โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต่างประเทศ : ความผิดพลาดของ "อิตาลี" สู่หายนะ "โควิด-19" ที่ต้องเรียนรู้

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 00.05 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 00.05 น.
COVID-19 intensive care unit at the San Raffaele hospital in Milan
SENSITIVE MATERIAL. THIS IMAGE MAY OFFEND OR DISTURB Members of the medical staff in protective suits treat patients suffering from coronavirus disease (COVID-19) in an intensive care unit at the San Raffaele hospital in Milan, Italy, March 27, 2020. REUTERS/Flavio Lo Scalzo

เวลานี้อิตาลีกลายเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วิกฤตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผู้ติดเชื้อพุ่งไปแล้วถึงมากกว่า 63,000 ราย

แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะไม่มากเท่ากับจีน แต่ที่น่าตกใจคือยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งทะลุไปเกิน 6,000 ราย มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตในจีนที่มีราว 3,300 รายไปถึง 2 เท่า

นั่นยิ่งน่าประหลาดใจ เมื่อประชากรอิตาลีคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจีนทั้งประเทศ

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับอิตาลีในเวลานี้?

อิตาลีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ นั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผล แต่ประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งพบผู้ติดเชื้อตามหลังอิตาลีเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทำไมมีสถานการณ์ที่ไม่ใกล้เคียงกับอิตาลีแม้แต่น้อย

เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์คือ อิตาลีเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” อายุเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 45 ปี

นั่นส่งผลให้ไวรัสโควิด-19 ที่อันตรายกับผู้สูงอายุอยู่แล้วคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก อายุเฉลี่ยผู้เสียชีวิตในอิตาลีจึงอยู่ที่ราว 80 ปี

อีกเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ “วัฒนธรรม” ในประเทศซึ่งประชากรหลากหลายช่วงอายุมักจะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งผลให้เชื้อแพร่ระบาดไปสู่ผู้สูงอายุอย่างง่ายดาย

ต่างจากชาติสังคมผู้สูงอายุอย่างญี่ปุ่น ที่มักจะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดได้

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เช่น แคว้นลอมบาร์ดี แคว้นตอนเหนือของอิตาลี จุดที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ เป็นตัวจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของอิตาลี และมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับหลายประเทศโดยเฉพาะ “จีน” ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโลก

รวมไปถึงเหตุผลอย่างการรับมือผู้ติดเชื้อเคสแรกๆ ในโรงพยาบาลที่ผิดพลาด รวมไปถึงปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศทำให้ประชากรเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากไวรัสได้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่นั่นก็จำเป็นต้องได้ใช้การพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่านี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะมีน้ำหนักมากที่สุดก็คือปัญหาการบริหารงานของภาครัฐในการรับมือกับเชื้อไวรัสที่มองไม่เห็น ที่หลายๆ ประเทศควรมองเป็นบทเรียน

รัฐบาลอิตาลีและผู้นำทางการเมืองมองปัญหาการแพร่ระบาดด้วยความชะล่าใจ

นายกรัฐมนตรีจุสเซ็ปเป้ คอนเต้ แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า อิตาลีเตรียมพร้อมอย่างดีที่จะรับมือกับการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการที่เข้มข้นที่สุดในภูมิภาคยุโรป

หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ในลอมบาร์ดี นักการเมืองบางรายรีบออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า ประชาชนควรใช้ชีวิตปกติต่อไป

“เมืองมิลาน” เมืองเอกของแคว้นลอมบาร์ดี เมืองหลวงทางการเงินของอิตาลี ถึงกับมี “คลิปวิดีโอ” ที่นักการเมืองเผยแพร่ออกมาพร้อมสโลแกน “มิลานจะไม่หยุด”

แม้อิตาลีจะมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามมาอย่างรวดเร็ว อย่างมีการปิดเมือง 11 เมืองในแคว้นลอมบาร์ดี และอีก 1 เมืองในแคว้นติดกันอย่างเวเนโต้ ครอบคลุมประชากร 50,000 คน มีการประกาศปิดโรงเรียน ห้ามการรวมตัวกันในที่สาธารณะ

ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม อิตาลีประกาศปิดประเทศ ประกาศปิดร้านอาหาร ร้านค้า ขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกจากบ้าน เว้นแต่ไปทำงานหรือด้วยเหตุผลจำเป็น และเวลานี้ก็ออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปอีกด้วยการปิดภาคธุรกิจที่ไม่จำเป็นลง ส่งผลให้หลายโรงงานต้องปิดดำเนินการไปจนถึงวันที่ 3 เมษายนนี้

อิตาลีเป็นประเทศโลกตะวันตกชาติแรกที่ดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และนั่นดูเหมือนเริ่มได้ผล เมื่อในเวลานี้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวอาจต้องใช้เวลายืนยันอีกสักระยะ

อย่างไรก็ตาม ด้วยยอดผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตที่พุ่งสูงก่อนหน้านี้ส่งผลให้รัฐบาลอิตาลีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดำเนินมาตรการที่ “ไม่ชัดเจนเพียงพอ”

รัฐบาลอิตาลีถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวที่จะปิดจังหวัดเบอร์กาโม จังหวัดในแคว้นลอมบาร์ดี ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในอิตาลีในเวลานี้

ก่อนหน้านี้แผนการปิดหลายเมืองตอนเหนือของอิตาลีเล็ดลอดออกไปถึงมือสื่อก่อนที่จะมีการลงนามอนุมัติ นั่นส่งผลให้มีประชาชนนับหมื่นคนอพยพลงใต้

กลายเป็นการแพร่เชื้อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคอนเต้ประกาศมาตรการปิดโรงงานผลิตสินค้าที่ไม่จำเป็น และรัฐบาลอิตาลีใช้เวลาตลอดทั้งวันถัดมาอธิบายว่าโรงงานใดที่จะเข้าข่ายโรงงานที่ผลิตสินค้าไม่จำเป็นกันแน่

เวลานี้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอิตาลีจำนวนมากถึง 4,000 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าแพทย์และพยาบาลสัมผัสผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และอาจกลายเป็นผู้แพร่เชื้อต่อเสียเอง

เวลานี้แม้รัฐบาลอิตาลีดำเนินการตรวจเชื้อให้กับผู้มีความเสี่ยงไปแล้วมากกว่า 230,000 ราย แต่รัฐก็ล้มเหลวที่จะดำเนินยุทธวิธีการทดสอบ การติดตามตัว และการกักกันโรคได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ แบบเดียวกันกับที่เกาหลีใต้และสิงคโปร์ทำได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ความล้มเหลวของอิตาลี ดูเหมือนกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ ทั้งการประกาศปิดเมืองที่มีการแพร่ระบาดช้าเกินไป การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ เช่นเดียวกันกับการมีมาตรการตรวจเชื้อ ติดตามตัว และการกักกันโรคที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารจากภาครัฐที่ไม่ชัดเจน สร้างความสับสนให้กับประชาชน

เวลานี้ได้แต่หวังว่าผู้มีอำนาจในหลายๆ ประเทศจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากความล้มเหลวของอิตาลีไม่มากก็น้อย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0