โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต่างประเทศ ซาอุดีอาระเบียกับ "สปอร์ตดิโพลมาซี"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 04.06 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 03.53 น.
AUTO-MOTO-RALLY-DAKAR-STAGE10

ซาอุดีอาระเบียมีภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลกที่ไม่สู้ดีนัก

และมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้นำประเทศซาอุดีอาระเบียที่แท้จริงในเวลานี้พยายามอย่างหนักที่จะลบภาพลักษณ์ ในฐานะประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนออกไปให้มากที่สุด และพยายามผลักดันประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ด้วยการลงทุนอย่างมหาศาลกับวงการกีฬาหรือกลยุทธ์ “สปอร์ตดิโพลมาซี” ในแบบที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์เคยทำมาก่อน

“สปอร์ตดิโพลมาซี” เป็นส่วนหนึ่งของ “วิชั่น 2030” ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่ต้องการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

แทนที่จะพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว

 

การจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นเจ้าภาพจัดมวยรุ่นยักษ์ระหว่าง “แอนโทนี่ โจชัว” และ “แอนดี้ รุยซ์”

การเป็นเจ้าภาพกีฬามอเตอร์สปอร์ตอย่าง “ฟอร์มูล่า อี”

รวมไปถึงการจัดการแข่งขันเทนนิสหลายรายการในปี 2019 ที่ผ่านมา

ในปีเดียวกัน ซาอุฯ จัดมวยปล้ำหญิง “ดับเบิลยูดับเบิลยูอี” เป็นครั้งแรก แม้การแข่งขันจะถูกลดความฉูดฉาดลงด้วยการแต่งกายของนักมวยปล้ำที่สุภาพเรียบร้อย

แต่การจัดมหกรรมกีฬาของผู้หญิงที่ดูจะขัดกับวัฒนธรรมของประเทศก็นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการลบภาพลักษณ์อันเข้มงวดเดิมๆ ของประเทศออกไป

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลงทุนมหาศาลเพื่อดึงเอานัดชิงชนะเลิศ “อิตาเลียนซูเปอร์คัพ” ดึงเอานักเตะสตาร์ดังของโลกอย่างคริสเตียโน่ โรนัลโด้ และเพื่อนร่วมทีมยูเวนตุส มาลงสนามในกรุงริยาด เมืองหลวงของประเทศได้

ขณะที่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ “ลีโอเนล เมสซี่” ยอดนักฟุตบอลระดับโลกอีกรายจะมาโชว์ฝีเท้ากับบาร์เซโลน่า ใน “สแปนิชซูเปอร์คัพ” ในซาอุฯ เช่นกัน หลังจาก 2 เดือนก่อนหน้านั้น เมสซี่เคยมาวาดลวดลายในเกมกระชับมิตรระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินาและบราซิลมาแล้ว

 

ขณะที่มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กำลังจัดขึ้นในเวลานี้ก็คือ “ดาการ์แรลลี่” การแข่งขันแรลลี่สุดโหดที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม และจะมีไปจนถึงวันที่ 17 มกราคมนี้ โดยดาการ์แรลลี่ จากที่เคยจัดมายาวนานนับ 10 ปีในทวีปอเมริกาใต้ จะจัดในคาบสมุทรอาระเบียต่อไปอีกอย่างน้อยๆ 5 ปีเลยทีเดียว

เป้าหมายการลงทุนด้านกีฬาของซาอุดีอาระเบีย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ด้วยการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศ กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศมหาอำนาจแห่งองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือโอเปคแห่งนี้ต้องการสร้างเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศซึ่งมีประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปีอยู่ถึง 2 ใน 3 ก็มีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ย่างก้าวดังกล่าวอยู่เช่นกัน โดยมองว่าเป็นเพียงการปกปิดความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมไปถึงปัญหาการว่างงานของกลุ่มคนอายุน้อยที่เพิ่มสูงขึ้น

สปอร์ตดิโพลมาซี จึงถูกมองว่าเป็นเพียงการใช้กีฬาลบล้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตานานาชาติ หรือเป็นเพียง “สปอร์ตวอชชิ่ง” เท่านั้น

 

แน่นอนว่านอกเหนือจากกรณีสังหารจามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์ชาวซาอุดีอาระเบียอย่างอุกอาจที่สถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกีแล้ว ยังมีกรณีการนำกำลังทหารบุกเข้าแทรกแซงในเยเมน การกวาดล้างผู้เห็นต่างกับอำนาจรัฐ

ล่าสุดในปี 2019 ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษไป 187 ราย นับเป็นการประหารชีวิตจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995

ก่อนหน้านี้นักกีฬาระดับโลกอย่างไทเกอร์ วู้ดส์ รวมถึงรอรี่ แม็กอิลรอย นักกอล์ฟชื่อดัง เคยปฏิเสธคำเชิญไปร่วมแข่งขันกอล์ฟในซาอุดีอาระเบียมาก่อน โดยยกเอาเรื่อง “ศีลธรรม” มาเป็นเหตุผล แม้จะได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงินมหาศาลก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแคโรล โกเมซ ระบุว่านโยบาย “สปอร์ตดิโพลมาซี” เป็นนโยบายเชิงรุกในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับซาอุดีอาระเบีย ส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแข่งขัน “ดาการ์แรลลี่” นั้นมุ่งเป้าที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก

หลังจากเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน รัฐบาลซาอุฯ เริ่มเปิดให้ทำวีซ่าท่องเที่ยวได้แล้วเป็นครั้งแรก

 

การแข่งขัน “ดาการ์แรลลี่” จะถูกถ่ายทอดสดไป 190 ประเทศทั่วโลก ขณะที่เส้นทางการแข่งขันจะผ่านเมืองนีออม (NEOM) เมืองแห่งอนาคตที่รัฐบาลซาอุฯ กำลังก่อสร้างด้วยงบประมาณถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมืองอัลอุลา (Al-Ula) เมืองโบราณมรดกโลกของยูเนสโก เรื่อยไปจนถึงเนินทรายในทะเลทราย “เอ็มตี้ ควอเตอร์” ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เควนติน เดอ ปิโมดัน ผู้เชี่ยวชาญด้านซาอุดีอาระเบียแห่งสถาบันวิจัยยุโรปและอเมริกันศึกษาระบุว่า “ดาการ์แรลลี่” จะให้ประโยชน์กับซาอุดีอาระเบียในแบบเดียวกันกับที่ “ตูร์เดอฟรองซ์” สร้างประโยชน์ให้กับฝรั่งเศส ในฐานะช่องทางประชาสัมพันธ์แห่งท่องเที่ยวสู่สายตานานาชาติ

ขณะที่เจ้าของสิทธิในการจัดการแข่งขัน “ดาการ์แรลลี่” ชื่นชมซาอุดีอาระเบียที่แสดงให้เห็นความต้องการเปิดรับ ในช่วงเวลาที่กำลังปฏิรูปสังคมในประเทศ

แต่ในอีกแง่ ซาอุฯ ก็คงเลี่ยงที่จะเผชิญกับเสียงวิจารณ์ไม่ได้เช่นกัน

“ซาอุดีอาระเบียพยายามที่จะใช้กีฬาล้างชื่อเสียงไม่ดีในการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้อีเวนต์ขนาดใหญ่ยักษ์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมเอาไว้อย่างเข้มข้น” ฮิวแมนไรท์สวอทช์ระบุ

“แฟนๆ กีฬาและผู้ชมจำเป็นต้องมองให้ทะลุเสน่ห์ดึงดูดของมหกรรมกีฬาเหล่านี้ให้ได้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0