โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต่อไปสหรัฐฯจะ‘เสียใจ’กับการกล่าวโทษเล่นงาน‘พวกนักวิทยาศาสตร์จีน’อย่างที่กำลังทำกันอยู่ในตอนนี้

Manager Online

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 15.59 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 15.59 น. • MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com

US will regret persecuting Chinese scientists

By George Koo

08/06/2019

ในสหรัฐฯมีอคติทางเชื้อชาติต่อคนเชื้อสายจีนมานานแล้ว แต่ดูเหมือนมันกำลังเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วยนโยบายของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายเหล่านี้ในเฉพาะหน้าก็คือนักวิทยาศาสตร์จีน-อเมริกัน แต่ในระยะยาวแล้ว เหยื่ออีกรายหนึ่งก็คือผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเอง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) ตั้งคำถามขอให้ คริสโตเฟอร์ เรย์ (Christopher Wray) ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) แสดงความคิดเห็นว่า พวกนักศึกษาชาวจีนในสหรัฐฯก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านการต่อต้านการจารกรรมและในการสืบหาข่าวกรองของต่างชาติ (counterintelligence) มากน้อยแค่ไหน คำตอบของเรย์โดยพื้นฐานแล้วก็คือบอกว่า จีนไม่เพียงมีความรับผิดชอบในฐานะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลอเมริกันอย่างตลอดทั่วถ้วนเท่านั้น แต่ยังอยู่ในฐานะเป็นภัยคุกคามต่อสังคมอเมริกันอย่างตลอดทั่วถ้วนอีกด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ บุคคลทุกๆ คนที่เป็นคนเชื้อจีน ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศหรือเป็นชาวอเมริกัน มีศักยภาพที่จะเป็นสปายสายลับทั้งนั้น นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เรย์ก็ป่าวประกาศทัศนะความคิดเห็นเช่นนั้นอย่างสม่ำเสมอในคำปราศรัยต่อสาธารณชนและในการให้ปากคำต่อสาธารณชนทั้งหลายของเขา

อันที่จริง สิ่งที่ เรย์ พูดก็ไม่ใช่เป็นอะไรที่ใหม่หรอก หากเป็นแต่เพียงการสะท้อนให้เห็นถึงอคติทางเชื้อชาติซึ่งแฝงฝังแน่นหนาเป็นคุณสมบัติของสถาบันแห่งนี้ โดยที่คุณสมบัติดังกล่าวได้ก่อรูปลักษณ์ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อตอนก่อตั้งสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯแล้ว ทั้งนี้ เจ. เอดการ์ ฮูเวอร์ (J Edgar Hoover) ผู้อำนวยการเอฟบีไอคนแรก และก็เป็นบุรุษซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเกลียดกลัวพวกรักร่วมเพศอย่างไม่มีเหตุผล รวมทั้งหวาดผวาจนมองเห็นไปว่ามีพวกคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งหวั่นหวาดว่าบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยทุกๆ คนคือภัยคุกคามความมั่นคง

แต่เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า การที่ เรย์ พูดจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ รูบิโอ เจ้าของรอยยิ้มเยาะยียวนคนนั้น ในระหว่างการไปให้ปากคำเพื่อขอให้รัฐสภารับรองการแต่งตั้งเขาเข้าดำรงตำแหน่งในคราวนั้น เป็นหลักหมายแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการหันมาเข้มงวดกวดขันสอดส่องเฝ้าระวังคนจีนในอเมริกา ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นอาคันตุกะผู้มาเยือนจากประเทศจีน หรือว่าเป็นผู้มีถิ่นพำนักอาศัยอย่างถาวรในสหรัฐฯก็ตามที

และผู้ที่ต้องประสบกับลูกหลงจนพลอยได้รับความเสียหายยับเยินไปตามๆ กัน ก็คือ พวกนักวิทยาศาสตร์จีน-อเมริกันคนสำคัญๆ ตลอดจนผลประโยชน์ในระยะยาวของอเมริกาเอง แน่นอนทีเดียวว่า พัฒนาการเหล่านี้จะไม่ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (make America great again – คำขวัญหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์: ผู้แปล ) หรอก

นักวิจัยทางการแพทย์ผลงานเด่นถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเอโมรี

