โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต่างประเทศ : เยอรมนีกับเกาหลีโมเดล ในวันรับมือไวรัสมฤตยู

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 05 เม.ย. 2563 เวลา 01.33 น. • เผยแพร่ 05 เม.ย. 2563 เวลา 01.33 น.
ตปท 2068

ในยามนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ไม่พ้นพบเห็นแต่เรื่องราวข่าวสารการรับมือของนานาประเทศกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคปอดอักเสบรุนแรง

ซึ่งองค์การอนามัยโลก (ฮู) บัญญัติชื่อให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” หรือ Covid-19 (ย่อมาจาก coronavirus disease starting in 2019) ที่กำลังลุกลามระบาดหนักไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

จากที่มีต้นตอการเริ่มแพร่ระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกที่มีประชากรอยู่ราว 11 ล้านคนในมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของประเทศจีน

สถานการณ์ระบาดที่กระอักหนักที่สุดในขณะนี้ตกอยู่ในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่พากันทะยานขึ้นไปรั้งอันดับของการมียอดผู้เสียชีวิตและยอดติดเชื้อสะสมมากที่สุดของโลกแซงหน้าจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาดของไวรัสวายร้ายนี้แห่งแรกไปแล้ว หลังจากที่จีนสามารถรับมือจัดการจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไว้ได้

โดยอิตาลีขึ้นแท่นมียอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากที่สุด ณ วันที่ 1 เมษายน อยู่ที่ 42,354 ราย

ส่วนสหรัฐอเมริกามียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดที่จำนวน 189,633 ราย พากันแซงจีนที่มียอดผู้เสียชีวิตในวันดังกล่าวอยู่ที่ 3,305 ราย อยู่อันดับ 4 ของโลก และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมที่ 82,301 ราย รั้งอันดับ 4 อยู่เช่นกัน

 

ส่วนเกาหลีใต้ที่จะกล่าวถึง ซึ่งเป็นชาติแรกๆ ที่เผชิญสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักหนาเอาการ หลังจากที่เริ่มพบการระบาดในจีนได้เพียงไม่นาน

ซึ่ง ณ วันที่ 1 เมษายน เกาหลีใต้ยังมียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่เพียง 165 ราย

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 9,887 ราย ซึ่งถือว่ามีระดับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังต่ำกว่าอยู่มากเมื่อเทียบเคียงกับชาติอื่นๆ นับจากที่มีการพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ

สิ่งนี้อาจสะท้อนภาพในมิติของการรับมือได้อย่างดีต่อปัญหาวิกฤตโรคระบาดนี้ของเกาหลีใต้ ที่ยังได้รับเสียงชื่นชมจากทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก

ถึงขั้นแนะให้ชาติอื่นที่ประสบปัญหานี้อยู่ยึดเอาเป็นโมเดลมาปรับใช้ในการต่อสู้รับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศตนเอง

เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีเสียงขานรับมาจากชาติหนึ่งแล้วคือเยอรมนี ที่แม้เยอรมนียังมีอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในระดับต่ำ ที่ราว 775 ราย แต่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 71,808 ราย รั้งอันดับ 5 ของโลก โดยมีรายงานอ้างอิงจากเอกสารทางราชการภายในกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนีที่หลุดออกมาถึงมือสื่อมวลชนหลายสำนักบอกว่ารัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี กำลังจะหยิบยืมโมเดลการต่อสู้ไวรัสโควิด-19 ของเกาหลีใต้มาปรับใช้

หนึ่งในมาตรการนั้นคือการพุ่งเป้าระดมตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และการแยกกักโรคเพื่อทำลายห่วงโซ่การติดต่อแพร่เชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ

โดยจากที่ขณะนี้เยอรมนีมีอัตราการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 300,000-500,000 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งก็ถือเป็นอัตราการตรวจหาเชื้อที่มากกว่าชาติอื่นในยุโรปด้วยกันแล้ว

แต่หลังจากศึกษานโยบาย “ติดตาม ตรวจเชื้อ และรักษา” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การรับมือโรคโควิด-19 ของเกาหลีใต้ รัฐบาลแมร์เคิลก็ได้ตั้งเป้าที่จะตรวจหาเชื้อต่อกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างน้อย 200,000 รายต่อวัน

