โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ตู่ จตุพร" หวั่นเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ประชาชนจะอดตาย

สยามรัฐ

อัพเดต 06 เม.ย. 2563 เวลา 00.11 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. 2563 เวลา 00.11 น. • สยามรัฐออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโรคโควิด-19 สร้างความวิตกกังวลและทำร้ายเศรษฐกิจรวมถึงอาชีพหลายๆอาชีพอย่างย่อยยับ โดยหัวข้อที่จะสนทนาวันนี้คือ "อย่าผิดพลาดกันอีกเลย เพราะหนักเกินไปแล้ว" เป็นประเด็นที่ตนต้องการสื่อไปถึงผู้มีอำนาจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การนำเสนอวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเป็นการทำลายล้าง ซึ่งตนได้เห็นบรรยากาศที่ผู้นำฝ่ายค้านได้สื่ิอความไปยังรัฐบาลเพื่อยุติศึกทางการเมืองไว้ก่อน และให้ความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ตนอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนตัวได้ติดตามบรรยากาศในต่างประเทศหลังจากการเลือกตั้งประเทศมีวิกฤติ ระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะมายืนเคียงข้างกันเอาประเทศและประชาชนให้รอด แต่บรรยากาศของประเทศไทยเรา ไม่ค่อยได้เจอบรรยากาศแบบนี้

หัวข้อที่ว่า "อย่าผิดพลาดกันอีก เพราะมันหนักเกินไปแล้ว" ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า วันนี้ประชาชนอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก มีคนอยู่สุขเป็นจำนวนน้อยมาก คนโดยส่วนใหญ่มีความทุกข์แทบทั้งสิ้น ดังนั้นท่ามกลางแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ส่งเสียงร้องถึงความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งชุดกันเชื้อและหน้ากากอนามัย ซึ่งการตั้งงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข หรือด้านสาธารณสุข นั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการตั้งงบประมาณอย่างอนาถา

แต่งบประมาณด้านกลาโหมต้องวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้หยิบยกขึ้นมาอย่างไม่รู้จักกาลเทศะ กรณีเสนอซื้อเรือยกพลขึ้นบก วงเงิน 6 พันล้านบาท แม้ว่าจะถอนว่าวาระออกไปก็ตาม จะต้องซึมซับว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ประชาชนไม่ทน และเกิดเป็นเเรงเหวี่ยงแม้จะอยู่บ้าน แต่พลังของโซเชียลมีเดียนั้นมีพลานุภาพยิ่งใหญ่ โดยเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ทำอะไรให้คิดถึงหัวใจของประชาชนบ้าง แม้จะมีการบริจาค ซึ่งเป็นการส่งเสริมทางจิตใจของประชาชน เป็นเรื่องของสังคมที่อยู่ด้วยกับความดี เพียงแต่การตั้งงบพื้นฐานนั้น หากประเทศมีเงินซื้ออาวุธ แต่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในยามที่ต้องทำสงครามกับเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นถือว่าเป็นการบริหารงบประมาณอย่างล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ต่อมาสิ่งที่ผิดพลาดซ้ำกรณีที่นักเรียนไทย หรือคนไทยที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เราห้ามต่างชาติเข้าประเทศไทย แต่เราห้ามคนไทยกลับประเทศไม่ได้ แต่การเข้าประเทศตั้งแต่ต้นทางซึ่งจะต้องมีใบตรวจทุกอย่าง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถตรวจได้ 100% ดังนั้นมาตรการรองรับหลังจากลงเครื่องที่สุวรรณภูมิ สรุปความได้ว่าไม่มีมาตรการรองรับ ดังนั้นจึงปล่อยให้กลับบ้านเพราะบรรดานักเรียนหรือคนที่กลับจากสหรัฐอเมริกา จะไม่สามารถกลับบ้านได้ หากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ซึ่งก็ปรากฏภาพและเสียงชัดเจนว่าเป็นการอนุญาต ดังนั้นเมื่อเป็นการอนุญาตที่ผิด ทำให้สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีคนไทยที่กลับจากสหรัฐอเมริกาหนีการกักตัวนั้น เมื่อตนฟังความรอบด้านแล้วเห็นว่า หากไม่มีใครอนุญาตให้ออกจากสุวรรณภูมิก็ไม่มีใครออกได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่จำนวนมาก เหล่านี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง เพราะมาตรการการกักตัว 14 วัน ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่กรณีผีน้อยจนถึงกรณีนี้ สะท้อนประสิทธิภาพอย่างชัดเจนของผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะมีเหตุผลใดๆก็ตาม