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรายล่าสุดของอาการโรคที่ดูเหมือนกับเป็นการเกลียดกลัวชาวต่างชาติเช่นนี้ ได้แก่ทีมสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งกำลังทำงานอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอโมรี (Emory University) ในเมืองแอตแลนตา ผู้สามีคือ ศาสตราจารย์ หลี่ เสี่ยวเจียง (Professor Li Xiaojiang) ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์มาตั้งแต่ปี 2005 เขากับ หลี่ สือหวา (Li Shihua) ภรรยาที่เป็นผู้อำนวยการร่วมกันกับเขา ได้มีส่วนร่วมในการค้นคว้าวิจัยอันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับโรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) โดยใช้วิธีการวิศวกรรมพันธุศาสตร์ (genetic engineering) และนี่ก็ถือเป็นหนึ่งในคุณูปการอันโดดเด่นของสามีภรรยาคู่นี้

การที่พวกเขาถูกงดจ้างอย่างกะทันหัน ขณะที่ห้องปฏิบัติการของพวกเขาก็ถูกปิด เป็นสิ่งซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตะลึงกันไปทั่ว คำอธิบายที่ปรากฏออกมาชี้ไปยังเรื่องทำเนียบขาวบีบคั้นกดดันสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health ใช้อักษรย่อว่า NIH) ให้กำจัดกวาดล้างความเป็นไปได้ทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผลการวิจัยกับทางฝ่ายประเทศจีน

ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ฟรานซิส คอลลินส์ (Francis Collins) ผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงพวกสถาบันต่างๆ ของอเมริกันมากกว่า 10,000 แห่ง เตือนให้ระแวดระวังเกี่ยวกับการที่ “องค์การหรือบุคคลต่างประเทศกำลังก้าวก่ายแทรกแซงโครงการต่างๆ ของ NIH ทั้งในรูปการให้เงินทุนสนับสนุน, การวิจัย, และกระบวนการให้เพื่อนร่วมอาชีพทำการศึกษาทบทวนและให้ความเห็นต่องานวิจัย”

ถึงแม้ว่าห้องปฏิบัติการของ หลี่ ยังคงได้รับเงินทุนเป็นจำนวน 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจาก NIH จวบจนกระทั่งล่าสุดคือปีงบประมาณ 2018 แต่เมื่อมาถึงตอนนี้มันกลับปรากฏว่าการได้รับแต่งตั้งให้ทำงานวิชาการทั้งจากในประเทศจีนและจากเอโมรีควบคู่กันไปนั้น จู่ๆ ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ขึ้นมา และถูกจัดว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงของต่างชาติตามคำจำกัดความของคอลลินส์

สามีภรรยาคู่นี้มีการเดินทางไปเยือนและไปสอนในประเทศจีนอยู่เป็นประจำตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา และพวกเขาระบุว่าพวกเขาได้รายงานกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาในจีนต่อทางเอโมรีเรื่อยมา ภายใต้ธรรมเนียมประเพณีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการนานาชาติตามปกติธรรมดาแล้ว นี่ย่อมไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ทว่ามันกลับกลายเป็นปัญหาขึ้นมาในเวลานี้สืบเนื่องจากพวกนโยบายแบบเกลียดกลัวชาวต่างชาติซึ่งจัดวางกันขึ้นมาอย่างเป็นระบบโดยคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์

ในคำแถลงของมหาวิทยาลัยเอโมรีเองนั้น ระบุเอาไว้ว่า “เอโมรียังให้ความสำคัญอย่างจริงจังแก่พันธะผูกพันของตนที่จะต้องเป็นผู้ให้ดูแลที่ดีสำหรับเงินงบประมาณการวิจัยที่ได้จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และที่จะต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการเปิดเผยเงินทุนทั้งหมดทั้งสิ้นตลอดจนข้อกำหนดอื่นๆ อย่างครบถ้วน” นี่ดูเหมือนว่าสำหรับคณะผู้นำของมหาวิทยาลัยเอโมรีแล้ว ภัยคุกคามซึ่งหน่วยงานต่างๆ อาจจะถอนเงินทุนที่ออกมาจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯนั้น มีน้ำหนักมากยิ่งกว่าความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการและความประพฤติอันถูกต้องตามทำนองคลองธรรมในฐานะที่เป็นมนุษย์

ก่อนหน้ากรณีเอโมรีงดจ้างสามีภรรยาตระกูลหลี่นี้ ศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน มหาวิทยาลัยเทกซัส (University of Texas MD Anderson Cancer Center) ก็ได้ตอบสนองจดหมายฉบับดังกล่าวของ NIH และเริ่มลงมือปฏิบัติการเล่นงานนักวิทยาศาสตร์จีน-อเมริกัน 3 คน ซึ่งมี 2 คนเลือกที่จะลาออกไป แทนที่จะต้องอดทนกับกระบวนการทบทวนตรวจสอบ