และยังตั้งเป้าจะตรวจหาเชื้อกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่อาจติดเชื้อทั้งหมด ตลอดจนผู้ใกล้ชิดที่ได้ติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน

จากปัจจุบันที่เยอรมนีใช้เกณฑ์ตรวจหาเชื้อที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ที่แสดงอาการของโรคโควิด-19 และผู้ที่ได้ติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน

 

หากเจาะดูยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่ถือว่าประสบผลสำเร็จในการต่อสู้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องใช้ยาขนานแรงอย่างมาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองปิดประเทศอย่างที่จีนและอีกหลายประเทศทำ ดังที่กล่าวมามี 3 หลักใหญ่คือ ติดตาม ตรวจเชื้อ และรักษา (trace, test and treat)

ซึ่งในการติดตามสืบหาผู้ติดเชื้อ เกาหลีใต้ก็ได้ใช้ข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือ กล้องวงจรปิดและการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตมาเป็นเครื่องมือในการติดตามตัวผู้ต้องสงสัยอาจติดเชื้อและสามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้

ขณะที่การตรวจเชื้อ เกาหลีใต้มุ่งมั่นตรวจหาเชื้อกลุ่มที่อยู่ในวงจรความเสี่ยงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ที่แสดงอาการของโรคแล้ว กลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดหรือติดต่อสัมผัสกับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว รวมถึงวงจรกลุ่มผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ที่ไม่แสดงอาการของโรค

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Worldometer ระบุว่า เบื้องหลังความสำเร็จของเกาหลีใต้ในขณะนี้คือการมีโครงการตรวจเชื้อที่แผ่ขยายครอบคลุมและมีการจัดการที่ดี ที่ดำเนินไปพร้อมกับการแยกกักโรคผู้ติดเชื้อ และการติดตามพร้อมกับการสั่งกักตนเองในกลุ่มผู้ที่ติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อแล้ว

โดยขณะนี้เกาหลีใต้ได้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสในชาวเกาหลีใต้ไปแล้วมากกว่า 270,000 ราย หรือเทียบเคียงเป็นสัดส่วนการตรวจหาเชื้อมากกว่า 5,200 ครั้งต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศใดๆ ยกเว้นบาห์เรนที่เป็นประเทศเล็กๆ

ส่วนการรักษาก็เป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการหาทางรักษากลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อไป

 

อีกเคล็ดลับความสำเร็จในแผนยุทธศาสตร์รับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ของเกาหลีใต้คือ การดำเนินการเชิงรุกและลงมือทำอย่างเร่งด่วนตั้งแต่เนิ่นๆ ในความพยายามที่จะตัดไฟให้ได้ตั้งแต่ต้นลม ซึ่งจะสามารถควบคุมการลุกลามระบาดไปมากกว่าที่จะเป็นได้

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อเร็วๆ นี้ของคัง คยอง ฮวา รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ บอกว่าบทเรียนสำคัญจากเกาหลีใต้ก็คือ เกาหลีใต้พัฒนาชุดตรวจเชื้อไวรัสมาก่อนที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว

โดยราวกลางเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยในการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ ก่อนจะแบ่งปันข้อมูลผลวิจัยนี้ให้กับบริษัทผู้ผลิตยาและเครื่องเวชภัณฑ์เพื่อทำการผลิตสารเคมีและชุดตรวจเชื้อที่จำเป็นเพื่อนำมาใช้การตรวจหาเชื้อ ที่มีความต้องการอย่างมากในเวลาต่อมา

รัฐมนตรีหญิงของเกาหลีใต้ยังเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า “การตรวจเชื้อ” เป็นหัวใจสำคัญในการตอบสนองต่อสถานการณ์ระบาด เพราะนั่นนำไปสู่การสืบสวนโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งยังช่วยสกัดการลุกลามระบาดไปมากกว่านี้ และยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์แยกกักและรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที

โมเดลนี้อาจเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์การต่อสู้กับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับเกาหลีใต้ ที่มีประสบการณ์รับมือกับโรคระบาดเลวร้ายอย่างโรคเมอร์สในปี 2015 มาแล้ว แต่โมเดลนี้จะเหมาะสมลงตัวกับชาติอื่นอย่างเยอรมนีที่มีประเด็นอ่อนไหวในข้อกฎหมายเรื่องสิทธิส่วนบุคคลด้วยหรือไม่ ก็ต้องลองดู

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0