โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต่างประเทศอินโดจีน : โรฮิงญากับโควิด-19

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 03.54 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 03.54 น.
BANGLADESH-ROHINGYA-HEALTH-VIRUS
Rohingya refugees, without wearing any mask or any other safty gear as a preventive measure against the COVID-19 novel coronavirus, gather along a market area in Kutupalong refugee camp in Ukhia March 24, 2020. (Photo by SUZAUDDIN RUBEL / AFP)

ตั้งแต่ปี 2017 มีชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากเมียนมาข้ามแดนเข้าไปยังบังกลาเทศเป็นเรือนแสน

ประเมินกันว่า ในเวลานี้มีโรฮิงญาในบังกลาเทศอยู่ราว 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 630,000 คนปักหลักเป็นคนอพยพหนีภัยอยู่ใน “ค่ายผู้ลี้ภัยคูตูปาลอง” ในเมืองชื่อ “ค็อกซ์บาซาร์” ที่มีพรมแดนติดต่อเมียนมากับของบังกลาเทศ

ปัญหาดั้งเดิมที่เรื้อรังมานานปีกำลังเสี่ยงจะกลายเป็นปมโศกนาฏกรรมขึ้นมาในปี 2020 เพราะโควิด-19

ภายในค่ายคูตูปาลอง มีทุกอย่างที่เอื้อต่อการเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสร้ายแรงตัวนี้

 

โมฮัมหมัด อารฟัต โรฮิงญาในค่ายอธิบายไว้ว่า ที่นี่ ต่อให้บังคับอย่างไรก็ทำ “โซเชียลดิสแทนซิ่ง” ไม่ได้

คนเกินครึ่งล้าน ยัดทะนานกันอยู่ในพื้นที่แคบจำกัด ก็ต้องอยู่ในสภาพที่ต้อง “อยู่ร่วม” กับคนอื่นอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งในยามตื่นแลยามหลับ

ที่พักทรุดโทรมแต่ละหลังใกล้ชิดติดกันแทบหลังคาเกยกัน

“ส้วมแต่ละหลัง ห้องน้ำแต่ละห้อง มีคนใช้งานร่วมกันที่ละหลายสิบ”

ในค่าย “ห้ามใช้” สมาร์ตโฟนและอินเตอร์เน็ต นั่นหมายถึงการกระจายข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว อาทิ คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ไปให้ถ้วนทั่วทั้งค่ายเป็นไปไม่ได้

และทุกคนก็ไม่สามารถติดต่อกับนายแพทย์หรือใครๆ เพื่อขอคำแนะนำถ้าหากเริ่มมีอาการได้เช่นกัน

หน้ากากอนามัยไม่มี เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก็ไม่เห็น คำแนะนำที่ทุกคนได้รับคือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่เท่านั้น

สภาพที่คล้ายกับเป็นโลกอีกโลกหนึ่งซึ่งเป็นหน้ามือหลังมือจากโลกภายนอกเช่นนี้ อาจไม่เสี่ยงโควิด-19 มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในบังกลาเทศ ถ้าหากไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่า มีหนึ่งในชาวบังกลาเทศที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 เป็นชาวบ้านที่ค็อกซ์บาซาร์

อยู่ห่างจากค่ายโรฮิงญาคูตูปาลองเพียงไม่ถึง 40 กิโลเมตรเท่านั้น

ขอเพียงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เดินเข้าไปในค่ายสักคน โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

 

ทางรอดของโรฮิงญาทั้งค่าย ขึ้นอยู่กับการได้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย, การรักษาสุขอนามัย และเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งไม่มีอยู่ในมือแม้แต่อย่างเดียว

ค่ายลี้ภัยโรฮิงญาไม่ได้เป็นค่ายผู้ลี้ภัยเดียวที่ตกอยู่ในสภาพนี้ ในซีเรียก็ใช่ ผู้อพยพในฝรั่งเศสและกรีซก็ใช่

ในยามที่รัฐบาลแต่ละประเทศเต็มมืออยู่กับการระบาดในหมู่คนของตนเอง

ผู้ลี้ภัยก็เหมือนภาระที่ตกอยู่กับกลุ่มองค์กรเพื่อมนุษยธรรมทั้งหลาย ซึ่งพยายามกระจายข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ในเวลานี้

แต่ก็ยอมรับกันว่า หากไวรัสโควิด-19 มาถึง หนทางที่จะยับยั้งการระบาดในค่ายก็ “เป็นไปไม่ได้”

โมจิบ อุลเลาะห์ นักเคลื่อนไหวเพื่อมนุษยธรรมจากออสเตรเลียเองยอมรับว่า เมื่อได้ยินว่าบังกลาเทศมีผู้ติดเชื้อแล้ว 49 ราย เสียชีวิต 5 รายแล้ว ก็ได้แต่ทำใจว่า ค่ายคูตูปาลองก็เพียงแค่รอเวลาเท่านั้นเอง

รอใครสักคนนำพาเชื้อกลับมายังค่าย แล้วใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวโรฮิงญาภายใน

เท่านั้นก็สามารถก่อเหตุ “สังหารหมู่” ขนานใหญ่ขึ้นได้แล้ว

อเธนา เรย์เบิร์น หัวหน้าคณะทำงานของเซฟ เดอะ ชิลเดร้น ประจำค็อกซ์บาซาร์ เห็นพ้องด้วยว่า ค่ายลี้ภัยที่ใหญ่และแออัดที่สุดในโลกแห่งนี้ กำลังรอเวลาการระบาดมาถึง

“เมื่อถึงตอนนั้นอาจตายกันหลายพันคน” เธอคาดการณ์ไว้เช่นนั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0