‘โรงแรมลอยฟ้า’ เอ380

“แอร์บัส” ผู้ผลิตอากาศยานของยุโรป ประกาศแผนหยุดผลิตเครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้  “เอ380” เครื่องบินโดยสารแบบ 2 ชั้น ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกเปรียบเป็น “โรงแรมลอยฟ้า” หลังผลิตมาได้ 12 ปี โดยการส่งมอบเครื่องบินเอ 380 ลำสุดท้ายจะมีขึ้นในปี 2564

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังจากสายการบินเอมิเรตส์ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดที่สั่งผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ ลดปริมาณการสั่งซื้อลงมา 39 ลำ จาก 162 ลำ มาเป็น 123 ลำ

ทอม เอ็นเดอร์ส ซีอีโอแอร์บัส ระบุว่า  การตัดสินใจของสายการบินเอมิเรตส์ ทำให้บริษัทมียอดสั่งซื้อ เอ380 ไม่มากนัก ทำให้แนวโน้มการผลิตไม่ยั่งยืน แม้จะดำเนินความพยายามขายกับสายการบินอื่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ตาม

“ผู้โดยสารทั่วโลกรักการบินไปกับเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่รุ่นนี้ ดังนั้นการประกาศในวันนี้จึงเป็นความเจ็บปวดสำหรับพวกเรา และกลุ่มผู้ชื่นชอบเอ380 ทั่วโลก”

การยุติสายงานการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานราว 3,000 – 3,500 คน ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

โรงแรมลอยฟ้า

โครงการผลิตเครื่องบินแอร์บัส เอ380 เริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 90 เพื่อเจาะตลาดเครื่องบินโบอิง 747 โดยการพัฒนาเอ380ลำแรก เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2536

เอ380 เป็นเครื่องบินสองชั้นที่ออกแบบมาให้มีพื้นที่รองรับสิ่งอำนวยความสะดวกตามความต้องการของสายการบินที่เป็นลูกค้า เช่น บาร์ ห้องเสริมสวย และร้านค้าปลอดภาษี ความหรูหราโอ่อ่านี้ทำให้ถูกเปรียบเป็น “โรงแรมลอยฟ้า” ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 550 ที่นั่ง

ซูเปอร์จัมโบ้รุ่นนี้ เปิดตัวในปี 2550 โดยสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สเป็นผู้เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน เป็นเส้นทางการบินจากสิงคโปร์ไปนครซิดนีย์ ของออสเตรเลีย

ขณะที่สายการบินแควนตัส เริ่มนำเอ380 มาทำการบินในปีถัดมา ในเส้นทางเมลเบิร์น-ลอสแองเจลิส สหรัฐ  ส่วนแอร์ฟรานซ์ และลุฟต์ฮันซา ต่างก็มีเครื่องบินรุ่นนี้ประจำฝูงบิน แต่เอมิเรตส์เป็นสายการบินที่สั่งซื้อเอ380 มากที่สุด

ทำไมอายุสั้น

เมื่อครั้งที่สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์สนำเครื่องเอ380 ให้บริการเป็นครั้งแรกนั้น ได้จุดความหวังว่าอนาคตของการเดินทางทางอากาศได้มาถึงแล้ว โดยมีผู้มองกันว่า เอ380  ซึ่งส่วนปีกผลิตโดยบริษัทแอร์บัส ในสหราชอาณาจักร เป็นความหาญกล้าท้าทายกับโบอิง คู่แข่งจากสหรัฐ ที่เป็นผู้นำในตลาดอากาศยานขนาดใหญ่

แต่ในขณะที่แอร์บัสกำลังวางเดิมพันมูลค่ามหาศาลกับการคาดการณ์ที่ว่าบรรดาสายการบินต่างๆ จะต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ในอนาคตนั้น โบอิงกลับดำเนินการในทางตรงกันข้าม ด้วยการผลิตเครื่องบินที่มีขนาดเล็กลงมา อย่าง 787 ดรีมไลเนอร์

แอร์บัส เดินหน้าโครงการผลิต เอ380 โดยมุ่งเป้าเจาะตลาดการบินที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย และตะวันออกกลาง ทว่าหลังจากมียอดสั่งซื้อจำนวนมากในช่วงแรก ความต้องการซื้อกลับค่อย ๆ ลดลง จนทำให้โครงการนี้ไม่ให้ผลกำไรอย่างที่คาด โดยมีการประเมินกันว่า โครงการนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.5 หมื่นล้านดอลลา และที่ผ่านมาได้ตกเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนี

นับถึงเดือนมกราคมปีนี้ แอร์บัสมีคำสั่งซื้อเอ380 ทั้งหมด  313 ลำ และทำการส่งมอบให้ลูกค้าแล้ว 234 ลำ ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ว่า จะจำหน่ายเครื่องบินเอ380 ให้ได้ 700 ลำ

บีบีซี ระบุว่า แม้ เอ380 จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้โดยสาร แต่สายการบินต่าง ๆ กลับมองว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า โดยบางสายการบินชี้ว่า เอ380 มีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้ไม่ได้ผลกำไร เพราะมักมีที่นั่งว่างจำนวนมากในแต่ละเที่ยวบิน โดยนายวิลลี วอลช์ ผู้บริหารบริษัท IAG เจ้าของสายการบินบริติช แอร์เวย์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เครื่องบินรุ่นนี้ แม้จะดีแต่ก็มีราคาแพงเกินไป

นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น และการที่เหล่านักรณรงค์ตั้งคำถามเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้น ทำให้สายการบินบางแห่งหันไปใช้เครื่องบินขนาดเล็กกว่ารุ่นอื่น ๆ ของโบอิง และแอร์บัส ที่มีความคุ้มค่าด้านการเงินมากกว่า

ขณะที่สายการบินบางแห่งเลือกที่จะรอดูข้อมูลของเครื่องบินรุ่นใหม่ในตระกูล 777 ของโบอิง ซึ่งจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าในปี 2563 โดยเป็นรุ่นที่มีที่นั่งน้อยกว่า มีพิสัยการบินไกลพอกัน มีความจุสัมภาระมากกว่า และมีเครื่องยนต์น้อยกว่า 2 เครื่องเมื่อเทียบกับเอ380

นับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มีบริษัทที่สั่งซื้อ A380 จำนวน 57 ราย แต่ได้ตัดสินใจยกเลิกคำสั่งซื้อดังกล่าวในเวลาต่อมา ซึ่งรวมถึงสายการบินเอมิเรตส์ เวอร์จิน แอตแลนติก และลุฟต์ฮันซา นอกจากนี้ เครื่องบินบรรทุกสินค้า เอ380 ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ทะยานขึ้นฟ้าเพราะไม่มีผู้สนใจสั่งซื้อ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์เรื่องการยุติโครงการผลิต เอ380 อย่างต่อเนื่อง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า แอร์บัสอาจผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ในจำนวนจำกัดได้

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของลูกค้ารายใหญ่ที่สุดอย่างสายการบินเอมิเรตส์ ที่ลดยอดสั่งซื้อลงนั้น ดูเหมือนจะปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอร์บัสตัดสินใจปิดฉากเครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้เจ้าของฉายา “โรงแรมลอยฟ้า” รุ่นนี้

ที่มา: BBC

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0