พุทโธ่เอ้ย โครงการวิจัยทางการแพทย์เหล่านี้นะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เผ่าพันธุ์มนุษย์น่ะ

นักวิทยาศาสตร์ด้านโลกร้อนก็ตกเป็นเหยื่อ

บางทีหนึ่งในกรณีที่ตื่นเต้นเกรียวกราวที่สุดซึ่งเกิดขึ้นมาในระยะหลังๆ นี้ น่าจะได้แก่เรื่องของ หวัง ชุนไจ้ (Wang Chunzai) นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันแล้วอีกคนหนึ่ง หวัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่มีผลงานได้รับการตีพิมพ์จำนวนมากและได้รับเกียรติยศต่างๆ ในทางวิชาการเยอะแยะ อีกทั้งเป็นลูกจ้างของสำนักงานบริหารมหาสมุทรและภูมิอากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration ใช้อักษรย่อว่า NOAA) ของสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน เขาได้ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาว่ารับเงินจากจีน โดยดูเหมือนว่าเป็นการเบิกค่าใช้จ่ายมูลค่าราว 2,000 ดอลลาร์ ซึ่งเขาไม่ได้รายงานหรือหลงลืมที่จะรายงานต่อผู้รับผิดชอบของฝ่ายสหรัฐฯ

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงตอนที่คดีของเขาเข้าสู่การพิจารณาไต่สวนของศาลนั้น หวังบอกกับทนายความของเขาว่าเขาต้องการที่จะประนอมยอมความด้วยการรับสารภาพผิดข้อหาคดีอาญาอุกฉกรรจ์ข้อหาหนึ่งที่ถูกฟ้องร้อง แล้วจากนั้นชีวิตของเขาจะได้หลุดพ้นออกไปทำเรื่องอื่นๆ เสียที ปรากฏว่าที่ปรึกษากฎหมายของเขากับทางอัยการซึ่งว่าคดีนี้ ได้ตกลงกันที่จะยกเลิกข้อกล่าวหาอื่นๆ ทั้งหมดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ หวัง รับสารภาพความผิด 1 กระทง ซึ่งจะขอรับโทษเท่ากับระยะเวลาที่เขาได้รับไปแล้ว นั่นก็คือเท่ากับเวลา 1 คืนในห้องขังเมื่อตอนที่เขาถูกจับกุมตอนแรก

ท่านผู้พิพากษาที่เป็นประธานพิจารณาคดีนี้ มีความลังเลใจที่จะตัดสินว่า หวัง เป็นอาชญากรผู้กระทำความผิดทางอาญาอุกฉกรรจ์เช่นนี้ แต่ หวัง อธิบายต่อศาลว่าในทันทีที่เขาถูกจับกุม เขาก็ทราบแล้วว่าเขาถูกกุเรื่องตั้งข้อหาจนไม่มีอนาคตอีกแล้วในสหรัฐฯ และเขาก็ได้รับข้อเสนอตำแหน่งงานในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว เขาไม่สามารถเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งงานของเขาในจีนเนื่องจากต้องติดอยู่ในการพิจารณาคดีอย่างยาวนานที่อเมริกาได้

เวลานี้ หวัง เป็นสมาชิกคนหนึ่งของบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Sciences) และกำลังเป็นผู้นำกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งทำการวิจัยค้นคว้าด้านภูมิอากาศ นี่คืองานชนิดที่เขารัก และเขาจะทำงานเช่นนี้ในประเทศสักแห่งหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นี่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับเขายิ่งกว่าการถูกประทับตราในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นอาชญากรผู้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริง

ก่อนที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีนั้น การที่นักวิทยาศาสตร์จีน-อเมริกัน (รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่ได้มีเชื้อจีนเลยด้วยเช่นกัน) ไปร่วมไม้ร่วมมือกับพวกนักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนนั้น เป็นการปฏิบัติซึ่งยอมรับกันได้ รวมทั้งสอดคล้องกับธรรมเนียมประเพณีของการแลกเปลี่ยนทางวิชาการอย่างเปิดกว้าง มีศาสตราจารย์คนสำคัญๆ จำนวนมากในสหรัฐฯทีเดียวที่ได้รับตำแหน่งทำงานอยู่ในทั้งสองประเทศพร้อมๆ กันไป ยิ่งกว่านั้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ให้มาเยือนมาทำวิจัยในจีนเพิ่มมากขึ้น ปักกิ่งกระทั่งจัดทำโปรแกรม “ผู้มีความรู้ความสามารถนับพันนับหมื่น” (Thousand Talents Program) ขึ้นมาอีกด้วย

