โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต่างประเทศ : รอยร้าวในชิลี จากการ "ขึ้นค่ารถไฟ" สู่การล้มประชุม "เอเปค"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 04.01 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 04.01 น.
ต่างประเทศ 2047-2

ดูเหมือนการชุมนุมประท้วงตอนนี้จะเกิดขึ้นในหลายมุมของโลก

นอกเหนือไปจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

หากแต่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ในอเมริกาใต้ อย่างประเทศชิลีก็มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นอยู่เช่นกัน

และการชุมนุมดูจะลุกลามไปใหญ่โต จนถึงขั้นทำให้รัฐบาลชิลีต้องประกาศยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค และการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 หรือค็อป 25

ชิลี ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดีที่สุดในอเมริกาใต้ ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงเฉลี่ยถึง 16,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ปี 2018 ที่ผ่านมาโตเฉลี่ยถึง 3 เปอร์เซ็นต์

ส่วนดัชนีคอร์รัปชั่นก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในอเมริกาใต้

สวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา หรือระบบบำนาญ ก็มีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง

 

ชิลียังเป็นเพียงประเทศเดียวในอเมริกาใต้ที่จัดอยู่ในสถานะประเทศพัฒนาแล้วขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือโออีซีดีอีกด้วย

ดูเหมือนจะเป็นประเทศที่ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสวัสดิการ

หากแต่ขณะเดียวกัน ชิลีเองก็เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

จากรายงานของโออีซีดีระบุว่า ช่องว่างทางรายได้ต่อประชากรในชิลีนั้นสูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์

และชาวชิลีจำนวนมากก็รู้สึกได้ว่าค่าครองชีพกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สูงขึ้น แต่เงินบำนาญต่ำ

และชนวนที่ทำให้เกิดการประท้วงล่าสุดที่ชิลี ก็มาจากการที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่ารถไฟฟ้าใต้ดิน จาก 800 เปโซชิลี หรือราวๆ 34 บาท เป็น 830 เปโซชิลี หรือราวๆ 35 บาท

โดยรัฐบาลอ้างจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นและค่าเงินเปโซที่อ่อนค่าลง และมาตรการรัดเข็มขัดอื่นๆ ของรัฐบาล ที่ทำให้เกิดการประท้วงลุกลามไปใหญ่โต มีการทำลายข้าวของ ปล้นสะดม และการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ความรุนแรงดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นในกรุงซานติอาโก ที่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่

โดยผู้ประท้วงต่างไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องค่าครองชีพที่สูง เงินเดือนและเงินบำนาญที่น้อย ระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่ย่ำแย่ และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่สูงจนเกินไป

ที่สุดแล้วข้อเรียกร้องคือให้นายปิเนรา ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี!!

 

สถานการณ์การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ เริ่มขยายออกไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศและทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 20 ราย นับตั้งแต่การประท้วงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม

ทำให้นายเซบาสเตียน ปิเนรา ประธานาธิบดีชิลี ต้องประกาศยกเลิกการจัดประชุมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในชิลี 2 งาน คือ เอเปค ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ และการประชุมค็อป 25 ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม

โดยนายปิเนราบอกว่า ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยกเลิกการประชุมสุดยอด ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แม้ว่าการยกเลิกดังกล่าวจะเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่ก็ทำไปตามสัญชาตญาณ

นอกเหนือไปจากความเสียใจของเจ้าภาพที่ต้องยกเลิกการประชุมใหญ่ไปแล้ว ดูเหมือนยังมีอีกคนที่น่าจะผิดหวังกับการยกเลิกประชุมเอเปคก็คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่มีแผนจะพบกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน ระหว่างการร่วมประชุมเอเปคครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าหาทางยุติสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทางทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าทรัมป์เองสนับสนุนการตัดสินใจของนายปิเนรา ที่ยกเลิกการประชุมสุดยอดเอเปค

และว่า สหรัฐจะยืนเคียงข้างชิลีซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญ เพื่อการฟื้นฟูสันติภาพของประเทศขึ้นมาอีกครั้ง

 

ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศของชิลีก็ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ โดยกลุ่มผู้ประท้วงก็ยังคงออกมาชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับสวัสดิการของประชาชนให้ดีขึ้น

และมีการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เขียนขึ้นในช่วงที่เผด็จการทหารอย่าง “นายพลออกุสโต ปิโนเชต์” ปกครองประเทศ

จนถึงตอนนี้ ทางผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงซานติอาโก แจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุประท้วงไปแล้ว 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่สมาคมผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรายแจ้งว่า สมาชิกของสมาคมได้รับความเสียหายจากการถูกปล้นและสูญเสียรายได้จากการขายไปแล้วถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นอีกหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ความวุ่นวายตอนนี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในเดือนตุลาคม จะหดตัวลงไป 0.5 เปอร์เซ็นต์

และแม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจากับแกนนำผู้ประท้วง รวมไปถึงการปรับคณะรัฐมนตรีและออกมาตรการอื่นๆ มาอีก ในความพยายามที่จะต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0