นายจตุพร กล่าวต่ออีกว่า อย่างที่ตนเคยบอกว่าอย่าทำให้คนไทยเสียใจ เพราะหลายเรื่องทำให้กระทบกระเทือนใจ เวลานี้หากยังไม่เข้าใจเรื่องไวรัสโควิด-19 แม้โรคนี้ทำให้คนเสียชีวิตน้อย แต่คนเสียสติกันมาก ดังนั้นตนอยากบอกว่า พอเสียที ไม่มีใครทำผิดมาตรการตามที่รัฐประกาศ นอกจากกลไกของรัฐทำผิดเสียเอง และสุดท้ายสังคมก็เกิดความชุลมุนวุ่นวายควบคุมกันไม่ได้

นายจตุพร ยังกล่าวถึง การประกาศเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม ถึงตี 4 พร้อมกับระบุว่า หากยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจะเพิ่มมาตรการเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงนั้น ส่วนตัวมองว่า หากฟังเหตุผลจริงๆแล้ว มาตรการเคอร์ฟิวใช้กับคนบางจำพวกเท่านั้นที่มีปัญหา แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้เกิดปัญหากับคนส่วนใหญ่ และเล็งเห็นว่าในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีแผนผังเรื่องการสอบสวนโรคได้ครบถ้วน ดังนั้นหากมีการเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง จะทำให้ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำจะอดตาย เพราะล่าสุดมีคนตกงานแล้ว 6.5 ล้านคน แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือนนั้น จากเดิมที่ประเมินผู้ได้รับผลกระทบไว้ 3 ล้านคน แต่มีคนลงทะเบียนถึง 21 ล้านคน นั้นตนเชื่อว่ามาตรการนี้จะเป็นปัญหา เนื่องจากวันนี้คนมีความทุกข์ล่วงหน้าไปแล้ว หากเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง คนก็จะอดตาย ดังนั้นหากไม่สามารถแก้ไขปัญหากลไกปากท้องได้ ก็ให้ใช้กลไกของสาธารณสุขในการสอบสวนโรค ซึ่งตนเชื่อว่าไม่เกินศักยภาพ เพียงแต่บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยในการเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง หากไม่สามารถจัดการเรื่องความอดอยากของประชาชนได้

นายจตุพร กล่าวถึง เรื่องพระราชกำหนดเงินกู้กว่า 1.6 ล้านล้านบาท ว่า สถานการณ์ขณะนี้การกู้เงินควรเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะเมื่อวันนี้รัฐบาลตกลงว่าจะตัดงบประมาณจากทุกกระทรวงๆละ 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่า จะมีเงินงบกลางอีก 5 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าจะมีการกู้เงินนั้น ตนเห็นว่าเรื่องไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ แต่เมื่อจบลงแล้วประเทศจะต้องฟื้นฟูกันอีกจำนวนมาก ก็จะต้องมีการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูประเทศ แต่เวลานี้งบลงทุนพักไว้ก่อน งบจัดซื้อจัดจ้างทั้งหลายพักไว้ก่อน เอางบลงทุนทั้งหลายไปสู้ไวรัสโควิด-19

นายจตุพร กล่าวถึง เรื่องไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ตนได้ติดตามเพจของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ เห็นได้ชัดเจนในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงบางจังหวัดของภาคเหนือมีไฟป่าทวีความรุนแรง มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ซึ่งคนเหล่านี้เป็นเสมือนวีรชนในการทำหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งป่า และปีนี้ถือว่ารุนแรงในรอบหลายๆปี ตนในฐานะคนเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครูดอยสอนหนังสือก็ไม่เคยเห็นว่าไฟป่าจะหนักขนาดนี้ ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานหลายเท่า ดังนั้นก็เป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนจิตอาสาทั้งหลายที่ร่วมในการเข้าไปดับไฟป่าและต้อง

ทั้งนี้ จากที่ตนได้ติดตามการทำหน้าที่ของกรมอุทยาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการคิดเรื่องการดับไฟป่านั้นจะต้องยกเครื่องกันอย่างมโหฬาร รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งเป็นคนหนุ่มจะต้องคิดว่าในต่างประเทศที่เจอหนักกว่าเมืองไทยนั้นมีอุปกรณ์ที่มาตรฐานกันอย่างไร วันนี้เมื่อเจอเรื่องใหญ่เราเองยังไม่เท่าทันและ ไม่พร้อมที่จะเจอเรื่องใหญ่ ดังนั้นรัฐต้องจัดให้เพียงพอ ไม่ใช่รอรับแต่บริจาคจากประชาชน จนมีคนตั้งคำถามว่าจะให้ประชาชนบริจาคกันทุกเรื่องเลยหรือ แล้วภาษีที่ประชาชนจ่ายไปหายไปไหน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0