โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ต่อลมหายใจให้ SMEs ธปท. ออก 4 มาตรการ ช่วยเอกชนสู้โควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 09.07 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 09.07 น.

​         เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยภาคเอกชนสู้โควิด-19  ซึ่งโดยหลักเป็นการบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับผู้ประกอบการ SMEs นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้เอกชนเพิ่มเติม เพื่อให้ช่องทางการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของบริษัทที่มีคุณภาพยังทำงานได้ต่อเนื่อง และลดการนำส่งค่าธรรมเนียม FIDF ที่เก็บจากสถาบันการเงินจาก เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้ทันที
         ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการดังกล่าวถือว่ามีกรอบมูลค่าขนาดใหญ่เข้าใกล้ระดับ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ความรวดเร็วของการผลักดันมาตรการต่างๆ ในทางปฏิบัตินั้น อาจแปรผันตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ รวมถึงบรรยากาศเศรษฐกิจในภาพรวม โดยความคืบหน้าของการเบิกใช้และการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมให้ SMEs ในทางปฏิบัติ ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายเงื่อนไขด้วยเช่นกัน ทั้งความพร้อมของลูกหนี้ และความสามารถในการรับส่วนสูญเสียจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่แตกต่างกัน  ในส่วนกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน  (BSF) นั้น แม้ว่ากองทุน BSF ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาการระดมทุนเพื่อ Rollover หุ้นกู้ที่ครบ กำหนดไถ่ถอนของบริษัทที่มีคุณภาพ แต่ความสำเร็จในการ Rollover หุ้นกู้ดังกล่าว ยังขึ้นกับความสามารถของเอกชนในการระดมทุนด้วยตนเองให้ถึงจำนวนกึ่งหนึ่ง ของจำนวนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนตามเกณฑ์ของกองทุน BSF ตั้งเงื่อนไขไว้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับสถาบันการเงิน การช่วยลดภาระเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ  คงมีผลในการช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนของสถาบันการเงินลงในภาวะที่รายรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้หายไปจากการทำโครงการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนในช่วงเวลานี้
               โดยภาพรวมแล้ว มาตรการที่ ธปท. ออกมาสะท้อนถึงความพยายามและความตั้งใจของทางการที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยมุ่งเน้นการช่วยเสริมสภาพคล่องของระบบการเงินไทย ควบคู่ไปกับการพลิกฟื้น ความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน เพื่อให้กลไกการทำงานของระบบการเงินยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามปกติ ในกรณีที่การควบคุมการระบาดของไวรัสฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็ย่อมจะทำให้มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการของทางการไทยในรอบนี้ มีความคืบหน้าและมีการใช้เม็ดเงินโครงการที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น สุดท้ายแล้วก็คงจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลในการฟื้นกลไกทางการเงินให้กลับสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วสมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0