“ผู้มีความรู้ความสามารถนับพันนับหมื่น” กลายสายล่อฟ้าสำหรับการถูกสอบสวนตั้งข้อหา

ทีมงานว่าด้วยประเทศจีนของทรัมป์นั้นมีความคิดความเห็นไปว่า โปรแกรมผู้มีความรู้ความสามารถนับพันเป็นหมื่น คือวิธีการหนึ่งซึ่งจีนนำมาใช้เพื่อให้สามารถเจาะเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯและความรู้ของสหรัฐฯ ด้วยเหตุดังนั้น ใครก็ตามที่ทราบกันว่าเป็นผู้เข้าร่วมอยู่ในโปรมแกรมนี้ก็ตกเป็นเป้าหมายที่จะต้องสืบสวนสอบสวนและจากนั้นก็นำตัวมากล่าวโทษฟ้องร้อง ความย้อนแย้งอยู่ตรงที่ว่า การรวบรวมข้อมูลและสืบสาวเฝ้าระวังพวกซึ่งอยู่ในโปรแกรมผู้มีความรู้ความสามารถเหล่านี้เอง ในทางเป็นจริงแล้วกลับกำลังช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่ฝ่ายจีน ในการระดมหาคนเก่งคนมีความสามารถไปร่วมงานด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อสามีภรรยาสกุลหลี่ถูกมหาวิทยาลัยเอโมรีปลดออกจากงานแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้ของจีนซึ่งทั้งคู่เคยไปเยือนไปช่วยงานเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ได้ยื่นข้อเสนอขยับขยายการจ้างงานในทันทีเพื่อให้สามีภรรยาคู่นี้ยังคงสามารถทำงานของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอดังกล่าวนี้มาพร้อมกับห้องปฏิบัติการที่ติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ครบถ้วน และกระทั่งการว่าจ้างสมาชิกทุกๆ คนในทีมวิจัยของทั้งคู่ที่ถูกทางเอโมรีเขี่ยออกมา

ประวัติศาสตร์จึงดูเหมือนว่ากำลังเดินซ้ำรอยตัวเอง เมื่อทศวรรษ 1950 ในช่วงเวลาที่ลัทธิแมคคาร์ธี (McCarthyism) หว่านเพาะปลุกความรู้สึกเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ในสังคมอเมริกันจนกระทั่งเกิดความระแวงถึงขั้นเพ้อคลั่งไปทั่วนั้น รัฐบาลสหรัฐฯได้ติดตามไล่ล่านักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดผู้เก่งกาจปราดเปรื่องอย่าง เฉียน เสียเซิน (Qian Xuesen) ชาวจีน-อเมริกันที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการ Jet Propulsion Lab ตัว เฉียน เองนั้นวางแผนการชีวิตที่จะพำนักอาศัยอยู่ในอเมริกาเรื่อยไป ทว่าเมื่อเผชิญการถูกรัฐบาลสหรัฐฯกล่าวโทษและถูกกักกันตัวเป็นแรมปี โดยพื้นฐานแล้วมันก็เหมือนเป็นการนำเอาเขามาห่อเป็นของขวัญและส่งตัวไปให้ปักกิ่ง ซึ่งที่นั่นเขาก็ได้กลายเป็นผู้นำในการพัฒนาขีปนาวุธและจรวดของประเทศจีน

ถ้าหากตอนนี้สหรัฐฯเล็งเห็นว่าประเทศจีนกำลังเป็นภัยคุกคามทางการทหารประการหนึ่งของตนไปแล้ว คนหนึ่งที่ไม่ควรลืมขอบพระคุณ ก็คือ วุฒิสมาชิกโจเซฟ แมคคาร์ธี ผู้ล่วงลับ นั่นแหละ

จากการมองเห็นกันอยู่ว่าสหรัฐฯกำลังผลักดันคนเยี่ยมยอดที่สุดและคนเก่งที่สุดให้ออกไปจากประเทศไปอย่างต่อเนื่อง คนเยี่ยมยอดที่สุดและคนเก่งที่สุดรุ่นต่อๆ ไปจากประเทศจีน จึงกำลังหมดความสนใจที่จะเดินทางมาศึกษาในสหรัฐฯ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0